ชำแหละ 3 ร่างกม.คุมน้ำเมา หวั่นเอื้อประโยชน์รายใหญ่ หลังชงล้มข้อห้ามโฆษณา – เวลาขาย- พื้นที่ควบคุม แขวนคนทั้งสังคมบนความเสี่ยง

ชำแหละ 3 ร่างกม.คุมน้ำเมา หวั่นเอื้อประโยชน์รายใหญ่ หลังชงล้มข้อห้ามโฆษณา – เวลาขาย- พื้นที่ควบคุม แขวนคนทั้งสังคมบนความเสี่ยง ภาคประชาสังคมยัน แอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าปกติ ต้องมีการควบคุมที่เหมาะสมกับสถานการณ์

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 67 นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา รัฐสภาได้มีการอภิปรายร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ…. 3 ฉบับ ซึ่งมีสส.ร่วมอภิปราย 20 คน โดยเห็นด้วยในหลักการและอยากให้หาจุดสมดุลระหว่างการปกป้องเด็ก เยาวชน ประชาชน และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับ และสิทธิของผู้ดื่ม ผู้ขาย ซึ่งรัฐบาลได้ขอนำร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับกลับไปศึกษาไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนส่งกลับมาสู่สภาฯ อีกครั้ง นอกจากนี้ ยังทราบว่ากระทรวงสาธารณสุข ก็กำลังจะทำร่างกฎหมายอีกฉบับเสนอเข้าสู่สภาเช่นเดียวกัน เท่ากับว่า เราจะมีกฎหมาย 4 ฉบับ

นายธีรภัทร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตนได้รับฟังและจำแนกสาระสำคัญหลักๆ ทั้ง 3 ฉบับ ฉบับแรกที่ประชาชน 92,978 คน เข้าชื่อเสนอแก้ไข โดยปรับปรุงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และแนวทางการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการจำกัดการโฆษณาส่งเสริมการตลาดที่จะกระตุ้นให้เกิดการดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น การโฆษณา ต้องขออนุญาตก่อน เขียนชัดเจนเรื่องการทำ CSR การให้ทุนอุปถัมภ์ เพื่อหยุดยั้งการโฆษณาแฝง และห้ามใช้ตราเสมือนมาโฆษณาแฝง ประเด็นการโปรโมชั่นหรือส่งเสริมการขาย ตามมาตรา 30 รวมถึงยืนยันเรื่องการกำหนดช่วงเวลา ขาย 11.00 – 14.00 น. และ 17.00 – 24.00 น. และ ประเด็นวันห้ามขายใน 5 วันพระใหญ่ขอให้ยังเพิ่มมาตรการทางกฎหมายใหม่ๆ ได้แก่ มีการจัดประชุมสมัชชาเครือข่ายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเพิ่มสิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการดื่มแล้วขับเกิดอุบัติเหตุได้รับผลกระทบโดยใช้วิธีการพิจารณาคดีผู้บริโภค เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคนเมาสามารถสู้คดีและได้รับความเป็นธรรมอย่างแท้จริง

ฉบับที่ 2 เสนอโดย ฝ่ายผู้ประกอบการธุรกิจแอลกอฮอล์รายย่อย ที่มีประชาชนลงชื่อ 10,942 คน ที่ต้องการให้ภาคธุรกิจเข้าไปมีส่วนตัดสินใจ ในคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคณะกรรมการนโยบายฯ ต้องการให้สามารถโฆษณาสื่อสารการตลาดได้อย่างเสรีตราบใดที่เนื้อหาไม่เป็นเท็จ ต้องการให้ใช้เครื่องกดเบียร์อัตโนมัติได้ ลดราคาได้ แจกชิมได้ ยกเลิกช่วงเวลาขาย และไม่ห้ามขายในวันพระใหญ่ ขายได้ในร้านค้าหรือสโมสรในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา และให้จัดเลี้ยงตามประเพณี เลี้ยงรุ่น เลี้ยงส่ง อีกทั้งยังเสนอให้สามารถขายออนไลน์ได้โดยอ้างว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุ และร่างฉบับที่ 3 เสนอโดยพรรคก้าวไกล นำโดยนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.พรรคก้าวไกล ที่ระบุว่ากฎหมายเดิมมีการควบคุมมากเกินไปจนสร้างผลกระทบกับผู้ประกอบการ เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจ เสี่ยงเกิดการทุจริต จึงต้องการยกเลิกกรรมการและสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้โฆษณาได้แต่ต้องไม่โฆษณากับบุคคลอายุต่ำกว่า 20ปี ยกเลิกข้อห้ามการลดแลกแจกแถม การเพิ่มพื้นที่ให้ขายและดื่มได้มากขึ้น

“จากข้อถกเถียงทั้งหมดนี้ สังคมไทยคงต้องชั่งน้ำหนักว่า จะเปิดเสรีและลดทอนการควบคุมตามข้อเสนอของผู้ประกอบการธุรกิจ และ สส.พรรคก้าวไกล หรือ จะควบคุมให้เข้มแข็ง ปิดจุดอ่อน เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนของฝ่ายเครือข่ายรณรงค์ฯ โดยเสียงประชาชนภายนอกสภาฯ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะกำหนดอนาคตด้านการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสังคม จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบกติกาในการอยู่ร่วมกัน” นายธีระภัทร์ กล่าว

ด้านนายธีระ วัชรปราณี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า กฎหมายปี 2551 ในภาพรวมได้ช่วยให้สังคมไทยลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ และควบคุมการตลาดของธุรกิจตามเจตนารมณ์ แต่ปัจจุบันการสื่อสารเปลี่ยนแปลงไปสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นเด็ก เยาวชนและผู้หญิง ขณะเดียวกันก็มีผู้ผลิต ผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอกอฮอล์ตำนวนมากขึ้น อย่างข้อเสนอกฎหมายเพื่อให้ผลิตได้ง่ายขึ้นของพรรคก้าวไกล เครือข่ายฯก็ไม่คัดค้าน เพราะอย่างน้อยเป็นการส่งเสริมการผลิตจากพื้นที่ต่างๆ แต่เมื่อจะมีการขายการทำตลาดก็จะต้องผ่านการควบคุมของกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกออฮอล์ที่ผ่านการปรับแก้ให้ทันกับสถานการณ์ทราเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญต้องไม่เอื้อประโยชน์ธุรกิจรายใหญ่ ให้ทำการตลาดและมีอิทธิพลทางการตลาดมากขึ้น ทั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ จะมีการสัมมนาทางวิชาการในโอกาสวันครบรอบ 16 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเดือนกุมภาพันธ์เพื่อชี้ให้เห็นข้อดีของกฎหมายและแนวทางการแก้ไขที่ประชาชนควรร่วมตัดสินใจ

“มีหลายท่านแย้งว่า การโฆษณาแค่เห็นรูปภาพโลโก้ไม่ทำให้คนอยากดื่มแน่นอน แต่คำถามคือ ถ้าไม่มีผลให้คนอยากดื่มแล้วเขาจะเสียเงินเยอะๆ โฆษณาไปทำไม ถ้าไม่ทำให้เพิ่มยอดขาย ธุรกิจเขามีวิธีการหลายอย่างประกอบกันเพื่อให้คนอยากดื่ม ไม่ใช่แค่เห็นภาพขวดแล้วสรุปว่าการโฆษณาไม่มีผลต่อการซื้อดื่ม ดังนั้นหากแก้ไขกฎหมายทำให้การโฆษณาทำได้เสรี เราคงได้เห็นโฆษณาเอาดาราดังมานั่งดื่มให้เห็นในติ๊กต๊อก อินสตาแกรม แต่ที่น่าแปลกใจคือกฎหมายปี 2551 ก็อนุญาตให้โฆษณาอยู่แล้ว แต่ทำไมผู้ผลิตรายใหญ่และรายย่อยไม่ยอมทำตาม อย่างรายใหญ่ซึ่งได้เปรียบก็เลี่ยงไปทำโฆษณาแฝงแทน นี่ก็เป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย หรือเพราะไม่อยากให้ประชาชนทราบผลกระทบผ่านข้อความคำเตือน แม้กระทั่งรายย่อยที่ต้องการบรรยายสรรพคุณสินค้าตนเอง สุดท้ายก็เพื่อเชิญชวนให้ซื้อดื่ม ไม่ใช่แค่อยากแนะนำสินค้าอย่างที่กล่าวอ้างใช่หรือไม่ จึงเป็นเหตุผลที่การโฆษณา การเป็นสปอนเซอร์ และส่งเสริมการขายเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้” นายธีระ กล่าว

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *