6 มีนาคม 2567 กรุงโดฮาร์ ประเทศกาตาร์ สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (The International Association of Horticultural Producers – AIPH) ประกาศให้สิทธิ์ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก (International Horticultural Expo) หรือ “โคราช เอ็กซ์โป 2029” การได้รับสิทธิ์จัดงานระดับโลกครั้งนี้ จะช่วยยกระดับจังหวัดนครราชสีมาให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนในอุตสาหกรรมพืชสวน ภายใต้แนวคิด “ธรรมชาติและพรรณพืชเขียวขจี อนาคตแห่งโลกสีเขียว” (Nature & Greenery: Envisioning the Green Future) “โคราช เอ็กซ์โป 2029” หรือ งานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ. 2572 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน 2572 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2573 ถือเป็นงานมหกรรมระดับโลก ประเภท A1 คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมงานจำนวน 2.6 – 4 ล้านคน

การจัดงานครั้งนี้จะนำเสนอแนวคิด “ธรรมชาติและพรรณพืชเขียวขจี อนาคตแห่งโลกสีเขียว” (Nature and Greenery: Envisioning the Green Future) สะท้อนความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพืชสวนและการเกษตรที่ยั่งยืนของประเทศไทย ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2549 โดยนับเป็นการจัดงานมหกรรมระดับโลกครั้งแรกในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย และยังได้รับรางวัลเหรียญทองจากความสำเร็จในการจัดงานในครั้งนั้นอีกด้วย

การประกาศผลการคัดเลือกให้จังหวัดนครราชสีมาได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ.2572 มีขึ้นระหว่างการประชุมประจำปี 2567 ของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) ที่กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ในวันที่ 6 มีนาคม โดยผู้แทนจากทีมประเทศไทยที่เข้าร่วมประชุมและนำเสนอความพร้อมของประเทศไทยในรอบสุดท้ายประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ โดยไทยจะต้องเตรียมเสนอตัวต่อองค์การนิทรรศการนานาชาติ หรือ BIE (Bureau International des Expositions) ในลำดับต่อไปเพื่อรับการรับรองสู่การเป็นงานเอ็กซ์โประดับโลกอย่างสมบูรณ์แบบ

นายศิระ สว่างศิลป์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ในฐานะหัวหน้าทีมประเทศไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะผลักดันความสำเร็จของงานมหกรรมพืชสวนโลกที่กำลังจะจัดขึ้นในปี 2572 ณ จังหวัดนครราชสีมา หรือ โคราช ซึ่งเป็นประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยศักยภาพอันโดดเด่นทั้งด้านประวัติศาสตร์ ความชำนาญในด้านเกษตรกรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร หนึ่งในหน่วยงานเจ้าภาพจัดงาน เน้นย้ำถึงความสำคัญเชิงกลยุทธ์ด้านการพัฒนาภาคเกษตรกรรมและพืชสวนของประเทศไทย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในยุทธศาสตร์ชาติ โดยงานโคราช เอ็กซ์โป 2029 จะเป็นเวทีระดับนานาชาติ นำเสนอแนวทางการทำพืชสวนที่ผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม มุ่งสู่การสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น

นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในฐานะเมืองเจ้าภาพ จังหวัดนครราชสีมาขอขอบคุณรัฐบาล นายกรัฐมนตรี กรมวิชาการเกษตร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ( องค์การมหาชน) เป็นอย่างยิ่งรวมถึงประชาชนชาวไทยทั้งประเทศที่สนับสนุนและเป็นกำลังใจ ชาวโคราชพร้อมเปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วโลก เพื่อสัมผัสความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ผสานกับวิสัยทัศน์ในการสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน การจัดงานโคราช เอ็กซ์โป 2029 ครั้งนี้ จะเป็นการพลิกโฉมเมืองโคราช โดยยกฐานะสู่เมืองต้นแบบด้านนวัตกรรมสีเขียว
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการประมูลสิทธิ์การจัดงาน ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งหวังด้านการสร้างมรดกที่ยั่งยืนและประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยกล่าวว่า โคราช เอ็กซ์โป 2029 ถือเป็นงานสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตอบสนองต่อพันธกิจหลักของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) ในการส่งเสริมความสำเร็จของอุตสาหกรรมพืชสวนผ่านการปลูกพืชเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ร่วมพัฒนาสังคม และสร้างความยั่งยืนให้กับโลกสำหรับคนรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไป โดยในขั้นตอนต่อไป ประเทศไทยจะต้องนำเสนอข้อมูลแก่องค์การนิทรรศการนานาชาติ หรือ BIE (Bureau International des Expositions) เพื่อขอการรับรองให้ Korat Expo 2029 เป็นงานนิทรรศการระดับโลก

นายสุดที่รัก พันธุ์สายเชื้อ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา งาน Korat Expo 2029 (พืชสวนโลก 2572)ตามที่ทางจังหวัดนครราชสีมาได้เป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลก ทางหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ได้มีส่วนร่วมส่งเสริม ผลักดัน และร่วมนำเสนอโครงงานให้กับ AIPH มานานกว่า 5 ปี การจัด Korat Expo 2572 จะสร้างระบบเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยเริ่มต้นเงินลงทุนจากรัฐบาลกลาง 4,800 ล้านบาทและยังมีการลงทุนจาก นานาประเทศในการจัดทำบูธต่างๆ มากกว่า 35 ประเทศจากทั่วโลก ซึ่งการจัดบูธแต่ละครั้งใช้ระยะเวลา ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
มีการขนส่งจากต่างประเทศที่จะเข้ามา ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จะทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจทางด้านระบบขนส่งทั้งทางอากาศ ทางเรือและการขนส่งทางบก ซึ่งจะทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และ เชื่อมโยงเศรษฐกิจของพื้นที่ในจังหวัดใกล้เคียงโดยรอบ อาทิเช่น ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ อุดรธานี และปราจีนบุรี การเชื่อมโยงในครั้งนี้ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา มีความตั้งใจที่จะเชื่อมโยงในระดับประเทศด้วย โดยจะมีการผลักดันเรื่องต่างๆ ผ่านหอการค้าไทย โดยท่านประธานสนั่น อังอุบลกุล จะเป็นผู้ร่วม ขับเคลื่อนและเป็น กำลังสำคัญ

Korat Expo 2029 เป็นงานพืชสวนระดับโลก ซึ่งจะมีหลายประเทศเข้ามา ทั้งร่วมแสดงพืชพรรณ นวัตกรรม วัฒนธรรม และ เยี่ยมชมงานจำนวนมาก เป็นโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรทางการเงิน การลงทุนด้านเทคโนโลยี การพัฒนาด้านการศึกษาวิจัย การขนส่ง และยิ่งไปกว่านั้น จะเกิดการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากรท้องถิ่นของภาคอีสาน ถือเป็นโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่จะเข้าร่วมงาน Korat Expo 2029
การยกระดับเทคโนโลยีในภาคการเกษตรก็เป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยการนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในการเกษตร งานนี้ถือเป็นโอกาสทองของการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง โดยการเข้าร่วมชมงานของนักท่องเที่ยวจากหลากหลายชาติ จะหลั่งไหลเข้าสู่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและเสริมสร้างภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมได้อีกด้วย โดยภาพรวมๆ จังหวัดนครราชสีมาจะได้ประโยชน์อย่างมาก ทั้งด้านเศรษฐกิจการเงิน และ การพัฒนาการเกษตรพร้อมกับ การพัฒนาความสามารถของบุคลากรในระยะยาวครับ

นางธิดารัตน์ รอดอนันต์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ร่วมผลักดันการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพพืชสวนโลก กับองค์กรเอกชนและทางจังหวัดมาโดยตลอด มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจในจังหวัดโคราช และจังหวัดข้างเคียง
การจัดงานพืชสวนโลกครั้งนี้จะทำให้คนทั่วโลกรู้จักโคราชมากยิ่งขึ้น ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพใหม่ของชาวโคราช ในด้านการท่องเที่ยว การจัดการโลจิสติกส์ การค้า และการพัฒนาการเกษตร ไปพร้อมกัน
เราพร้อมสนับสนุนงาน“โคราช เอ็กซ์โป 2029” หรืองานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา ที่จะมีขึ้นในปีพ.ศ. 2572 อย่างเต็มที่

ดร.วัชรี ปรัชญานุสรณ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นผู้มาร่วมงานในวันนี้ด้วย กล่าวว่า ตนเองรู้สึกขอบคุณรัฐบาล กรมวิชาการเกษตร และ สสปน. รวมถึงภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนตั้งแต่วันแรกที่ริเริ่มโครงการนี้ ในสมัยของท่านวิเชียร จันทรโณทัยอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา,ท่านกอบชัย บุญอรณะ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาและนายนิติพัฒน์ ขอดทอง นายอำเภอคง นายพิสุทธิ์ พร้อมจะบก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเทพาลัย นับแต่นี้ต่อไปถือว่าเป็นงานหนักของพวกเราชาวโคราชและชาวไทยทุกคนที่จะช่วยกันเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้ด้วยการทำงานกับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนด้านการท่องเที่ยวทั้งในจังหวัดและภูมิภาครวมถึงระดับประเทศด้วย ในมิติด้านการท่องเที่ยวย่อมถือเป็นข่าวดีที่จะเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นนักท่องเที่ยวต่างชาติให้รู้จักภาคอีสานมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะมีการคาดการณ์ว่างานนี้จะมีนักท่องเที่ยวมากถึง 4ล้านคนในช่วงเวลาของการจัดงานดังกล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดร.ณัฏฐินี ทองดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ และหัวหน้าศูนย์ส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในนามตัวแทนมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาที่ได้เดินทางมาร่วมการนำเสนอในครั้งนี้ และในฐานะที่ได้ทำหน้าที่ทางวิชาการสนับสนุนข้อมูลและดำเนินการประสานงานร่วมกับจังหวัดนครราชสีมามาตั้งแต่เริ่มโครงการ มาถึงวันนี้รู้สึกดีใจและภูมิใจกับจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งงาน Korat Expo 2029 นี้ นอกจากจะเป็นโอกาสของการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาสู่เมืองสีเขียวที่ยั่งยืน Green and Sustainability city เมืองที่เป็นแหล่งอาหารของโลก รวมถึงโอกาสในการผลักดันเมืองไมซ์โคราชสู่เมืองไมซ์ระดับนานาชาติต่อไป และยังเป็นโอกาสทางการศึกษาด้าน MICE ให้กับเยาวชน นักศึกษาและผู้สนใจในพื้นที่ จากนี้ไป มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมามีแผนการดำเนินงานร่วมในการขับเคลื่อนต่อร่วมกับสถาบันการศึกษาทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศเพื่อจัดตั้งหลักสูตรพิเศษ Expo Academy เพื่อพัฒนาบุคลากรมืออาชีพให้กับการเป็นเจ้าภาพการจัดงาน Korat Expo และงานอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไป
นอกจากนี้ ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนสำหรับบทบาทในการคว้าสิทธิ์จัดงานครั้งนี้ อาทิ สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนตำบลเทพาลัย และภาคีเอกชนในจังหวัด