เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 ม.ค. 2568 ที่โรงแรมแมนดาริน โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วยมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ปี 2568 พร้อมเสวนา “ความรุนแรงในครอบครัวกับอนาคตเด็กไทย…ที่ขาดแคลนการลงทุน”
นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน พม. กล่าวว่า วันเด็กแห่งชาติ ปี 2568 ตรงกับวันเสาร์ที่ 11 ม.ค. 2568 ในปีนี้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำขวัญวันเด็กไว้ว่า “ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง” และในปีนี้ พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชนได้จัดกิจกรรมวันเด็ก ภายใต้แนวคิด “Wonderful kids Wonderful days ให้ทุกวันเป็นวันของเด็ก และยังได้ร่วมกับมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว และ สสส. หนุนเสริมการจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ผ่านบ้านพักเด็กและครอบครัวทุกจังหวัด ซึ่งมีความพิเศษ คือ การเสริมความรู้ประเด็นสิทธิเด็ก ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก 4 ประการ คือ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองและสิทธิที่จะมีส่วนร่วม ประเด็นความรุนแรงในครอบครัว รวมไปถึงประเด็นการปกป้องคุ้มครองเด็กจากอบายมุขทุกรูปแบบ ตลอดจนการทำใดๆ ที่จะทำให้เด็กเสี่ยงที่จะกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ทั้งหลายควรตระหนักรู้
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า สสส. มีเป้าหมายปกป้องเด็กเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเติบโตของเด็กๆ ทั้ง บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งเสพติด และการพนัน วันเด็กแห่งชาติในปีนี้ สสส. จึงร่วมกับมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว สนับสนุนสื่อรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ อาทิ สมุดระบายสี ป้ายรณรงค์ รวมกว่า 20,000 ชิ้น ให้กับบ้านพักเด็กและครอบครัวทุกจังหวัด โดยสื่อมีเนื้อหาสอดแทรกเรื่องสิทธิเด็ก การปกป้องคุ้มครองเด็กจากอบายมุข และความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำกิจกรรมในช่วงวันเด็กและกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป เพื่อร่วมสร้างสังคมที่ห่างไกลปลอดภัยปัจจัยเสี่ยง และเพื่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชน“ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบเยาวชน อายุ 15-24 ปี สูบบุหรี่ 12.7% ลดจากปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 15.4% ส่วนนักสูบหน้าใหม่ที่สูบบุหรี่ไม่เกิน 1 ปี มี 211,474 คน โดย 73.7% เริ่มสูบช่วงอายุ 15-19 ปี ที่น่ากังวลปี 2565 จากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ Global Youth Tobacco Survey : GYTS ในกลุ่มนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 13 – 15 ปี พบว่า พบเด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 17.6% จาก 3.3% ในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ขณะที่ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานข้อมูลปี 2566 พบกลุ่มอายุ 15-25 ปี เล่นพนันออนไลน์ 32.3% หรือ 2.9 ล้านคน ในจำนวนนี้ 1 ใน 4 เสี่ยงเป็นนักพนันหน้าใหม่ประมาณ 739,000 คน“ นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า ส่วนผลสำรวจการดื่มแอลกอฮอล์ในเด็กเยาวชนอายุ 15-24 ปี ช่วงปี 2547-2558 พบอัตราการดื่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 23.5%-29.5% และปี 2564 ลดเหลือ 20.9% หรือราว 1.9 ล้านคน โดยพบข้อมูลผู้ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับทุกกลุ่มอายุ 34.05% และอายุต่ำกว่า 20 ปี 16.75% นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบกับความรุนแรงในครอบครัว และข้อมูลที่น่าสนใจโดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รวบรวมข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เสนอผ่านสื่อในปี 2566 รวม 1,086 ข่าว มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น 316 ข่าว คิดเป็น 29.1% ยาเสพติด 283 ข่าว คิดเป็น 26.1% ทั้งนี้ ชัดเจนว่าอบายมุขทุกชนิด ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดที่สมองจะพัฒนาไปได้ดีจนถึงอายุ 25 ปี ทั่วโลกจึงทำทุกทางเพื่อปกป้องเด็กจากอบายมุข และมีงานวิจัยจำนวนมากชี้ชัดว่า ครอบครัวที่มีคนเสพติดอบายมุข มีความเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงในครอบครัว และสร้างบาดแผลในชีวิตของเด็ก
นายภานุเดช สืบเพ็ง กล่าวว่า ในวัยเด็กพ่อ แม่ แยกทางกัน เท่าที่จำความได้คือ พ่อเป็นนักดื่ม และทำร้ายร่างกายคนในครอบครัว พ่อได้พาตนเองและพี่ น้องอีก 3 คน มาเร่ร่อนในกรุงเทพฯ แต่มีคนแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับ และพาตนกับพี่ น้องแยกส่งไปอยู่ที่มูลนิธิต่างๆจากนั้นตนก็ใช้ชีวิตอยู่ที่มูลนิธิมาตั้งแต่เด็ก ภายใต้กฎระเบียบ และมีโอกาสได้เรียนหนังสือ ในช่วงวัยรุ่นก็มีเกเรบ้าง แต่สุดท้ายก็เรียนหนังสือจนจบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มีงานทำสามารถช่วยเหลือ และดูแลน้องๆ ที่มูลนิธิดังกล่าวได้บางส่วน จนถึงวันที่มูลนิธิปิดตัวลง ทั้งนี้ ตลอดเส้นทางชีวิตผมต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการยืนหยัดใช้ชีวิตด้วยต้นทุนที่ติดลบ ถึงปัจจุบันยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จมากมาย แต่อย่างน้อยได้มีงานทำ พึ่งพาตนเองได้ ไม่เป็นภาระแก่สังคมและประเทศชาติ
“วันนี้มีสิ่งที่ผมอยากฝากไปถึงผู้ใหญ่ว่า เด็กคือผ้าขาว เขาจะโตมาเป็นแบบไหนอยู่ที่ผู้ใหญ่จะเขียนหรือแต้มอะไรลงไป ครอบครัวคือสิ่งสำคัญควรให้ความสำคัญ ปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้เด็ก ถ้าครอบครัวเข้มแข็ง เด็กๆ ก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อสิ่งที่ไม่ดีได้ ขณะเดียวกันก็อยากฝากหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เด็กแต่ละครอบครัวโตมาไม่เหมือนกัน บางคนพร้อม บางคนขาด สิ่งที่เด็กๆ อยากได้มากๆ คือโอกาส ดังนั้นขอให้โอกาสกับเด็กๆ ด้วย” นายภานุเดช กล่าว
นายเอ (นามสมมติ) กล่าวว่า ญาติเล่าให้ฟังว่าหลังตนคลอด 3 วัน ออกจากรพ.พ่อ แม่ทะเลาะกัน ย่าจึงต้องมารับตัวไปอยู่ด้วย และดูแลตนเองมาตลอดแม้ว่า ย่าป่วยโรคไต ต้องฟอกไตทุกสัปดาห์ ทั้งนี้ ตนอาศัยอยู่กับย่าในชุมชนแออัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหายาเสพติด และต้องยอมรับว่า ตนก็มีนิสัยเกเร จนย่าให้พ่อมารับและส่งไปดูแลที่ต่างจังหวัด ก็ได้อยู่กับเพื่อนที่มีการใช้สารเสพติด ถึงตนจะไม่ได้ใช้สารเสพติดด้วย แต่ก็มีพฤติกรรมเกเร หนีเรียนจนขอพักการเรียน สุดท้ายพ่อ พาย้ายกลับมาเรียนที่กรุงเทพ และให้อยู่กับอา ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงโควิด ต้องเรียนออนไลน์ ตนเปิดไว้แต่ไม่ได้เข้าเรียนจริง แล้วเล่นเกมออนไลน์แทน พอโรงเรียนกลับมาเปิดอีกครั้งตนก็มีแผน ออกจากบ้านไปเรียนทุกวันแต่ไม่ได้ไปจริง จนพ่อบอกว่าไม่ต้องไปเรียน ถือว่าเข้าทางของตนอยู่แล้ว แต่ละวันออกจากบ้านกับเพื่อนๆ มีการใช้สารเสพติด ใช้กัญชา ใช้ความรุนแรงจนถูกจับดำเนินคดีและต้องมาอยู่ที่บ้านแรกรับ แต่ยังมีการใช้ความรุนแรงต่อเนื่องจนถูกสั่งขังเดี่ยว ทำให้คิดหนักพอดีมีการประกาศรับสมัครและได้เข้าสู่การดูแลของบ้านกาญจนาภิเษกราวๆ 7 เดือน มีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ที่บ้านจึงแปลกใจ เพราะบ้านกาญจนาฯ ใส่ใจเด็ก ไม่บังคับคุมเข้ม ที่ทำให้ตนเปลี่ยนความคิด หรือคิดได้ คือการิเคราะห์ข่าวแล้วให้เราทบทวนตัวเอง “วันนี้ผมอยากขอโทษเตี่ยที่กระทำล่วงเกิน ที่พูดวันนี้ไม่ได้ออกมาประจานครอบครัวตัวเอง แต่หวังให้เป็นบทเรียนกับสังคม ไม่มีเด็กเยาวชนแบบผมเป็นคนที่ 2 ที่ 3 ส่วนเตี่ยผมไม่ได้โกรธ ตอนนั้นพ่อก็เป็นเพียงเด็กคนหนึ่ง”
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร (หมอโอ๋ เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน) กล่าวว่า เรื่องที่น้องๆ เล่ามานั้นเป็นประโยชน์กับครอบครัว คนเป็นพ่อ แม่ อย่างมาก อย่างนางทิชา ณ นคร ระบุว่า อาชญากรเด็กเกิดขึ้นเองไม่ได้ แต่รากของปัญหามีที่มาเสมอ เด็กโหยหาความรัก และการยอมรับ เมื่อไม่ได้รับจากที่บ้านก็จะวิ่งหาสิ่งนั้นจากคนนอก อาจจะเป็นเพื่อน หรือคนอื่น ที่แล้วแต่ว่าเขาจะนำพาไปทางไหน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การที่เด็กมีหลักให้หยุดยึด เช่น นายเอเล่าว่าไปอยู่บ้านกาญจนาฯ ทำให้เห็นว่า ท่ามกลางความวุ่นวายก็ยังเห็นแสงสว่าง จนเข้าใจพ่อว่าก็เป็นเด็กคนหนึ่ง เกิดจากการบ่มเพาะ การเติบโต ไม่ชี้ด่าว่าทำไมอันธพาล ใช้ความรุนแรง แต่เกิดจากการบ่มเพาะว่ามนุษย์ทุกคนมีแสงสว่างในตัวเอง เมื่อโต และมั่นคงภายในก็จะมองเห็นความเป็นมนุษย์ของคนอื่น พ่อ แม่ก็เป็นมนุษย์ธรรมดา มีผิดพลาด ล้มเหลว ก็จะเข้าใจ และให้อภัย ทั้งนี้ การให้อภัยไม่ใช่ทำให้เขาพ้นผิด แต่เป็นการให้เราละวางความทุกข์ที่แบกไว้
“หมออยากฝากคุณปุ๊ว่า วันนี้คุณปุ๊โตพอที่จะกลับมาโอบกอดเด็กชายคนนั้นที่โหยหาคนที่รักเขา อยากได้ รับรู้ว่าเราเป็นคนที่ถูกรัก เป็นคนสำคัญ เป็นคนมีความหมาย วันนี้เราไม่ได้ต้องรอคอยพ่อแม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ วันนี้สิ่งที่เราทำได้คือเราดูแลเด็กชายปุ๊คนนั้นได้แล้ว เด็กคนนั้นน่ารัก น่าโอบกอด น่าชื่นชมมากๆ เพราะอาศัยพละกำลัง ความกล้าหาญ ความเข้มแข็งในจิตใจจริงๆ จากเด็กเร่ร่อนในวันนั้นอุตสาหะจนเรียนจบนิติศาสตร์ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมจริงๆ” ผศ.พญ.จิราภรณ์ กล่าว