อพท.นำศักยภาพวัตถุดิบท้องถิ่นรังสรรค์เมนูอาหารใหม่พร้อมเสิร์ฟนักท่องเที่ยวหลังจบโควิด-19นำร่อง 5 ชุมชน 1 เครือข่าย ใน 2 จังหวัดเพชรบุรี–ประจวบฯดันเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวโดยชุมชนเน้นสร้างจุดขายผ่านกิจกรรมเส้นทางเมนูอาหารเด็ดพื้นถิ่น ดึงนักท่องเที่ยวสาย ช้อปซิม ชิล ท่องแหล่งวัฒนธรรมอาหารนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) หรือ อพท.
เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดหาแนวทางช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว และยังเป็นนโยบายของคณะกรรมการอพท. ล่าสุดอพท.อยู่ระหว่างการเข้าไปดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตกในกิจกรรมการยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นสู่วัฒนธรรมอาหารแบบยั่งยืนโดยมอบหมายให้สำนักงานพื้นที่พิเศษ 8 หรืออพท.8 และสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อดำเนินการ 5 ชุมชน 1 เครือข่าย ใน 2 จังหวัด คือจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งด้านวัตถุดิบและวัฒนธรรมทางด้านอาหารที่เป็นเอกลักษณ์และพร้อมบริการการท่องเที่ยวที่ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามแผนยุทธศาสตร์ อพท. ระยะ 4 ปี (2562-2565) “การพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้แก่ชุมชนเป็นเรื่องสำคัญเพราะถือเป็นการเตรียมความพร้อม เพราะเมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จบลง ชุมชนก็มีความพร้อมที่จะให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเยือน” สำหรับชุมชนเป้าหมายที่ได้เข้าไปดำเนินการยกระดับ 5 ชุมชน และ 1 เครือข่ายประกอบด้วย
ชุมชนบ้านไร่กร่างจังหวัดเพชรบุรีที่มีการส่งเสริมและเข้าไปพัฒนาต่อยอดด้านอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน โดยตามแนวคิดที่ศึกษาและเป้าหมายที่วางไว้คือต้องการให้ชุมชนแห่งนี้อนุรักษ์วิถีตาลผ่านการท่องเที่ยวโดยนำตาลโตนดที่เป็นวัตถุดิบหลักของท้องถิ่น ได้นำไปใช้ประกอบอาหารเป็นเมนูอาหารต่างๆเช่น แกงหัวโหนด ยำหัวโหนด และผลักดันเข้าสู่โครงการ “เชฟชุมพลสร้างเชฟชุมชน” เพื่อสร้างสรรค์เมนูใหม่ เช่นยำหัวโหนด สเต็กหัวโหนดโดยมีการจัดวาง และตกแต่งอาหาร ให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและพร้อมเข้าร่วมโครงการพัฒนาสู่การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (gastronomytourism) ซึ่งสามารถเปิดเป็นเส้นทางกิจกรรมการท่องเที่ยวแหล่งวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารที่ครบวงจร
ชุมชนบ้านถ้ำเสือโฮมสเตย์ จังหวัดเพชรบุรี มีศักยภาพและจุดเด่นในเรื่องของทัศนียภาพและชื่อของชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวรวมถึงเป็นแหล่งวัตถุดิบต่างๆทางธรรมชาติที่ปลอดสารพิษ เช่น หน่อไม้ ปลาน้ำจืดผักกูด และผักตามฤดูกาลที่มีอยู่ในชุมชนตลอดทั้งปี จึงสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นร้านอาหารชุมชนเพื่อบริการนักท่องเที่ยวที่พร้อมเข้าสู่การพัฒนาเมนูอาหารใหม่ในโครงการ”เชฟชุมพล สร้างเชฟชุมชน” รวมทั้งการพัฒนาสู่การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (gastronomytourism) ที่สามารถเปิดให้มีกิจกรรมเป็นแหล่งเรียนรู้การประกอบอาหารให้กับนักท่องเที่ยว ชุมชนบ้านทุ่งประดู่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นชุมชนที่มีเอกลักษณ์ในการนำวัตถุดิบ ที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆมาประกอบอาหารสามารถหาทานได้ที่นี้เพียงแห่งเดียวไม่ว่าจะเป็นเมนูผักต่างๆที่ชุมชนปลูกขึ้นและใช้ปลาที่หาได้ในชุมชน ได้แก่เมนูงบปลายาง น้ำพริกกะปิที่ใช้เคยมาเป็นวัตถุดิบ รวมถึงเมนูขนมหวานอย่างอัญมณีนกคุ้มที่มีการถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าสนใจให้กับนักท่องเที่ยวได้ ชุมชนบ้านม้าร้องจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งปลูกมะพร้าวที่ชุมชนนำมาเป็นวัตถุดิบหลักประกอบอาหารต่างๆตามวิถีชุมชนเช่น เมนูแกงเหมงพร้าว ซึ่งมีเรื่องราวที่และสามารถถ่ายทอดการเมนูอาหาร
โดยนักสื่อความหมายของชุมชนที่ผ่านการอบรมของ อพท.รวมทั้งเมนูดังกล่าวยังสามารถเข้าร่วมโครงการ “เชฟชุมพล สร้างเชฟชุมชน”เพื่อสร้างสรรค์เมนูใหม่ เช่น ยำม้าร้อง แกงเหมงพร้าว ในขณะที่ชุมชนบ้านหินเทินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งปลูกมะพร้าวและกุยช่ายจำนวนมาก มีจุดเด่นเมนูอาหารพื้นถิ่นดั่งเดิม เช่นผัดกากมะพร้าว แกงเหมงพร้าว แกงยอดมะพร้าวซึ่งชุมชนได้มีการพัฒนาภาชนะที่ทำจากผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เช่น โจ๊กกะลากาแฟเสิร์ฟในแก้วมะพร้าว มาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกทั้ง อพท.ยังได้เข้าไปส่งเสริมในพื้นที่เครือข่ายท่องเที่ยวคีรีมณีประดู่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชนเผ่าไทยทรงดำที่มีเรื่องราววิถีของชุมชนและอาหารประจำชนเผ่า ที่มีการถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยเฉพาะเมนูผักจุ๊บ และแจ่วด้าน สามารถเป็นแหล่งกิจกรรมเรียนรู้ด้านการทำอาหารตามวิถีชนเผ่า อย่างไรก็ตามอพท.ยังได้เตรียมพร้อมที่จะขยายการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนทั้งในด้านการพัฒนานักสื่อความหมายกิจกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงยกระดับการให้บริการกับนักท่องเที่ยวโดยการนำจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชุมชนมาเป็นจุดขาย พร้อมกับสร้างเรื่องราวให้เกิดความน่าสนใจ เช่นเรื่องเล่าอาหาร (Story Telling) และการจัดทำปฎิทินฤดูกาลอาหารท้องถิ่นและหมวดหมู่อาหาร (Category) เพื่อเป็นตัวเลือกดึงดูดนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี