สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 มีมติรับรองกรอบทิศทางนโยบาย “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” New Wealth for Health คือ เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันและอนาคตทั้งเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจฐานรากที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี ภูมิปัญญา และการมีส่วนร่วมอย่างสำคัญของคนทุกวัยในการสร้างสรรค์ความเป็นหุ้นส่วนและสุขภาวะของคนทุกคน ตลอดทั้งสังคมและระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ให้มั่นคงและยั่งยืน นั่นคือการก้าวสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ (NEW ERA ECONOMY) ของประเทศไทย
“มีความสมดุลจึงเกิดความเท่าเทียมทางสุขภาวะ ถ้าเศรษฐกิจสามารถเดินหน้าไปได้ต่อเนื่อง ประชาชนก็ต้องได้รับผลประโยชน์ด้านสุขภาวะที่ดีทุกมิติ”
เปิดมติรับรอง 2 วาระสุขภาพแห่งชาติ สร้างสมดุล 5 มิติ เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง-สร้างหลักประกันสุขภาวะที่ดีให้คนในชาติ
ระเบียบวาระที่ได้รับการรับรอง 2 ประเด็นที่จะถูกขับเคลื่อนต่อหลังจากนี้
1. การพลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ มุ่งสร้างศักยภาพประชาชนให้เกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและจัดการกำลังคน ทั้งวิชาชีพและไม่ใช่วิชาชีพ เข้ามาหนุนเสริมความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ
2. การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน เดินหน้าขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นการท่องเที่ยวคุณภาพสูง มีสุขภาวะทั้งนักท่องเที่ยวและพื้นที่ท่องเที่ยว พร้อมร่วมกันบูรณาการสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากผ่านการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ยั่งยืน
ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเสนอทางนโยบายภายใต้การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Wellness Tourism ต่อยอดให้เกิดเป็นการท่องเที่ยวที่สร้างคุณค่า ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้พบกับประสบการณ์ที่น่าประทับใจจากการท่องเที่ยวในประเทศไทย และสามารถสร้างรายได้กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อีก ซึ่งเศรษฐกิจกับสุขภาพถือเป็นประเด็นสำคัญสำหรับประเทศไทย
นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ความท้าทายด้านเศรษฐกิจกับสุขภาพสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทย ถือเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ การเข้าสู่สังคมสูงอายุ ฯลฯ ภายใต้แนวคิดการมองเรื่องสุขภาพในปัจจุบันที่มีการเชื่อมโยงกับมิติอื่น ๆ อย่างเป็นองค์รวมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One health) แนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (Health in All Policies) หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่นานาประเทศมุ่งขับเคลื่อนให้บรรลุภายในปี 2573
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ ประธานคณะทำงานพัฒนาประเด็นการท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน กล่าวว่า มติดังกล่าวมีกรอบทิศทางนโยบาย คือ ทุกภาคส่วนในสังคมให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน มุ่งเน้นการสร้างสมดุลใน 5 มิติ “เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และสุขภาวะ” พร้อมร่วมกันบูรณาการสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากผ่านการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและประชาชน เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเพื่อประโยชน์ของคนในประเทศและระดับโลก
1. พัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยวแบบมีคุณภาพและยั่งยืน
2. ยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ บริการ ภูมิปัญญา และประสบการณ์ที่ส่งผลต่อสุขภาวะของนักท่องเที่ยว ประชาชนในชุมชน เป็นมิตรไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
3. พัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความตระหนักรู้วัฒนธรรมท่องเที่ยวแนวใหม่ สำหรับผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และนักท่องเที่ยว
4. กำหนดมาตรการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่เชื่อมโยงทั้งในระดับประเทศและระดับชุมชน
5. สนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านอุปสงค์ อุปทาน การประเมินผลกระทบที่เกิดจากการท่องเที่ยวแนวใหม่
“โจทย์วันนี้คือการท่องเที่ยวยุคใหม่โจทย์ทำอย่างไรถึงจะมีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสุขภาวะ ประเทศไทยมีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวเรามีพื้นฐานที่ดีด้านธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และเป็นหัวใจหลักสร้างเม็ดเงินให้ประเทศ เพียงแต่วันนี้เราต้องมาทบทวนดูรอบด้านเพื่อให้สมดุลจนนำไปสู่การเกิดสุขภาวะที่ดี ประเด็นหลัก ๆ ที่มีความเห็นตรงกันในการเสนอมติครั้งนี้คือ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้มีความปลอดภัย ทำให้เห็นความเท่าเทียมกระจายไปทุกพื้นที่ และจะเป็นต้นแบบการพัฒนาโดยใช้ชุมชนเป็นฐานทำให้เกิดการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวแนวใหม่” นพ.ธเรศ กล่าว
พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะทั้ง 4 ด้าน กาย ใจ สังคม ปัญญาเราต้องใช้ระบบสุขภาพปฐมภูมิเป็นฐาน มีทีมสุขภาพที่มีคุณภาพ และจริยธรรม มีการใช้เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์และนวัตกรรมอย่างเหมาะสม เพื่อเชื่อมโยงสุขภาวะและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล ให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน สังคมสูงวัย รวมถึงความท้าทายใหม่โดยการวางแผนและลงทุนอย่างมีกลยุทธ์ ในการสร้างศักยภาพประชาชนให้เกิดความตระหนัก ตื่นรู้ มีความรอบรู้ด้านสุขภาพที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของปัจเจกบุคคล ครอบครัว และชุมชน
ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 17-18 พ.ศ.2567-2568 กล่าวว่า การผลิต พัฒนาศักยภาพ และจัดการกำลังคนทุกวัย ทั้งกำลังคนวิชาชีพและไม่ใช่วิชาชีพ ให้มีเจตคติและพฤติกรรมที่หนุนเสริมความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิให้ปรากฏ ตามแนวคิดของปรัชญาการพัฒนาคนโดยการระเบิดจากข้างใน คือมีศักยภาพที่เพียงพอและเหมาะสมในการเปลี่ยนผ่านบริการสุขภาพยุคดิจิทัล โดยมีระบบการทำงานและการจ้างงานที่เป็นธรรม มั่นคง มีคุณค่า และได้รับการดูแลให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสุขภาวะและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ใคร ๆ ก็อยากมีสุขภาพดีและก็อยากมีฐานะดี นี่คือเรื่องเศรษฐกิจยุคใหม่เพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน คำว่าสุขภาพในความหมายใหม่ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 สุขภาพที่ดีต้องมีครบทุกมิติทั้ง กาย ใจ สังคม ปัญญา เรามองสุขภาพในมิติที่กว้างไม่ใช่แค่เรื่องเจ็บป่วย และต้องเชื่อมโยงไปถึงเรื่องเศรษฐกิจและสังคม โดยการมีส่วนร่วมในการเริ่มต้นทำนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาครัฐและภาควิชาการ เป้าหมายคือนโยบายที่กำหนดร่วมกันถูกผลักดันไปให้ถึงประชาชนเป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุด
ขณะที่ คุณไซมา วาเซด ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก (WHO SEARO) กล่าวในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ว่า สุขภาพ (Health) คือความมั่งคั่ง (Wealth) ที่แท้จริงของทุกประเทศ ซึ่งถือเป็นลักขั้นพื้นฐานในการทำงานของ WHO และเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ทุกคนมารวมตัวกันในวันนี้ เพื่อมารับรองหลักการมีส่วนร่วมของสังคม ที่จะทำให้เสียงสะท้อนของผู้คนไม่ว่าจะเป็นปัญหา ความท้าทายข้อเสนอของกลุ่มคนต่างๆ ไม่ว่างจะอยู่ชายขอบห่างไกลแค่ไหน ก็สามารถส่งออกมาถึงผู้กำหนดนโยบาย เพื่อแปรเปลี่ยนไปสู่การปฏิบัติและขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนได้
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 17 มุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญอย่างยิ่ง และนอกจากการมีส่วนร่วมในการพัฒนามติประเด็นนโยบายใน 2 ประเด็นหลักแล้ว ยังเปิดพื้นที่ในการสร้าง Community เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสื่อสารด้านนโยบายสู่สุขภาวะในธีม ตลาดนัดนโยบาย ทุกภาคส่วนหยิบยกนโยบายที่สำคัญต่าง ๆ ซึ่งถูกร่วมพัฒนาแล้วนำไปสู่การปฏิบัติจนเกิดผลสำเร็จในหลากหลายพื้นที่ หวังให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะต่าง ๆ สร้างสังคมสุขภาวะให้เต็มพื้นที่ต่อไป พร้อมเปิดโอกาสให้เครือข่ายประชาชนเสนอประเด็นนโยบายที่จะพัฒนาเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 18 ต่อไปด้วย เพราะเราเชื่อว่า “สุขภาวะที่ดีคือพื้นฐานแห่งความสุขของมนุษย์”