- หลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ทำเม็ดเงินไหลเข้าเมืองหลวง หนุนเศรษฐกิจคนกรุงให้คึกคักต่อเนื่อง แต่คนต่างจังหวัดยังหวั่นใจและชะลอการใช้จ่าย
- คนไทยยังสุขคงที่ และมองบวกอย่างมีความหวัง พร้อมต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมให้ดีขึ้นในทุกมิติ
กรุงเทพฯ ประเทศไทย, กุมภาพันธ์ 2566 – สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) หรือ Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN (THAILAND) เผยผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 เผยว่าในช่วงเปิดปีมานี้ ภาพรวมของความต้องการใช้จ่ายทั่วประเทศมีเกณฑ์ลดลงเมื่อเทียบกับผลสำรวจของเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา
หลังปีใหม่ที่มีการเฉลิมฉลองแบบจัดเต็มในรอบ 3 ปี ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนเข้าทั้งจังหวัดท่องเที่ยวและเมืองหลวงใหญ่อยู่พอสมควร แต่เมื่อช่วง High Season ปลายปีที่แล้วจบลง ความต้องการใช้จ่ายของคนไทยกลับมีสัญญาณที่แตกต่างกันออกไป โดยคนกรุงเทพยังคงสนุกกับการใช้จ่ายเพื่อตนเอง ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้ดีขึ้นต้อนรับปีใหม่ และเริ่มหันไปมองการท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ปริมาณการท่องเที่ยวในประเทศส่วนใหญ่ลดลง จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนต่างจังหวัดที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเกิดความกังวลว่า นักท่องเที่ยวอาจจะเลือกไปท่องเที่ยวในจังหวัดอื่น แทนที่จะเป็นจังหวัดของตนเอง ทำให้ชะลอการใช้จ่ายลดลง เพื่อตั้งหลักรับมือสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน
และจากผลสำรวจครั้งนี้มีสิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่ออ้างอิงจากผลงานวิจัยที่ผ่านมา คนในวัย 50-59 ปี ที่ถือเป็น Top Spenders หลัก (จากกลุ่มผู้เข้าร่วมสำรวจทั้งหมด) กลับมีท่าทีในการชะลอการใช้จ่ายลงมากในช่วงหลังปีใหม่ และเริ่มหันมาโฟกัสสิ่งของที่มีความจำเป็นกับตัวเองมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ภาพรวมแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายของคนไทยในรอบการสำรวจนี้ลดลง คุณธีรเมศร์ นิติจรรยาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ฮาคูโฮโด อินเตอร์เนชั่นแนล (จำกัด) ได้ให้คำแนะนำในประเด็นเรื่องส่งเสริมให้รายได้เข้าถึงต่างจังหวัดและต้อนรับชาวต่างชาติช่วงนี้ดังนี้
1. ส่งความรักให้คนในท้องถิ่น: Express Brand’s Love
หลังจบ High season ช่วงปีใหม่ ทำให้คนต่างจังหวัดเกิดความกังวลกับเรื่องเศรษฐกิจ แนะให้แบรนด์ใช้โอกาสนี้ ‘ส่งความรัก จากแบรนด์ สู่ลูกค้าท้องถิ่น’ ในช่วงวาเลนไทน์ โดยใช้การจัดโปรโมชันเพื่อตอบโจทย์คนในแต่ละภูมิภาคด้วยภาษาถิ่น เพื่อให้เกิดความประทับใจใหม่ผ่านแพลตฟอร์มที่โดนใจคนต่างจังหวัด เช่น ส่งเสริมการขายใน Tiktok Live ให้ผู้ชมเข้าถึงได้ง่าย ได้ทั้งความสนุกและสินค้าไปพร้อมกัน
2. Open House Open Experience: เปิดบ้านต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
การท่องเที่ยวในประเทศได้ฟื้นฟูขึ้นจากการเปิดประเทศครั้งใหญ่ กลับมาหนุนเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น ถือเป็นโอกาสที่ดีของแบรนด์ที่จะสร้างโอกาสสำคัญในการขยายตลาดให้ชาวต่างชาติเข้าถึงสินค้าได้มากยิ่งขึ้น โดยไม่ใช่แค่ขายสินค้า แต่ต้องเสริมกิมมิกเล็กๆ ที่ผสมผสาน ‘ความเป็นไทย’ เข้าไป ให้เกิดความน่าสนใจ เช่น อาหารไทยฟิวชันเมนูพิเศษ หรือการผสมผสานเรื่องความเชื่อของสายมูเข้าไปในสิ่งของต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้คนสนใจในตัวสินค้ามากยิ่งขึ้น
ในประเด็นถัดไป คุณสิตาพัชญ์ รุจิธันยพัชร์ เจ้าหน้าที่วางแผนกลยุทธ์อาวุโส บริษัท ฮาคูโฮโด อินเตอร์เนชั่นแนล (จำกัด) จะเจาะลึกถึงเรื่องแนวโน้มความต้องการใช้จ่าย โดยอ้างอิงจากผลสำรวจจะแบ่งออกได้เป็นข้อๆ ให้เข้าใจได้ง่ายทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้
1. แนวโน้มในการใช้จ่ายลดลงถึง -4% เมื่อเทียบกับผลสำรวจเดือนธันวาคม 2565
การลดลงของความต้องการใช้จ่ายนี้เอง ทำให้เรามองเห็นถึงความระมัดระวังและรอบคอบของผู้คนในการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัย 50-59 ปี ที่มักครองอันดับ Top Spenders มาโดยตลอด ก็หันมาโฟกัสสิ่งของที่จำเป็น ชะลอการใช้จ่าย หลังจากได้จ่ายเพื่อสังสรรค์และให้รางวัลครอบครัวในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาแล้วอย่างเต็มที่
2. คนกรุงเทพฯยังใช้จ่ายคึกคัก คนต่างจังหวัดเริ่มชะลอการใช้จ่าย
เมื่อจบเทศกาลฉลองปีใหม่ไป คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังคงต้องการใช้จ่ายเพื่อเสริมภาพลักษณ์ของตัวเองให้ดูดีขึ้นต้อนรับปีใหม่ แม้ค่าครองชีพจะขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ยังคงไม่หวั่น ใช้จ่ายหนุนเศรษฐกิจกันอย่างคับคั่ง แต่ในทางกลับกันคนต่างจังหวัดยังคงกังวลเรื่องเศรษฐกิจ ยิ่งในพื้นที่ที่ผู้คนมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว จึงทำให้มีความกังวลว่านักท่องเที่ยวจะเทกันไปตามแต่เมืองหลวงใหญ่ๆ และอีกหนึ่งข้อกังวลคือนักท่องเที่ยวในประเทศเองก็มองหาโอกาสใหม่ๆ ในการท่องเที่ยวในต่างประเทศมากกว่าในประเทศ
3. ค่าความสุขคงที่ หวังให้เพิ่มสูงขึ้นในการสำรวจครั้งถัดไป
ทิศทางความสุขของคนไทยจากผลสำรวจยังคงคงที่ เมื่อเทียบกับผลสำรวจเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา และคนไทยหวังให้มีสัญญาณอันดีที่ทำให้อนาคตจะมีแนวโน้มความสุขมากขึ้น ให้คนไทยยิ้มได้อย่างเต็มที่
แนวโน้มเรื่องความสนใจของคนไทยในขณะนี้ คุณพร้อมพร สุภัทรวณิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านวิจัยการตลาดและกลยุทธ์ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน ประเทศไทย ได้อธิบายในภาพรวมไว้ว่า ‘คนไทยเลือกเสพข่าวอย่างสร้างสรรค์ เริ่มต้นปีใหม่ด้วยข่าวที่สร้างพลังบวกทั้งด้านการเมืองและสังคม’ ความสนใจของคนในสังคมแปรผันตามช่วงเวลาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น หลังจากที่คนไทยผ่านช่วงเรื่องราวหนักๆ มาตลอดทั้งปี ช่วงปลายปีที่ผ่านก็มีข่าวเรื่องบอลโลกเข้ามาคลายเครียด เป็นสีสันเล็กๆ ให้กับการเสพข่าวของคนในสังคม ซึ่งแนวโน้มของคนไทยในขณะนี้เริ่มเลือกเสพข่าวด้วย “ความหวัง” เพราะต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และชีวิต โดยเฉพาะในแง่ของการเมืองผู้คนยังคงจับตาอยู่ไม่ห่าง หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังจะมีการเลือกตั้งใหญ่เกิดขึ้น ยิ่งเป็นที่น่าสนใจของผู้คนในสังคม รวมไปถึงเรื่องทุนจีนสีเทา และเว็บพนันออนไลน์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวในการพิสูจน์ความปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมในสังคม
เกี่ยวกับสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย)
สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) หรือ Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN (THAILAND) ทำการศึกษาเกี่ยวกับ “การคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย” ทุก ๆ สองเดือน โดยผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เป็นผลสำรวจจากการรวบรวมข้อมูลจากวันที่ 16 ถึง วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2565 โดยมุ่งเน้นเกี่ยวกับแนวโน้มและพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยในอนาคต ผ่านการทำแบบสอบถามเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จากประชากรเพศชายและหญิงจำนวน 1,200 คน อายุระหว่าง 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาค ทั่วประเทศ
Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN คือ ศูนย์วิจัยของกลุ่มฮาคูโฮโดในภูมิภาคอาเซียน ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2014 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นคลังสมองทางวิชาการ ช่วยเหลือทางด้านข้อมูลการตลาดและอื่นๆ ให้กับบริษัทในเครือฮาคูโฮโดในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งสังเกตไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยการวิจัยของสถาบันฯ จะเป็นการวิจัยที่มุ่งเน้นการศึกษา Sei-katsu-sha หรือ ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคม (Life Living Person) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของปรัชญาของฮาคูโฮโด ที่ไม่เพียงแค่มองผู้คนในฐานะผู้บริโภคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่มองถึงความเป็นบุคคลของผู้บริโภคที่มีชีวิต จิตใจ ไลฟ์สไตล์ แรงบันดาลใจ และความฝันที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล