เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) และภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมเสวนา หัวข้อ “รัฐบาลใหม่เร่งฟื้นเศรษฐกิจ….เพื่อใคร?” โดยมีรศ.ดร.อภิชาติ สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี และรศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุตรดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน คณะกรรมการประกันสังคม ร่วมเสวนา
รศ.ดร.อภิชาติ กล่าวว่า ตามที่ปรากฏภาพนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา,นายเศรษฐา ทวีสิน และล่าสุด คือนายทักษิณ ชินวัตร ที่มีการถ่ายภาพคู่กับกลุ่มธุรกิจนี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างรัฐกับนายทุนใหญ่ เป็นความสัมพันธ์แบบกินรวบ ที่นายทุนเข้าถึงอำนาจรัฐ และใช้แสวงหากำไรเป็นรูปแบบที่มีมานานในประเทศไทย มีตัวเลขพบว่า บริษัทใหญ่ 5% ของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนสุรา เบียร์ ค้าปลีกค้าส่ง พลังงาน ผลิตก๊าซ พลาสติก น้ำตาล ปูนซีเมนต์ มีรายได้ถึง 90% ของรายรับทางเศรษฐกิจ หรือเพิ่มจาก 85% ในปี 2547 จนถึงช่วงก่อนโควิด 2 ปี ส่วน 90% ของบริษัททั่วประเทศได้ส่วนแบ่งแค่ 10% ของมูลค่าตลาดเท่านั้น ทำให้กลุ่มเหล่านั้นมีอำนาจเหนือตลาด ทั้งนี้งานวิจัยพบว่าบริษัทที่มีการกระจุกตัว ผูกขาดเยอะจะส่งผลไม่ดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ แนวโน้มส่งออกและอยู่รอดในต่างประเทศต่ำ จำนวนประเทศปลายทางที่ส่งออกมีน้อย มีแนวโน้มที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่น้อย และมีอัตรการลงทุนต่ำ เป็นต้น การแก้ไขคือทำให้ระบบการเมืองไทยเป็นการเมืองที่เห็นหัวประชาชน เป็นประชาธิปไทยที่แท้จริง และกินได้
“สาเหตุทางการเมือง และสาเหตุทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้เกิดการผูกขาด และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูง สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ทุกวันนี้เราสู้จีนไม่ได้ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีกำลังล้มหายตายจาก แค่บริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของไทย มีคนงานในนี้กว่า 7 แสนคน ปีที่แล้วยอดขายหายไป 20% เพราะถูกรถไฟฟ้าตี นอกจากนี้ข้าวไทยยังแพ้เวียดนาม มองไปทุกภาคการผลิตของไทยสู้ต่างประเทศไม่ได้ ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า ก่อนต้มยำกุ้งเศรษฐกิจโต 7% หลังต้มยำกุ้งโต 5% ก่อนโควิดโต 3% ปัจจุบันโตต่ำกว่า 3% และเป็นสังคมสูงวัย ต้องมีสวัสดิการเพิ่มกองทุนประกันสังคม รัฐบาลไม่เคยส่งสมทบ ดังนั้นนี่เป็นวิกฤตต้มกบ ค่อยๆ ตายไปช้าๆ โดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าพรรคไหนขึ้นมา ปัญหาก็หนักมาก แม้แต่ลากรถถังมา รัฐประหารครั้งที่แล้วทำให้เราค่อยๆ เข้าภาวะต้มกบ นั่นคือต้นทุนสำคัญของการรัฐประหาร” รศ.ดร.อภิชาติ กล่าว
ด้าน นายวิฑูรย์ กล่าวว่า เมืองไทยเป็นระบบการรวมศูนย์ที่ลึกถึงระบบราชการที่ปกครองประเทศ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกลุ่มทุนอย่างแนบแน่น เห็นได้จากมีคนในระบบราชการไปนั่งเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาในบริษัททุนใหญ่ เช่น 5 ใน 15 กรรมการบริษัทยักษ์ใหญ่เกษตรและอาหาร เป็นคนจากระบบราชการ บางคนเพิ่งลาออกเพื่อมาดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรามชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นในช่วงที่ปลาหมอคางดำระบาด เราจึงไม่เห็นการฟ้องร้องเอาผิด ประชาชนต้องไปขอความช่วยเหลือสภาทนายความในการฟ้องร้องเอาเอง แต่ก็หลายคนก็ยังกลัวเรื่องกระบวนการยุติธรรม เพราะมีอดีตข้าราชการนั่งอยู่ในบอร์ดบริษัทยักษ์ใหญ่ นอกจากนี้ยังมี 6 ใน 16 คน นั่งเป็นที่ปรึกษาบริษัทที่เกี่ยวกับธุรกิจยักษ์ใหญ่แอลกกอฮอล์ นี่คือปัญหาใหญ่ แม้ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาล สิ่งที่เจอคือ ระบบการผูกขาด ตัดช่องทางทำมาหากินของประชาชน และผู้ประกอบการรายย่อยเข้าสู่ตลาดได้ยาก มิหนำซ้ำยังเจอปัญหาใหม่คือการเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากประเทศจีน
สิ่งที่เราเห็นรัฐบาลตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์, รัฐบาลนายเศรษฐา และไฮไลท์ที่นายทักษิณพูด มีเรื่องใหญ่ที่ต้องเจอ คือ กฎหมายการแข่งขันทางการค้า นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการกระตุ้นการดื่ม เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็ก นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เอื้อประโยชน์ทุนค้าปลีก ปกป้องกลุ่มทุนปลาหมอคางดำ หมูเถื่อน และฝุ่น PM2.5 ที่ภาคเหนือ ราชการแทบจะไม่ทำงานเลย รวมถึงการเปิดเสรีการค้าที่กำลังจะเกิดขึ้น และนโยบายจีน ยกตัวอย่างเช่นหากเปิดเสรีภายใต้เอฟทีเอภาษีสุรานำเข้า 0% รวมทั้งการขยายเวลาดื่ม มีแต่ผู้ประกอบการแอลกอฮอล์รายใหญ่ ผับบาร์และร้านสะดวกซื้อที่ได้ประโยชน์ เช่นพบว่าหลายสาขามียอดขายสูงถึงกว่าหมื่นบาทต่อสาขาต่อวัน ส่วนคนไทยก็มีโอกาสดื่มเยอะขึ้น เสี่ยงผลกระทบที่จะตามมามากขึ้น นอกจากนี้ยังยอมให้ร้านสะดวกซื้อมีการควบรวมมีส่วนแบ่งกว่า 85% ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกยอม ขนาดมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 30% แต่ถ้าในบางพื้นที่ทำให้การแข่งขันน้อยลงเขายังไม่ยอมด้วยซ้ำ รายย่อยไทยไม่มีโอกาสทางธุรกิจ ส่วนคนไทยก็ต้องจ่ายค่าอาหารแพงขึ้น ล่าสุดพบว่าค่าอาหารในเมืองหลวงงของเราแพงที่สุดในอาเซียนแล้ว
โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ผลของการผูกขาดและระบบกระจายสินค้าอาหารของกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่ม การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล หากไม่กำหนดให้อยู่กับคนตัวเล็กตัวน้อย สุดท้ายจะไหลไปอยู่ที่กลุ่มทุนที่ใหญ่ที่สุด ส่วนนโยบายปุ๋ยคนละครึ่ง ที่เปลี่ยนรัฐมนตรีจากพี่ชายไปเป็นน้องชายนั้น เป็นนโยบายที่ถูกวิจารณ์รอบด้าน ทั้งจากนักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อม และเกษตรกร เพราะบังคับให้คนต้องซื้อปุ๋ยจากบริษัทที่เขากำหนดให้ รวมถึงการที่รัฐบาลกำลังจะเริ่มเจรา FTA รอบใหม่ ซึ่งสภาชุดที่แล้วศึกษาพบว่าจะทำให้ ราคาเมล็ดพันธุ์แพงขึ้นเฉลี่ย 4 เท่า คนได้รับผลกระทบคือเกษตรกรรายเล็ก ทั้งนี้การผูกขาดนอกจากทำให้ระบบเศรษฐกิจเลวร้ายลงแล้ว ยังทำลายฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและอาชีพคนเล็กคนน้อยอย่างร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นปลาหมอคางดำ ฝุ่นพิษ หมูเถื่อน อย่างปลาหมอคางดำที่ระบาดไป 19 จังหวัด และจากการศึกษาพบว่าแค่จังหวัด สมุทรสงคราม ก็ทำชาวบ้านเสียรายได้ 2.4 พันล้าน ยังไม่รวมทรัพยากรชีวภาพอื่นๆ ที่เสียไป ฯลฯ ทางแก้ไขคือการออกกฎหมายควบคุมเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งเรียกร้องมา 20 ปี แล้ว และสิ่งสำคัญคือต้องทำให้การเมืองที่คนซึ่งเสนอนโยบายทลายทุนผูกขาดสามารถมาเป็นรัฐบาลเข้ามาเป็นรัฐบาลได้
ขณะที่ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า เมื่อข้างบนสามัคคี แชร์ทรัพยากร แชร์คอนเน็คชั่น แชร์อำนาจกัน ก็กดขี่ประชาชน ซึ่งเป็นมาหลายศตวรรษแล้ว ทำให้เกิดการสร้างสี่เสาค้ำยันความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย คือ 1. ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ คนไทยวัยทำงานเกิน 50% อยู่ได้ด้วย ค่าจ้างน้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน มีการจ้างพนักงานเหมาค่าแรง จ้าง outsource ในองค์กรต่างๆ เกินครึ่ง ทั้งๆที่ขัดต่อกฎหมายแรงงาน 2. ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกละเมิด เพราะเงินในกระเป๋าไม่เท่ากันอำนาจไม่เท่ากัน การเข้าถึงสิ่งที่การันตีศักดิ์ศรี อย่างสวัสดิการก็ไม่เท่ากัน 3. เสรีภาพในการแสดงออกทั้งทางด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ หากกระทบกับทุนใหญ่จะถูกปิดกั้น ปิดปาก ถูกจำกัด หรือกำจัดสิทธิ์ในการรวมตัวของแรงงาน เสรีภาพที่มีก็คือเสรีภาพในการทำงานรับเงินและซื้อของของคนกลุ่มนี้ แต่เสรีภาพที่จะคิดถึงเรื่องอื่นเป็นเรื่องยากหรือเป็นเรื่องเพ้อฝัน หรือถูกมองเป็นเรื่องอุดมคติ และ 4. การเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความเป็นประชาธิปไตย เนื่องจากไม่ได้มีการวัดจากความรู้ความสามารถ ความยุติธรรมซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อเกิดการผูกขาดที่มากมายขนาดนี้สวัสดิการก็เป็นเพียง เศษเนื้อที่โยนมา ประเทศไทย
มีคำกล่าวว่า ให้คนรวยมีเงินจะได้มาจ้างแรงงาน คนมีงานทำ แต่จากนโยบายลดหย่อนภาษีบีโอไอ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้รับการลดหย่อนกว่า 200,000 ล้านบาท แต่มีงานวิจัยพบว่า มีรายได้กลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณแค่แสนล้านบาท ดังนั้นคาถาที่บอกว่าทำให้เจ้าสัวเข้มแข็งแล้วจะช่วยคนจนนั้นไม่จริง ดังนั้นวิธีการคือ เงินบาทแรกจนถึงบาทสุดท้ายควรถูกกระจายสู่วงสวัสดิการของประชาชน คนไม่ต้องกังวลในการใช้ชีวิต จะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่นได้ เช่น ที่เราพยายามผลักดันคือสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กถ้วยหน้า 3 พันบาท ซึ่งใช้งบราว 7 พันล้านบาท หรือกรณีกองทุนประกันสังคมที่ควรปรับแนวคิดการลงทุนจากการลงทุนหุ้นตามใบสั่งมาเป็น การลงทุนให้ประโยชน์เพิ่มจาก 3% เป็น 5% กองทุนจะมีอายุเพิ่ม 9 ปี ก็ขยับสิทธิประโยชน์ได้ นี่คือสิ่งที่มาจากบอร์ดประกันสังคมที่มาจากการเลือกตั้งทำได้ และคิดว่ารัฐบาลก็ทำได้ แต่ปัญหาที่ผ่านมารัฐบาลไปเห็นเรื่องอื่นสำคัญกว่า ทำให้เงินเด็กถ้วนหน้าไม่เกิดขึ้น เบี้ยผู้สูงอายุไม่มีการเพิ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์
“ผมไม่คิดว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความสามารถ แต่เกี่ยวกับแรงจูงในทางการเมือง จึงฝากว่า ถ้าพวกเราทำให้เด็กมีเงินเพิ่ม 3 พันบาทได้ รัฐบาลที่มีอำนาจเต็มก็น่าจะทำได้มากกว่านี้ แทนที่จะเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ก็สามารถเอาเงินมากระจายคนตัวเล็ก เปลี่ยนสมการทางเศรษฐกิจใหม่อย่างที่ควรจะเป็น” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว