ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ย้ำ งานอัตลักษณ์แห่งสยามครั้งที่ 11 ตอบโจทย์ความสำเร็จด้านการเชิดชูกลุ่มช่างผู้รังสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย พร้อมสร้างความตระหนักให้เกิดการร่วมอนุรักษ์งานหัตถศิลป์ที่หาชมยาก ควรค่าแก่การสืบสาน รักษาให้คนรุ่นหลัง
นางสาวแสงระวี สิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า งานอัตลักษณ์แห่งสยามจัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 11 โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เสน่ห์แห่งภูมิปัญญา” เพื่อส่งเสริมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และงานหัตถกรรมไทยให้เป็นที่รู้จัก ตลอดจนเป็นการเชิดชูเกียรติ “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ประจำปี 2563 พร้อมทั้งเผยแพร่เกียรติประวัติ ผลงาน ให้เป็นที่รู้จัก และเป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่าทางด้านงานศิลปหัตถกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ในปีนี้ SACICT ได้มีการรวบรวมงานหัตถศิลป์ที่หาชมยาก จัดแสดงไว้ภายในงาน ซึ่งมุ่งหวังให้เกิดการอนุรักษ์ และช่วยให้กลุ่มครูผู้สร้างสรรค์ มีขวัญ กำลังใจ เพราะล้วนเป็นบุคลากรผู้มีคุณูปการต่องานศิลปหัตถกรรมไทย อีกทั้งหลายผลงาน ยังหาชมได้ยากยิ่ง และเหลือครูผู้สืบทอดอยู่น้อยราย อาทิ
เครื่องปั้นดินเผา “หม้อดินโบราณ” ผลงานที่หาชมยากจากฝีมือ “ครูนงค์นุช เจริญพร ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2563” จังหวัดอยุธยา ซึ่งเป็นงานที่ทำด้วยมือทุกขั้นตอน และหลงเหลือคนทำหัตถกรรมประเภทนี้น้อยราย เพราะต้องอาศัยทักษะและความชำนาญในการปั้น ซึ่งปัจจุบัน ครูนงค์นุช ยังคงอนุรักษ์กรรมวิธีการผลิตแบบโบราณตามเอกลักษณ์ของหม้อดินคลองสระบัวไว้ทุกกระบวนการ ความโดดเด่นของชิ้นงาน คือ ความเบาบาง แต่มีความทนทานและมีอายุการใช้งานยาวนาน เมื่อนำมาใช้ประกอบอาหารจะทำให้อาหารมีกลิ่นหอมและรสชาติอร่อย
ปักสะดึงกลึงไหม ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องทอ ของ “ครูนิธิมา ธิมากูล ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2563” จากจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นผู้ที่มีทักษะความชำนาญ ในงานที่ใช้การปักด้วยเทคนิคเชิงช่างชั้นสูงตามจารีตประเพณีโบราณ เช่น ปักกรองทอง ปักดิ้นข้อ ปักดิ้นโปร่ง ปักดิ้นมัน ปักดิ้นด้าน ปักซอยด้วยเส้นไหมน้อย ปักไหมสี และการปักหนุน และสั่งสมประสบการณ์ยาวนานมากกว่า30 ปี ส่งผลให้งานทุกชิ้นมีความประณีต งดงาม หาชมได้ยาก
กุบละแอ ผลงานของ “ครูแสวง ศิริ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2563” ผู้ยังคงสานต่องาน “กุบ” (กุบละแอ) ประเภทเครื่องจักสาน จากจังหวัดลำปาง หมวกโบราณของชาวล้านนา ที่นับวันจะสูญหายไปจากวิถีชีวิตของคนไทย จุดเริ่มต้นจากการได้ฝึกฝนสานกุบละแอจนมีความเชี่ยวชาญ ทำให้เป็นที่รู้จัก และสามารถต่อยอดสานกุบได้หลากหลายรูปทรง และยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำ “กุบละแอ” ตามภูมิปัญญาโบราณเพื่อให้งานแขนงนี้ยังคงอยู่ไม่สูญหายตามกาลเวลา
นอกจากนี้ ยังมีงานศิลปหัตถกรรมอีกมากมาย ที่ SACICT นำมาจัดแสดงในงานอัตลักษณ์แห่งสยามครั้งที่ 11 ซึ่งล้วนสร้างความประทับให้กับผู้เข้าชมงาน และยังได้ถ่ายทอดเสน่ห์แห่งภูมิปัญญาสะท้อนคุณค่าแห่งงานศิลปหัตถกรรมไทย ให้เกิดการต่อยอด และเป็นที่รู้จัก ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จ และความภาคภูมิใจ ที่เป็นส่วนหนึ่งเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ และหวงแหนผลงานทรงคุณค่าของไทยให้คงอยู่สืบไป