วันสงกรานต์ 2565 เครือข่ายแรงงาน จี้ ตรวจ ATK เข้ม ก่อนกลับบ้าน-เข้าทำงาน วอน กระทรวงแรงงาน ดูแลสิทธิ “ลาป่วย” ติดโควิด-19 เป็นธรรม สสส. ชวน หยุดตั้งวงเหล้า-พนัน ป้องกันพื้นที่ระบาดเพิ่ม ยัน เดินหน้าส่งเสริมความรู้เรื่องวัคซีน เตรียมพร้อมรับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ที่ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว เครือข่ายองค์กรงดเหล้า และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา “เสียงจากชุมชนและคนงาน ก่อนสงกรานต์และโควิดเป็นโรคประจำถิ่น” พร้อมแสดงละครสั้น “สงกรานต์ ลดเสี่ยงโควิด-19” โดยทีมเฉพาะกิจเธียเตอร์ และทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “สงกรานต์ลดเสี่ยงโควิด-19 ชีวิตต้องไปต่อ” ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสิทธิทางสุขภาพแรงงาน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สงกรานต์ ปี 2565 คาดการณ์ว่าประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา และอาจมีกิจกรรม ตั้งวงดื่มเหล้า หลังเริ่มมีการผ่อนผันมาตรการ ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 สสส. และภาคีเครือข่าย จึงรณรงค์ให้เกิดการลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคู่กับรณรงค์ “ดื่มไม่ขับ” เพื่อป้องกันอุบัติเหตุบนถนน เดินหน้าส่งเสริมความเข้าใจเรื่องวัคซีนกับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันไม่ให้ระบบบริการสุขภาพมีปัญหาขั้นวิกฤต เพราะวัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรค และภาวะ “ลองโควิด” ที่อาจทำให้สมรรถนะร่างการเปลี่ยนไปได้
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างเตรียมประกาศ และปรับมาตรการโควิด-19 จากการเป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาเป็นสถานะ “โรคประจำถิ่น” (Endemic) หรือโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง คาดการณ์ว่าจะเริ่มตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 โดยจะต้องดูตามสถานการณ์ ซึ่ง สสส. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ เมื่อโควิด-19 เป็น “โรคประจำถิ่น” ครั้งนี้ด้วย
“สงกรานต์ปีนี้ เป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหญ่ในการรับมือกับโควิด-19 ที่เตรียมประกาศเป็นโรคประจำถิ่น สสส. ยืนยันว่า จะเดินหน้าสร้างความเข้าใจเรื่องการดูแลและป้องกันตนเอง สู่วิถีชีวิต New Normal บนความปกติใหม่ และทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีน สวมหน้ากากอนามัย และจะเน้นย้ำเรื่องการลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มไม่ขับ และฝากถึงทุกคนไม่ให้เดินทางไปพื้นที่เสี่ยง เพื่อความปลอดภัยของครอบครัว ชุมชน สังคมจะได้ฝ่าวิกฤตครั้งนี้และมีสุขภาวะดีไปด้วยกัน” ดร.สุปรีดา กล่าว
นางสาวศรีไพร นนทรี ผู้แทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 กระทบกับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่คนทำงานในโรงงานไม่สามารถเว้นระยะห่างกันได้ แต่ต้องจ่ายเงินสมทบเต็มจำนวน แต่ไม่ได้รับการเยียวยาหรือเข้าถึงการรักษาลำบาก โดยเฉพาะมาตรการ Factory sandbox ที่นายจ้างออกข้อกำหนดว่า คนติดเชื้อมาจากข้างนอก จะถูกตีเป็นการลาป่วยทั่วไป ไม่ใช่การลาป่วยพิเศษจากโควิด-19 มีผลต่อการปรับขึ้นโบนัส เบี้ยขยัน ที่น้อยลงหรือไม่ได้รับเลย ทำให้แรงงานกังวล จึงคาดการณ์ว่าก่อนและหลังสงกรานต์จะมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนองค์กรชุมชน ตั้งจุดตรวจ ATK ก่อนเข้าบ้าน และหลังกลับมาทำงาน พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลตัวเอง โดยขอให้กระทรวงแรงงานเข้ามาดูแล ออกประกาศไม่ให้มีการเอาการติดเชื้อโควิดมาเป็นเงื่อนไขในการหักสิทธิสวัสดิการต่างๆ ซึ่งน่าจะเหมาะกับสถานการณ์ในระยะอันใกล้ ที่โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เพราะมีความรุนแรงน้อย คนทำงานสามารถพักรักษาตัวได้ในช่วงเวลาไม่กี่วัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และกลับมาทำงานได้ในเวลาอันสั้น
นางสาววรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับโควิด-19 ต้องแยก 2 ส่วน คือ 1.ชุมชนที่ผ่านกระบวนการอบรมให้ความรู้ค่อนข้างมีความเข้าใจ และ 2.ประชาชนในชุมชนที่มีความรู้ แต่เป็นความรู้ปนความกลัว เพราะรับสารจากสื่อหลายแห่ง โดยเฉพาะการบอกว่า โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น พบว่าหลายคนยังเข้าใจไม่มากพอ กลัวเสียเงิน หรือต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น จึงเสนอให้ภาครัฐสื่อสารและเตรียมความพร้อมให้ประชาชน เช่น การป้องกันตัวผ่านสื่อที่น่าเชื่อถือ อธิบายการรักษาได้อาการสีเขียวอยู่บ้าน อาการสีเหลืองสีแดงสามารถเข้าโรงพยาบาลได้ทุกแห่ง รวมถึงให้ความรู้ภาวะลองโควิด และอยากให้ออกระเบียบบังคับตรวจ ATK ในสถานการณ์ที่จำเป็น เพื่อลดภาคีแรงงานและประชาชนในการซื้ออุปกรณ์มาตรวจ
นายรังสรรค์ ชื่นประเสริฐ ประธานชุมชนวัดอัมพวา เขตบางกอกน้อย กล่าวว่า ชุมชนวัดอัมพวาเป็นชุมชนใหญ่ มีประชากร 7-8 พันคน คนในชุมชนมีพฤติกรรมตั้งวงดื่มเหล้า เล่นการพนัน ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในชุมชนจำนวนมาก โดยที่ชุมชนต้องดูแลกันเอง ไม่ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันตัว แต่มีเครือข่ายเด็ก เยาวชน และครอบครัว และเครือข่ายต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ อีกทั้งช่วงสายพันธุ์เดลต้าระบาดรุนแรงทำให้คนกลัวและหยุดพฤติกรรมเสี่ยง ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ปัจจุบันสายพันธุ์โอมิครอน คนเริ่มไม่กลัว มีพฤติกรรมตั้งวงดื่มเหล้า พนัน บางคนพยายามทำตัวเสี่ยงติดเชื้อ เพื่อได้เงินประกัน หลายครั้งที่เข้าไปตักเตือนจนเกิดการทะเลาะวิวาท อย่างไรก็ตามในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเสี่ยงที่จะมีการระบาดของเชื้อมากขึ้นนั้น ปีนี้ทางชุมชนจึงงดจัดกิจกรรมบันเทิง แต่มีการทำบุญถึงคนเสียชีวิต เพื่อเยียวยาจิตใจให้กับผู้สูญเสียในชุมชน
นางสาววงจันทร์ จันทร์ยิ้ม อาสาสมัครเคหะชุมชนคลองเก้า กล่าวว่า ตนก็สูญเสียคนในครอบครัวจากโรคโควิด 19 ตั้งแต่ระลอกเชื้อเดลตาระบาด ซึ่งขณะนั้นการให้การดูแลช่วยเหลือโดยหน่วยงานรัฐ และอสส.ในพื้นที่ถือว่ามีปัญหา ไม่ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง ชาวบ้านต้องช่วยเหลือกันเอง และได้ภาคีเครือข่ายในการให้ความช่วยเหลือข้าว น้ำ รวมถึงยาจำเป็น กระทั่งปัจจุบันที่มีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ปัญหาก็ยังวนอยู่แบบเดิม คือไม่มีหน่วยงานเข้ามาให้การช่วยเหลือ เช่น โทรไปสำนักงานเขต ก็เพียงแต่รับข้อมูลและทำบันทึกสถิติเท่านั้นไม่ได้ช่วยเหลือให้เข้าสู่กระบวนการรักษา การเข้าสู่กระบวนการรักษาเป็นไปได้ยาก บางคนติดจนหายยังไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ หรือเข้ามาในลักษณะควบคุม คือไม่ได้ช่วยเหลืออะไร