วว. ภูมิใจ โมเดล “มาลัยวิทยสถาน” สนับสนุน พัฒนา ยกระดับศักยภาพเกษตรกรและชุมชน เติบโตยั่งยืน

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เผยอีกหนึ่งผลงานการผลักดัน โครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับด้วยนวัตกรรมเกษตร ผ่านโมเดล “มาลัยวิทยสถาน” มุ่งเน้นวิจัยสนับสนุนผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่จังหวัดเลย และลำปาง พร้อมพัฒนาองค์ความรู้ที่ยั่งยืน พัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการ สู่การพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อยกระดับศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างยั่งยืน มี SME เข้าร่วมกว่า 200 ราย เพิ่มคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับกว่า 1,000 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 150 ล้านบาท/ปี

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า โครงการ “มาลัยวิทยสถาน” มีจุดเริ่มต้น จากโครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับด้วยนวัตกรรมเกษตร โดย วว. ได้ทำการวิจัยสนับสนุนผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่จังหวัดเลยมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2561 และกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับ ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2563 ซึ่งได้มีการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการ ให้เป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ที่มีศักยภาพในการแข่งขัน

“จากผลการดำเนินงานดังกล่าว ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เล็งเห็นช่องการยกระดับผู้ประกอบการ จึงมอบแนวทางให้นำนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการพัฒนาองค์ความรู้ที่ยั่งยืน รวมทั้งกระบวนการผลิตไม้ดอกไม้ ไม้ประดับที่หลากหลาย สู่การพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิต อันตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ ของกระทรวงฯ ที่มุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับเข้มแข็ง เป็นต้นว่า การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ การคัดเลือกต้นพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับที่แข็งแรงปลอดโรค การส่งเสริมการใช้วัสดุปลูกที่มีคุณภาพ และมีสารอาหารเหมาะสมต่อพืช ระบบการปลูกเลี้ยงสมัยใหม่ที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน การสร้างกลุ่มเครือข่ายผู้ปลูกเลี้ยงให้เข้มแข็ง รวมถึงการเพิ่มมูลค่า เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ตลอดจนหนุนเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวในจังหวัด โดยมีพื้นที่นำร่องในจังหวัดเลย แล้วขยายไปยังจังหวัดลำปาง เพื่อให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ สู่การเรียนรู้เชื่อมโยงไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่มีภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อไป”

ผอ.วว. เผยด้วยว่านับแต่เริ่มโครงการตามแนวทาง “มาลัยวิทยสถาน” มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการในพื้นที่ต้นแบบจังหวัดเลย และลำปางกว่า 200 ราย และมีเครือข่ายคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับรวมกว่า 1,000 ราย โดยในปี 2565 สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม้ดอกไม้ประดับกว่า 150 ล้านบาท ส่งผลดีทั้งเชิงเศรษฐกิจ, เชิงสังคม และเชิงนโนบาย อันสอดคล้องกับนโยบายหลัก ของ วว.

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “มาลัยวิทยสถาน” ได้ทำหน้าที่เป็นวิทยสถานแห่งปัญญา มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม ตลาดไม้ดอกไม้ประดับและผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชน ให้สามารถพึ่งพาตนเองและเติบโตได้อย่างมั่นคง ทั้งยังก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่มเกษตรกร นักวิจัยในมหาวิทยาลัย นักวิจัยหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติอย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไปที่สนใจโมเดล “มาลัยวิทยสถาน” สามารถติดตามรายละเอียดได้ในหนังสือ “มาลัยวิทยสถาน” จัดพิมพ์โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) หรือ คลิกโหลด E-Book ได้ที่ลิงก์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://tistrservices.tistr.or.th/projects/malai_academy/index.php และ FB:FlowerClusterSME

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *