วช. และ สถาบันวิทยสิริเมธี ลงนามความร่วมมือสนับสนุนทุนนิสิตปริญญาเอกภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) และโครงการ Frontier Talents Program (FTP)

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือสนับสนุนทุนนิสิตปริญญาเอกภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) และโครงการ Frontier Talents Program (FTP)

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม 2563 ณ ห้องพลังไทย ชั้น M อาคาร 2 สำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนทุนนิสิตปริญญาเอกภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) และ โครงการ Frontier Talents Program (FTP) ระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กับ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งริเริ่มก่อตั้งโดยกลุ่ม ปตท. และได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากพันธมิตรร่วมอุดมการณ์ด้วยเห็นถึงความสำคัญ ต่อการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนำองค์ความรู้ขั้นสูงต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมชั้นแนวหน้า รวมถึงมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบุคคลากรวิจัยที่มีคุณภาพทัดเทียมระดับนานาชาติ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี

โดยในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ได้รับเกียรติจาก ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี เป็นสักขีพยานผู้ทรงเกียรติ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามฝ่ายสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี เป็นผู้ลงนาม ฝ่ายสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) บุคลากรวิจัยระดับปริญญาเอกคุณภาพสูง ที่มีผลงานวิจัยคุณภาพในระดับสากล เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ด้วยผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ชาติไทยในโลกยุค 4.0 ซึ่งนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุก ๆ ด้าน โดยที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง เปลี่ยนจากประเทศผู้ใช้มาเป็นผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกลุ่ม ปตท. ที่ได้ริเริ่มก่อตั้งสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โดยมุ่งหวังให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับโลก มุ่งเน้นผลิตมหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิตที่มีความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านการสนับสนุน
ด้านงบประมาณ สถานที่ เครื่องมือวิจัย และหลักสูตรการเรียนการสอนที่ทันสมัยครบครัน รวมถึงการคัดสรรคณาจารย์ที่มีศักยภาพสูง เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ เช่นเดียวกันกับโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามฝ่ายสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาบุคคลากรที่สำคัญแก่นิสิต นักศึกษา ที่ต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกเพื่อผลิตผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และวิชาการ ของประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้มีนักวิจัยระดับปริญญาเอกของไทยที่มีคุณภาพสูง นอกจากนี้ โครงการดังกล่าว ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัย และสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 และปัจจุบันได้ดำเนินการเป็นรุ่นที่ 22 แล้ว
สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จึงได้ทำข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
โดย VISTEC จะสนับสนุนทุนนิสิตปริญญาเอกภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) และโครงการ Frontier Talents Program (FTP)

ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล

โดยเริ่มต้นจากผู้ได้รับทุน คปก. รุ่นที่ 22 เป็นต้นไป ซึ่งมีวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่สำคัญคือ

  1. เพื่อสร้างนิสิตปริญญาเอกที่มีความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทัดเทียมในระดับนานาชาติมีศักยภาพในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพสูง
    ที่อยู่ในฐานข้อมูล Nature Index, ISI หรือ SCOPUS ในอันดับสูงสุดร้อยละ 10 (Tier 1)
  2. เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำแนวคิดและความรู้ขั้นสูงไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าตอบโจทย์อุตสาหกรรม สร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นแนวหน้าที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีเป้าหมายพัฒนางานวิจัยในสาขาที่ตอบสนองยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม ได้แก่ สาขา Advanced Functional Materials, Energy, Biotechnologies และ Digital Technologies
  3. เพื่อการใช้ทรัพยากรของทั้งสองหน่วยงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้าง และพัฒนากำลังคนหรือนักวิจัย
    ให้มีคุณภาพสูง และการผลิตงานวิจัยชั้นแนวหน้า
  4. เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและสถาบันการศึกษาทั้งภายในและภายนอกประเทศ
  5. เพื่อส่งเสริมบุคลากรวิจัยให้มีความมุ่งมั่นในการก้าวไปสู่อาชีพนักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้า
  6. เพื่อสนับสนุนทุนเพิ่มเติมให้กับนิสิต โดยเป็นการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจในการศึกษา
    สำหรับสิทธิในผลงานวิจัยเป็นการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างทั้งสองฝ่ายจากการนำทรัพย์สินทางปัญญา
    ที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนทุน คปก. ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างทั้งสองฝ่ายจากการนำทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนทุนโครงการ Frontier Talents Program (FTP) ไปใช้
    ในเชิงพาณิชย์ให้เป็นไปตามสัดส่วนการสนับสนุนทุนหรือตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมกัน

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *