รวมพลัง “คัดกรอง ป้องกัน รู้ทัน โรคไต” จัดงานกิจกรรมสัปดาห์วันไตโลกและสัปดาห์ลดการบริโภคเค็ม  ประจำปี 2563

สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเครือข่ายลดบริโภคเค็มสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องประกาศจัดงานกิจกรรมสัปดาห์วันไตโลกและสัปดาห์ลดการบริโภคเค็มประจำปี 2563

นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาของผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทย เป็นปัญหาที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 และเรื่องของฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มีอันตรายต่ออวัยวะในร่างกายและสุขภาพของทุกคน  สาเหตุเนื่องจากคนไทยยังคงมีพฤติกรรมการบริโภคเค็มเกินความพอดีจนเกิดเป็นโรคไต และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ  เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตเรื้อรัง จึงทำให้ภาครัฐบาลจำเป็นต้องมีการรณรงค์เป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง

การจัดงานกิจกรรมสัปดาห์วันไตโลกและสัปดาห์ลดการบริโภคเค็ม ประจำปี 2563 ประจำปีนี้ จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม 2563  ณ ลานอีเดน ชั้น 1 ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ ตั้งแต่เวลา 10.00 -19.00 น. โดยในปีนี้ได้เน้นไปที่หัวข้อการป้องกันโรคไต ในคำขวัญที่ว่า “คัดกรอง ป้องกันรู้ทัน โรคไต”   ส่วนการจัดงานกิจกรรมสัปดาห์วันไตโลก จะจัดทุกวันพฤหัสบดี ในอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 12 มีนาคมนี้  ซึ่งจะมีหน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมมือกัน  ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลและสถานพยาบาล สำนักงานอนามัยต่าง ๆ ช่วยกันจัดกิจกรรมวันไตโลก  เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงการบริโภครสชาติเค็ม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคไตโรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต 

จากสถานการณ์โรคไตในปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก คนไทยมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆสาเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งมีสถิติผู้ป่วยรวมเกือบ 15 ล้านคนผลที่ตามมาคือมีภาวะไตเสื่อมและไตเสื่อมเร็วขึ้น หากปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง จากข้อมูลพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2 แสนคนป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 ราย ส่วนการผ่าตัดเปลี่ยนไตทำได้เพียงปีละ 500 ราย จึงเน้นการชะลอความเสื่อมของไตเพื่อให้เข้าสู่ระยะที่ต้องล้างไตช้าลงนอกจากนี้พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไปทำให้พบโรคไตในเด็กด้วยสาเหตุหนึ่งคือการรับประทานอาหารเค็ม ฟาสต์ฟูด ขนมขบเคี้ยว โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่น เกาหลี ที่กำลังเป็นที่นิยม เนื้อหมักใส่ซอสปรุงรส เกลือ ผงหมัก รวมน้ำจิ้มแล้ว โดยรวมความเค็มมากกว่าอาหารปกติถึง 5-10 เท่า อาหารแช่แข็งมีความเค็มมากกว่าปกติถึงร้อยละ 30 ดังนั้นจึงอยากให้ประชาชนหันมาใส่ใจด้วยการลดบริโภคเค็มลงจะช่วยให้มีสุขภาพดี ประหยัดค่ารักษาพยาบาลให้ภาครัฐได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท และจะสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคไตเรื้อรังได้อีกมาก

ด้าน นพ.รัฐพล  เตรียมวิชานนท์  ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึง การส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตว่า ในแต่ละปี ได้จัดงบประมาณหลายล้านบาท โดยเน้นส่งเสริมป้องกันดูแลแบบครบวงจร นอกเหนือจากงบประมาณการล้างไตผ่านช่องท้อง การฟอกเลือด และการปลูกถ่ายไตซึ่งผลการทำงานในแต่ละปี จะมีจำนวนผู้ป่วยสูงเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เพิ่มขึ้นทุกปี สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยป่วยเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมากขึ้น

 สปสช.จึงได้เน้นส่งเสริมการป้องกันควบคู่กับการดูแลรักษา โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไม่ให้ป่วยเป็นไตวายเรื้อรังระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ได้ให้สิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายครบวงจร รวมถึงสิทธิของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ของสำนักงานประกันสังคมด้วย เพื่อให้เข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ป้องกันการล้มละลายจากการเจ็บป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสูง ครอบคลุมการบำบัดทดแทนไต ได้แก่ การผ่าตัดปลูกถ่ายไต การล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม รวมถึงการให้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง

ทั้งนี้ในปี  2563 ที่ผ่านมา สปสช.ได้จัดสรรงบประมาณการบำบัดทดแทนโรคไตวายเรื้อรังจำนวนกว่า 9,405 ล้านบาท  โดยตั้งเป้าจะมีผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 61,948 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องจำนวน  31,047 ราย การฟอกเลือดจำนวน 28,546  รายและการผ่าตัดเปลี่ยนไตจำนวน  172 ราย  ผู้ป่วยที่ต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน 2,183 ราย   ซึ่งล่าสุดข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2562  มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 59,830 คนแบ่งเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการล้างไตผ่านช่องท้องแล้วจำนวน 30,627 ราย การฟอกเลือดแล้ว 26,633 ราย ผ่าตัดเปลี่ยนไต 205 ราย และได้รับยากดภูมิจำนวน 2,365 ราย   ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยมีค่าใช้จ่ายในการบำบัดทดแทนไตประมาณ 200,000 บาทต่อคนต่อปี

นอกจากการรักษาพยาบาลแล้วสปสช.ได้ส่งเสริมให้มีเครือข่ายผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในโรงพยาบาลปัจจุบันมีสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาเครือข่ายผู้ป่วยให้เข้มแข็ง ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคไตเข้าถึงการรักษา มีความรู้ ความมั่นใจในการดูแลตนเองตามมาตรฐาน สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย และครอบครัว ทำให้เข้าใจสิทธิการรักษา ลดปัญหาความขัดแย้ง และเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการได้อีกทางด้วย รวมถึงการส่งเสริมการป้องกันโรค การตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เพื่อไม่ให้ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญของการเป็นไตวาย หากป้องกันไตวายจะช่วยชะลอไตเสื่อมก่อนเวลาได้ และสนับสนุนให้มีการตั้งคลินิกเฉพาะในโรงพยาบาลอีกด้วย

ด้านผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็มและคณะทำงานการจัดงานวันไตโลก กล่าวว่า การจัดกิจกรรมวันไตโลก ในปี 2563 ภายใต้คำขวัญ “คัดกรอง ป้องกัน รู้ทัน โรคไต”  โดยจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22  มีนาคม 2563   ณ ลานอีเดน  ชั้น 1 ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  ภายในงานจะมีการการตรวจสุขภาพไตฟรี โดยได้เตรียมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตมาพบกับประชาชน โดยที่ประชาชนไม่ต้องไปโรงพยาบาล และมาตรวจได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งการตรวจจะเป็นการตรวจคัดกรองโรคไตเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ การตรวจค่าการทำงานของไตจากการเจาะเลือด (blood urea nitrogen และ creatinine) หรือการตรวจปัสสาวะ (urinalysis) และปริมาณโปรตีนที่รั่วในปัสสาวะ (albuminuria)  ภายในงานพบกับเหล่าศิลปิน ดารานักแสดงจากช่อง3  และ ช่อง 7,  การเสวนาความรู้ ในหัวข้อ “คัดกรองป้องกัน รู้ทันโรคไต”  , การสาธิตการปรุงอาหารช่วง “อาหารคลีนดีมีประโยชน์ และสาธิตการปรุงอาหาร” เมนูอร่อย ลดความเสี่ยงโรคไต  โดย เชฟชื่อดังและการเสวนาให้ความรู้เรื่องโรคไต ในหัวข้อ เสวนาความรู้ ในหัวข้อ “อาหาร และการออกกำลังกายเพื่อป้องกันโรคไต”  โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไตเฉพาะทาง และจำหน่ายเสื้อวันไตโลก ในราคาพิเศษเพียงตัวละ 220 บาท รายได้เพื่อสมทบทุนมูลนิธิโรคไต   

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *