เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นกุญแจสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศไทยจากโควิด-19 เมื่อการเติบโตหวนกลับมา

กรุงเทพฯ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2564 – หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่สามของปีพ.ศ. 2564 กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ฟื้นตัวขึ้นในเวลาต่อมา และคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.0 ในปีนี้ อ้างอิงจากรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ฉบับล่าสุดของธนาคารโลก ภายใต้หัวข้อ “อยู่กับโควิดในโลกยุคดิจิทัล” ที่เผยแพร่ในวันนี้ รายงานยังระบุว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้จะสามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศไทยจากผลกระทบของโควิด-19 ต่อไปในอนาคต และสร้างความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นในระยะยาว

ธนาคารโลกคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดได้ในช่วงปลายปีพ.ศ. 2565 โดยมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและการกลับมาของนักท่องเที่ยวเป็นปัจจัยในการสนับสนุนการฟื้นตัว  โดยคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของ GDP จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.9 ในปีพ.ศ. 2565 และถึงร้อยละ 4.3 ในปีพ.ศ. 2566 โดยได้แรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมภาคบริการ หากสามารถรักษาอัตราการฉีดวัคซีนในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 750,000 โดสต่อวัน และไม่มีการกลับมาระบาดของโควิด-19 อีก ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะเพิ่มขึ้น

รายงานย้ำว่าการจัดสรรวัคซีนอย่างต่อเนื่องต่อไปพร้อมกับนโยบายที่ปกป้องคุ้มครองประชาชน จะเป็นหัวใจสำคัญในการเร่งให้เศรษฐกิจกลับมาอยู่ที่ระดับผลผลิตในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ภายในสิ้นปีพ.ศ. 2565

“คาดว่าเศรษฐกิจจะได้รับแรงหนุนในไตรมาสที่สี่ของปีพ.ศ. 2564 จากการท่องเที่ยวภายในประเทศและการเคลื่อนย้ายในประเทศที่เพิ่มขึ้น” เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว “ความเร็วในการฟื้นตัวจะขึ้นอยู่กับปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติและการบริโภคภายในประเทศ”

อัตราความยากจนของประเทศไทยคาดว่าจะทรงตัวที่ร้อยละ 6.4 ในปีพ.ศ. 2564 โดยมีคนยากจนเพิ่มขึ้นประมาณ 160,000 คน นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีพ.ศ. 2563 แต่จากการสำรวจครัวเรือนทางโทรศัพท์ของธนาคารโลกปีพ.ศ. 2564 พบว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีความรุนแรงเป็นพิเศษต่อกลุ่มเปราะบาง  โดยรวมแล้ว มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามทางโทรศัพท์ 2,000 ราย ได้รับผลกระทบจากการตกงาน การหยุดงานชั่วคราว และจำนวนชั่วโมงทำงานที่ลดลง หรือค่าจ้างที่ลดลง

“ในขณะที่แผลเป็นจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 อาจคงอยู่ไปอีกนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการสูญเสียงานและการปิดโรงเรียน” เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว “การพัฒนาที่นำโดยดิจิทัลสามารถช่วยชดเชยผลกระทบจากรอยแผลเป็นเหล่านี้ และทำให้มั่นใจได้ว่าการเติบโตจะมีความทั่วถึงและเท่าเทียมกัน”

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ร้อยละ 30 ของผู้ใช้บริการดิจิทัลทั้งหมดในประเทศไทยเป็นผู้ใช้บริการรายใหม่ และการบริโภคของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ร้อยละ 90 ซึ่งสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาครองจากสิงคโปร์ ตามรายงาน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เร่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นการตอบสนองต่อมาตรการควบคุมการเดินทางที่ขยายระยะเวลาออกไป และเพื่อให้การปฏิบัติงานยังคงดำเนินต่อไป

รายงานได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ในขณะที่รัฐบาลได้มีการดำเนินการในหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนวาระดิจิทัลแล้ว แต่รัฐบาลยังคงสามารถดำเนินการเพิ่มเติมได้อีกเพื่อพัฒนาบริการดิจิทัลและกระตุ้นธุรกิจดิจิทัล เช่น การส่งเสริมการแข่งขันและการจูงใจให้เกิดความสามารถในการทำงานร่วมกันในตลาดดิจิทัล การเพิ่มความพร้อมของทักษะด้านดิจิทัลและทักษะเสริมอื่นๆ รวมถึงยกระดับการเข้าถึงนวัตกรรมทางการเงิน

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *