วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2567 นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ส่งหนังสือเลขที่ ยธ 06007/513 เรื่อง ขอให้สนับสนุนร่างกฎหมาย “ไม่เฆี่ยนตีเด็ก” (แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567) เพื่อให้พื้นที่ครอบครัวเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับลูกหลาน ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2567 พร้อมแนบเอกสารบันทึกย้อนรอยค้นหาการลงโทษโดยการตีและการใช้ความรุนแรง ส่งถึง น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยใจความสรุปได้ว่า เยาวชนที่ก่อคดีและถูกพิพากษาโดยศาลเยาวชนฯ ซึ่งถูกควบคุมตัวในบ้านกาญจนาภิเษกส่วนหนึ่งมีต้นเหตุมาจากความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะกรณีที่เด็ก เยาวชน เป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงจากคนในครอบครัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่อ้างว่าทำไปเพราะความรัก ความปรารถนาดี หรือในนามแห่งวัฒนธรรมไทยที่สืบกันมายาวนาน อย่างการเฆี่ยนตี
ทั้งนี้ ความรุนแรงในครอบครัวทำให้การเชื่อมสายใจ สายใยไม่แข็งแรงและสามารถนำไปสู่การแปรผลที่ไม่เป็นคุณต่อการใช้ชีวิตของเด็ก โดยเฉพาะหากวันใดที่เด็กถูกรังแก ถูกคุกคามหรือพบความเสี่ยงไม่ว่าโดยใคร โดยรูปแบบใด เด็กจะไม่นำกลับไปปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัว ยิ่งในยุคที่ทุกคนเข้าถึงการสื่อสารออนไลน์ซึ่งมีทั้งคนดี และคนไม่ดี ยิ่งเพิ่มโอกาสที่เด็กจะพบกับคนที่มีเจตนาไม่ดีเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นจึงต้องเร่งสร้างครอบครัวให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ส่วนข้อห่วงใยที่ว่า “หากไม่เฆี่ยนตีเด็ก” เด็กจะไม่มีบทเรียน เด็กจะเสียคนนั้น ก็ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องเปิดใจรับความจริงที่ว่าวันนี้โลกมีศาสตร์ใหม่ๆ ที่ยืนยันการเลี้ยงดูเด็กโดยไม่ต้องตี และดีกว่าการตีมากมาย แต่ยังขาดการสนับสนุนครอบครัวให้เข้าถึงศาสตร์ใหม่ๆ เหล่านั้น ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล พรรคการเมือง รวมถึงภาคประชาสังคมที่ต้องช่วยกันอย่างเป็นระบบ เพราะครอบครัวไม่ได้มีความหมายแค่ปัจเจก แต่หมายรวมถึงปริมาณมหาศาลหรือ 20 กว่าล้านครอบครัวในประชากร 67 ล้านคน
“แม้จดหมายฉบับนี้ได้ส่งตรงถึงนายกรัฐมนตรี แต่เจตจำนงที่แท้จริงของจดหมายฉบับนี้ตั้งใจเขียนถึงแม่คนหนึ่งที่ฉายภาพความรัก ความห่วงใย ความทุกข์โศกต่อเด็กน้อยในโศกนาฏกรรมรถบัสทัศนศึกษาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เหนือสิ่งอื่นใดหวังว่า ร่างกฎหมายไม่เฆี่ยนตีเด็ก จะเป็นของขวัญวันเด็กปี 2568 สำหรับเด็กๆ ในวันนี้แต่คือผู้ใหญ่ในอนาคตที่ต้อขอบคุณและจดจำผู้ร่วมสร้าพื้นที่ครอบครัวที่ปลอดภัยให้กับพวกเขา” นางทิชา ระบุใช่วงท้ายของหนังสือ