อดีตที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลก วอนรัฐบาลใหม่ใส่ใจปัญหารถจักรยานยนต์ เสนอ 7 มาตรการลดเสี่ยงบาดเจ็บ-ตายจากการซ้อนท้ายมอร์เตอร์ไซค์ ขณะที่กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรคเผย 5 ปี ไทยสูญเสียเฉียดล้านล้านบาทจากอุบัติเหตุจราจร
พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัยและ อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลก ภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ เปิดเผยว่า ไม่ว่าในอนาคตข้างหน้าจะมีรัฐบาลมาจากพรรคการเมืองใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่อยากจะฝากและขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน คือ การลบชื่อประเทศไทยออกจากการเป็นแชมป์การตายจากรถจักรยานยนต์ที่เป็นอันดับ 1 ของโลกลงให้ได้ และ ทำให้การตายของเยาวชนอายุ 15-24 ปีจากอุบัติเหตุมอร์เตอร์ไซค์ลดลงโดยทันทีด้วยมาตรการต่างๆทั้งกฎหมาย คน รถ ถนน ทั้งนี้ สถิติข้อมูลผู้เสียชีวิตสะสม ประเทศไทย ปี 2565 จาก ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน (ThaiRSC) พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติบนท้องถนนสะสม 13,814 ราย โดยมากถึง 81% เป็นอุบัติจากการขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ เป็นเพศชายมากกว่าหญิง และช่วงอายุที่เสียชีวิตมากที่สุดคือ 36 – 60 ปี คิดเป็นเกือบ 40% ของผู้เสียชีวิตสะสม
อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลก ภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ระบุว่า มีข้อแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตสำหรับผู้ซ้อนท้ายหรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จำนวน 7 ข้อ จากโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย ภายใต้การสนับสนุนของสสส. ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ทุกประเภท ยกเว้นจำเป็นอย่างยิ่งยวด เลือกซ้อนท้ายรถจยจักรยานยนต์กับผู้ขับขี่ที่อายุมากกว่า18ปี และมีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์มาแล้ว มากกว่า 1ปี
2. ปฏิเสธการซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ มากกว่า1 คนเด็ดขาด เพราะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จะไม่สามารถควบคุมทิศทาง หรือหยุดรถได้ตามระยะทางที่ปลอดภัย
3. ผู้นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ควรช่วยดูทาง และเตือนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์หากขับเร็วหรืออันตราย
4. แต่งการด้วยชุดที่ไม่รุ่มร่าม ชุดที่ปกป้องร่างกายเพื่อลดการบาดเจ็บ เช่น เสื้อแขนยาว ขายาว รองเท้าคัทชู หรือ หุ้มส้น รองเท้าผ้าใบ
5. ใช้เสื้อกันฝนปลอดภัยกว่าใช้ร่มเพราะไม่เสียศูนย์ (ไม่เสียการทรงตัวในขณะนั่งและถือร่ม) จากลม ในขณะซ้อนท้ายรถจยย.ควรเก็บชายเสื้อกันฝนให้เรียบร้อย
6. ไม่ควรเกร็งหรือฝืนเวลารถจักรยานยนต์เข้าโค้ง และไม่ควรโน้มตัวก่อนผู้ขับขี่เพื่อรักษาสมดุลขอตนเองงผู้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เอง
7. ให้จับเอวผู้ขับขี่ในขณะซ้อนท้ายไม่ควรจับบาร์ท้ายด้วยมือทั้งสองข้างเพราะจะทำให้น้ำหนักหน่วงไปด้านหลังอาจทำให้หงายหลังได้เมื่อรถออกตัวแรง
ขณะที่ พญ.ศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ความสูญเสียทางเศรษฐกิจปี 2566 กรณีเกิดผู้พิการรายใหม่จากอุบัติเหตุทางถนน ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ข้อมูล 3 ฐานคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนรวม 96,230 ราย เฉลี่ยปีละ 19,246 ราย เป็นชายมากกว่าหญิงในสัดส่วน 3.7 ต่อ 1 ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15-19 ปี คิดเป็น 11.37% และ 20-24 ปี คิดเป็น 11.05% ในจำนวนนี้ 80% เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์ ขณะที่ภาพรวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจ รวมเฉียดล้านล้านบาท แบ่งตามระดับความรุนแรง คือ เสียชีวิต 511,515 ล้านบาท บาดเจ็บรุนแรง (IPD) 158,669 ล้านบาท บาดเจ็บเล็กน้อย (OPD) 144,957 ล้านบาท และ พิการ 306,156 ล้านบาท