เปิดเว็บไซต์ “Thailand Learning.Org” กับการฝ่าวิกฤตการศึกษาช่วงโควิด 19

โควิด19 คือโรคใหม่ทำให้สังคมโลกต้องหยุดชะงัก การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบการศึกษาเป็นอย่างมากนับตั้งแต่มีการสั่งปิดสถานศึกษาในทุกมุมโลก สำหรับประเทศไทย มีการประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการในการปิดสถานศึกษาภายใต้เหตุผลพิเศษเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมาทั่วประเทศ ส่งผลให้นักเรียนกว่า 13 ล้านคนได้รับผลกระทบโดยตรงกับวิกฤติในครั้งนี้ ผลกระทบจากการปิดสถานศึกษามีทำให้การเรียนการสอนต้องหยุดชะงักทันที ทั้งนี้ นายโทมัส พาร์ค ผู้แทนมูลนิธิเอเชียประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “วิกฤติโควิด19 ที่เกิดขึ้นเหมือนกับคลื่นยักษ์ที่ถาโถมใส่ระบบการศึกษาไทยทำให้หลายภาคส่วนตกอยู่ในสภาวะชะงัก  เราจึงมีความจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเพื่อให้ครู นักเรียน และผู้ปกครองสามารถเชื่อมต่อกับสื่อการเรียนรู้ที่มีอยู่ให้ได้เนื่องจากการเรียนรู้และพัฒนาการของนักเรียนที่ชะงักลงไปเพราะไม่สามารถทำการเรียนการสอนในสถานศึกษาได้อย่างปกติ รวมถึงการที่นักเรียนไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมในวงกว้างได้ทำให้มีผลกระทบต่อสภาวะจิตใจ”

มูลนิธิเอเชีย (The Asia Foundation) ประเทศไทยจึงร่วมมือกับสถานฑูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยสร้างเว็บพอร์ทัลเพื่อการเรียนรู้ให้แก่ครู นักเรียน และผู้ปกครองภายใต้ชื่อ ‘ยิ่งเรียนยิ่งรู้’ หรือ www.thailandlearning.org โดยเว็บไซต์ดังกล่าวถูกจัดทำขึ้นตั้งแต่วันที่17เมษายน 2563 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตที่เกิดขึ้นมีการรวบรวมสื่อการเรียนการสอนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รูปแบบการใช้งานของเว็บไซต์ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้สะดวกโดยแยกออกเป็น 3 ฟังชันก์หลักเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรู้ได้ตามความถนัดและความสนใจ ได้แก่ 1.ฟังชันก์เรียนรู้ จะแบ่งเนื้อหาออกเป็นรายวิชาและรายชั้นปีเพื่อความสะดวก นอกจากนี้ยังมีการแยกรูปแบบของการเรียนรู้ออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ เช่น การเรียนรู้ผ่านการอ่าน ฟัง พูดคุย หรือเกม เป็นต้น  2.ฟังชันก์ทัศนศึกษา เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งเรียนรู้จากทั่วโลกผ่านหน้าจอ หรือ virtual tour ที่สามารถให้ความรู้นักเรียนได้มากกว่าในตำรา 3.ฟังชันก์เครื่องมือรวบรวมโปรแกรมและแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดประชุมหรือการเรียนการสอนออนไลน์ให้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นาย นิพนธ์ ยศดา ผู้อำนวยการโรงเรียนสารคามพิทยาคม กล่าวถึง thailandlearning.org ว่า  “ตัวพอร์ทัลใช้งานได้สะดวกสำหรับผู้เรียนเนื่องจากเนื้อหาที่รวบรวมไว้มีหลากหลาย แถมยังคงไว้ซึ่งเนื้อหาที่สอดคล้องกับหลักสูตรของกระทรวงศึกษา ทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้น และทางโรงเรียนมีความพร้อมที่จะสอนออนไลน์ ตอนนี้ผมให้นโยบายคุณครูไปเรียนรู้และดูวิธีการสอนออนไลน์เพิ่มเติม 

พร้อมกับให้เตรียมผลิตสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ในวิชาตัวเองไว้ เผื่อในกรณีที่ต้องสอนออนไลน์จริงๆซึ่งกว่า 80เปอร์เซ็นต์ของคุณครูมีความพร้อม และทำได้แน่นอนครับ  ส่วนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  ของโรงเรียนสารคามพิทยาคมที่เคยได้ลองใช้เว็บพอร์ทัลของมูลนิเอเชียก็ได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการปรับตัวเพื่อในการเรียนแบบออนไลน์เนื่องจากมีประสบการณ์จากการเรียนออนไลน์มาบ้างแล้วเช่นกันครับ”

นอกจากนี้ ดร. รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาประจำมูลนิธิเอเชียเชื่อว่าภัยโควิด19 มีผลกระทบของการศึกษาอย่างมหาศาลเนื่องจากการมีการสั่งปิดสถานศึกษาทั่วโลก “ประเทศไทยหลังโควิดหน้าตาไม่เหมือนเดิมค่ะ เรื่องเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพัฒนาต่อไปการศึกษาของไทยมีการพูดถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการศึกษาอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติปี 2542หากแต่มันเป็นความพยายามที่เกิดขึ้นแบบเนืองๆ เรามักพูดถึงเทคโนโลยีในบริบทของสารสนเทศหรือคำศัพท์หรูๆ จากต่างประเทศ       แต่ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมามันสามารถพิสูจน์ให้ เด็กนักเรียน ครู ผู้บริหาร นักวิชาการได้ตระหนักแล้วว่าการไม่มีเทคโนโลยีทำให้เราไม่สามารถเชื่อมต่อหากันและกันได้”วิกฤติโควิด 19 เป็นเหมือนสัญญาณว่าการเรียนรู้ต้องเปลี่ยนแปลงไป นักเรียนต้องกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ถึงแม้นักเรียนจะสามารถกลับไปโรงเรียนได้ แต่เทคโนโลยีกับการศึกษายังจำเป็นของคู่กันและพัฒนาต่อไปเพื่อทำให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตเกิดขึ้นได้ โดย ดร. รัตนาได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ถึงแม้น้องๆ ไม่ได้มีมือถือหรือคอมพิวเตอร์ อย่ามองว่ามันเป็นประเด็นในการที่จะหยุดการเรียนรู้ของเราแต่ควรจะเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เรามุ่งมั่นหาทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวเรียนรู้จากสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัว”

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *