เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2566 พระจินดารัตนภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดลำปาง เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อร่วมรณรงค์ขับเคลื่อนกิจกรรม “งดเหล้าเข้าพรรษา งานบุญประเพณีปลอดเหล้า งานลด ละ เลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับชุมชน และหมู่บ้านรักษาศีล 5” ตามโครงการสานพลังเครือข่ายงดเหล้าจังหวัดลำปาง ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ร่วมโดยคณะสงฆ์จังหวัดลำปาง วิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง เครือข่ายประชาคมงดเหล้าจังหวัดลำปาง ผู้นำชุมชน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ณ วัดบรรพตสถิต ตำบลพระบาท อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
พระจินดารัตนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดลำปาง กล่าวว่า กิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา สำคัญสำหรับทุกภาคส่วน ทั้งพระสงฆ์ และรัฐบาล โดยเฉพาะคณะสงฆ์ไทยมีโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 โครงการบ้าน วัดประชารัฐสร้างสุข ที่อยากเห็นประชาชนทั้งหลายได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โครงการงดเหล้าเข้าพรรษาเป็นงานที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตที่ร่มเย็นเป็นสุข สุราเป็นสิ่งที่มอมเมาและบั่นทอนคุณภาพชีวิต การงดเหล้าเข้าพรรษาถึงแม้จะเป็นช่วงระยะเวลาแค่ 3 เดือน ถ้าทุกคนทำได้จะเป็นพลังอานิสงส์ ที่จะส่งผลต่อครอบครัว ลดค่าใช้จ่าย สุขภาพก็จะดีขึ้นหากทำได้ ต่อจากนี้ไปเราต้องขับเคลื่อนงานและขยายเครือข่ายภาคีร่วมกัน สำหรับพื้นที่ที่ดำเนินการไปแล้ว และเป็นที่ประจักษ์ ขออนุโมทนาสาธุร่วมกัน เพราะกิจกรรมงดเหล้าทำด้วยความสมัครใจไม่ได้บังคับ เพราะพุทธศาสนาเองก็เช่นกัน สอนให้เห็นโทษ เห็นภัย แล้วคุณประโยชน์จะขึ้นกับเราเอง
เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ความทุกข์ของสังคมไทย เกิดจากน้ำเมา จากการทำงานตลอดระยะเวลที่ผ่านมามีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ผลการสำรวจปีล่าสุด ของสนง.สถิติแห่งชาติ พบว่า เป็นปีแรก ที่นักดื่มหน้าใหม่ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ที่จริงก็เป็นสิทธิของเขาที่จะดื่ม หากแต่มีความเป็นห่วงเพราะความเสี่ยงเกิดขึ้นได้หลายมิติ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ประเทศไทยเสียค่าใช้จ่ายจากน้ำเมา 3-4 แสนล้านบาทและอื่นๆ อีกมากมาย ในโอกาสวันเข้าพรรษาจึงเป็นเวลาที่สำคัญ ซึ่งสสส. และเครือข่ายงดเหล้า.ได้ดำเนินการรณรงค์มาเป็นปีที่ 21 แล้ว เกิดผลทำให้ประหยัดเงินประมาณ 70,000 ล้านบาท ช่วง 3 เดือนแม้บางคนที่ดื่มหนัก แต่เทศกาลเข้าพรรษาคนเหล่านั้นก็สามารถลด ละ เลิกได้ ก็อาจมีบางคนที่หลังออกพรรษาอาจกลับไปดื่ม ถ้าเราทำซ้ำๆ คนเหล่านั้นอาจเลิกดื่มในที่สุด หลายๆคนเลิกได้เพราะเริ่มต้นจากการงดเหล้าเข้าพรรษา วันนี้จังหวัดลำปาง มีคนหัวใจหิน คนหัวใจเหล็ก และชมรมคนหัวใจเพชร เป็นกำลังสำคัญที่จะสามารถยกระดับการทำงานรณรงค์ได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นต้นแบบด้านงานศพ งานบุญปลอดเหล้า และต้องกราบขอบพระคุณพระจินดารัตนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดลำปาง และคณะสงฆ์ทั้ง 13 อำเภอ, ท่านนายอำเภอ และผู้แทนหน่วยงานต่างๆที่ได้มาร่วมด้วยช่วยกันทำให้ลำปางเป็นจังหวัดสุขปลอดเหล้า
พระครูโสภณจริยานุวัตร วัดนาปราบ ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอสบปราบ และผู้ริเริ่มงานศพปลอดเหล้า กล่าวว่า เราทำงานเปรียบเสมือนการทำการเกษตร ต้องหมั่นปรวนดิน ใส่ปุ๋ย วันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของคณะสงฆ์จังหวัดลำปางอีกครั้งหนึ่ง ที่เราจะต้องมากระตุ้นและตอกย้ำให้เข็มแข็ง คำว่างดเหล้าเข้าพรรษา ตามหลักมงคล 38 พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่าให้สำรวมในการดื่มน้ำเมา จากประสบการณ์ที่ผ่านมาได้ศึกษาข้อมูล พฤติกรรมของผู้ดื่ม จึงมาปรับใช้กับทำงานที่ผ่านมา จึงใช้หลักธรรมเมตตาธรรมโดยการชี้แจงเหตุ และผล โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ อยากให้เป็นแบบอย่างในชุมชน สังคมได้ ทุกหน่วยงานในพื้นที่จะต้องร่วมกัน งานจะสำเร็จได้ เจริญพร
นายประสิทธิ์ อิ่มปัญญา ผู้ช่วยผู้ประสานงานเครือข่ายงดเหล้าจังหวัดลำปาง กล่าวว่า การดำเนินการงดการดื่มสุราในงานบุญประเพณีของเครือข่ายแสนผญา ตั้งแต่ปี 2550 มีการทำงานในพื้นที่จำนวน 10 อำเภอ เริ่มแรกได้เน้นการงดเหล้าในงานศพ จนทำให้อำเภอสบปราบ และอำเภองาวเป็นอำเภอปลอดการเลี้ยงเหล้าในงานศพและระดับตำบล จำนวน 10 ตำบล ขยายผลเป็นงดเหล้าในงานบุญประเพณี ส่วนงานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ งานสลากภัต และงานบวชทำได้ในบางพื้นที่ โดยนำแกนนำแลกเปลี่ยนประสบการณ์แต่ละพื้นที่ ร่วมกันกำหนดแผนการพัฒนา และติดตามผล สำหรับพื้นที่ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือ ตำบลร่องเคาะ ตำบลบ้านหวด ตำบลนายาง ตำบลที่เป็นตำบลต้นแบบ 1 ตำบล คือ ตำบลร่องเคาะ เกิดจากการร่วมมือของภาคีเครือข่ายในตำบล ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบล ชมรม กำนันผู้ใหญ่บ้าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน คณะทำงานในตำบล และคณะทำงานระดับจังหวัด ที่สำคัญ ชมรมคนเลิกเหล้าจังหวัดลำปาง จำนวน 10 ชมรม ชมรมที่เป็นต้นแบบ 3 ชมรม มีความเข้มแข็ง มีจิตอาสาและชมรมคนเลิกเหล้าสามารถดำเนินกิจกรรมได้เองในพื้นที่ต้นแบบในการงดเหล้าในงานบุญประเพณีตำบลร่องเคาะ
สำหรับ MOU ข้อตกลงมีวัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อนดังนี้
(1) ขอให้วัดทุกวัด สนับสนุนจัดกิจกรรมรณรงค์วันงดดื่มสุราแห่งชาติ งดเหล้าเข้าพรรษา และร่วมมือขับเคลื่อนโครงการเชิญ ช่วยเชียร์ ลด ละ เลิกเหล้าฯ โดยร่วมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ดำเนินการ ลงนามปฏิญาณตนผ่านระบบลงนามออนไลน์ ผ่านช่องทาง Link http://noalcohol.ddc.moph.go.th และร่วมติดป้ายรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาทุกแห่ง
(2) รณรงค์งดการดื่มสุรา การพนันในงานศพและรณรงค์เชิญ ชวน เชียร์ ลด ละ เลิกเหล้า และเข้าสู่ระบบรักษา
(3) รณรงค์บำบัดทุกข์บำรุงสุข ลดปัญหาครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ ทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็งประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
(4) รณรงค์การทำบุญด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ผ่องใส เป็นการลด ละ เลิก อบายมุข และรักษาศีล5
(5) รณรงค์ลดค่าใจ้จ่ายที่ไม่จำเป็นในการจัดงานศพ และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในชุมชน