อพวช. ขานรับนโยบาย รมว.อว. เพิ่มโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาเยาวชนให้มีทักษะแห่งอนาคต พร้อมนำความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ มาใช้เป็นฐานสำคัญในการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศ เตรียมพร้อมจัดงานไฮบริดอีเว้นท์ “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” ผนึกกำลัง 7 ประเทศ 78 หน่วยงานพันธมิตร ร่วมโชว์ผลงานและศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ เปิดโลกแห่งการเรียนรู้วิทย์ยุคใหม่ใน 2 ช่องทาง ไร้ข้อจำกัดเวลาและสถานที่ด้วย Virtual Exhibition ในโลกออนไลน์ (Online) ผ่าน www.thailandnstfair.com ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 64 เป็นต้นไป และสัมผัสเทคโนโลยีและนวัตกรรมจริงในแบบออนกราวด์ (On ground) ระหว่างวันที่ 9-19 พฤศจิกายน 64 ณ อาคาร 9-12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในงานแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2564 กล่าวว่าปัจจุบันคือยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เราพบการแข่งขันที่สูงขึ้นและจำเป็นต้องปรับตัวอยู่เสมอ ดังนั้น การเรียนรู้ยุคใหม่ ผู้เรียนต้องก้าวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง ต้องมีทักษะแห่งอนาคต เพื่อให้พร้อมรับมือโลกในศตวรรษที่ 21 และสิ่งที่ อว. กำลังดำเนินการอยู่คือ การทำให้เยาวชน รวมทั้งนักศึกษา พัฒนาความรู้ไปทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องทำวิจัยเป็น คิดอย่างสร้างสรรค์ มีเหตุมีผล มองรอบด้าน โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นพื้นฐาน สาเหตุที่กล่าวเช่นนี้เพราะภายใต้แผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย เราจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยกระทรวง อว. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานแนวหน้า จะต้องทำให้ได้ภายในอีก 10 ปีนับจากนี้ และการที่เราจะดีดตัวเองออกจากกับดักของการเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้นั้น สามารถทำได้ผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจสองขา ได้แก่ ขาแรกที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และขาที่สองคือเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ต่อมาคือเรื่องพัฒนาการศึกษา เพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้แก่เยาวชนไทยให้พร้อมก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่ง อว. ให้ความสำคัญกับการให้โอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะการศึกษาคือการสร้างคนและสร้างโอกาส และเยาวชนไทยทุกคนถือเป็นทรัพยากรมนุษย์และเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่สามารถช่วยพัฒนาประเทศได้ นอกจากนี้ อว. ยังอยากให้ช่วยกันค้นหาช้างเผือกในป่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กๆ จากพื้นที่ห่างไกล ชายขอบ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้มีโอกาสเป็นนักวิทยาศาสตร์ของประเทศ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนกฯ ทิ้งท้ายว่า ผมอยากให้งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ แสดงให้ทุกคนเห็นว่าการพัฒนาประเทศนั้นต้องก้าวเดินไปพร้อมกันทั้งสองด้าน คือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่สามารถสนับสนุนงานศิลปะ และอีกด้านคือต้องมีเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และคนจำนวนมาก
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่านับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา กระทรวง อว. โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้จัดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” ซึ่งเป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีในช่วงเดือนสิงหาคม เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 18 สิงหาคมของทุกปี แต่ในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิค-19 จึงได้เลื่อนการจัดงานไปเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน ระหว่างวันที่ 9–19 พฤศจิกายน 64 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี พร้อมจัดขึ้นในรูปแบบไฮบริดอีเว้นท์ ที่ผสมผสานระหว่างการเข้าชมงานในฮอลล์ หรือเลือกรับชมจากที่บ้านก็ได้ ภายใต้แนวคิด “ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Art – Science – Innovation and Creative Economy)”
งานมหกรรมวิทย์ฯ ในปีนี้เป็นการจัดแสดงงานที่ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม “BCG Model : Bio – Circular – Green Economy” และเป็นครั้งแรกของการจัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (1st BCG Science Fair in SEA) ที่จุดประกายความคิด สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยนิทรรศการที่จัดภายในงานจะเน้นเรื่องการออกแบบนิทรรศการที่คำนึงถึงการใช้ผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดหรือประหยัดทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่เน้นการใช้ทรัพยากร การผลิต และการสร้างของเสีย
นอกจากนั้น ยังสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เยาวชนได้มีบทบาทภายในงานมากขึ้น มีส่วนร่วมและมีการแสดงออกมากขึ้น เช่น การแสดงละครวิทยาศาสตร์ กิจกรรมการสื่อสารวิทยาศาสตร์ รวมถึงให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมแบบออนไลน์ และการจัดนิทรรศการทั้งในและต่างประเทศ มุ่งเน้นเนื้อหาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน มีความเป็นสากลและมุ่งเน้นการนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก 78 หน่วยงาน 7 ประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ให้แก่เยาวชนไทย ให้คิดอย่างสร้างสรรค์ มีเหตุมีผล มองรอบด้าน โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นพื้นฐาน นำไปสู่การต่อยอดความคิดสู่การเป็นนวัตกรรุ่นใหม่ของประเทศในอนาคต ตลอดจนโชว์ศักยภาพผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำไปใช้ได้จริง ตามกรอบนโยบายที่ท่านรัฐมนตรีมอบให้
ด้าน นายสุวรงค์ วงษ์ศิริ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานมหกรรมวิทย์ฯ ในรูปแบบไฮบริดอีเว้นท์ปีนี้ ไม่เพียงลดช่องว่างการเข้าถึงงานจากผู้เข้าชมงานที่อยู่พื้นที่ห่างไกลหรือผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางมา แต่ยังเป็นการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้และเสนอช่องทางเลือกให้ผู้เข้าชมงาน สามารถเพลิดเพลินไปกับกิจกรรมและเปิดมุมมองการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านช่องทางใหม่ โดยมี 2 ช่องทางในการเข้าชมงาน ช่องทางแรกคือเข้าชมนิทรรศการเสมือน (Virtual Exhibition) อย่างไร้ข้อจำกัดเวลาและสถานที่บนโลกออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์งาน www.thailandnstfair.com ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 64 เป็นต้นไป และสามารถรับชมกิจกรรมและนิทรรศการต่างๆ ที่จัดขึ้น การเยี่ยมชมงานของพรีเซนเตอร์ ‘เต-ตะวัน’ และเหล่าคนดังที่มาเยี่ยมชมงานที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ทางเฟสบุ๊กของงาน NSTFair Thailand www.facebook.com/nstfairTH รวมทั้งร่วมสนุกกับกิจกรรมแจกของรางวัล Limited Edition ตลอดการจัดงานทุกวัน และช่องทางที่สองคือเข้าชมงานในสถานที่จริง (On ground Platform) ที่จะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 9-19 พฤศจิกายน 2564 ณ อาคาร 9-12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดให้เข้าชมงานฟรี! ตั้งแต่เวลา 09.00-19.00 น. โดยมีมาตรการจำกัดผู้เข้าชมงาน และมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมเปิดให้ลงทะเบียนจองสิทธิ์เข้าชมงานล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์งาน
ในด้านความพร้อมของการจัดงาน นายสุวรงค์ฯ เผยว่า ด้วยประสบการณ์ตลอด 15 ปีของการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ การปรับการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ของ อพวช.เป็นรูปแบบออนไลน์ Virtual Museum การบริหารการเข้าชมงานทั้ง 4 พิพิธภัณฑ์ในรูปแบบ New Normal ของ อพวช. และการเตรียมงานมากกว่า 6 เดือนในหลายด้าน เราได้เตรียมความพร้อมในการรองรับผู้เข้าชมในแต่ละวัน มีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อความสมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน ทั้งด้านสถานที่ ระบบสาธารณูปโภค มาตรการป้องกันโควิด-19 ระบบการจราจร การบริการรถรับ-ส่งภายในงาน การปฐมพยาบาล การรักษาความปลอดภัย การบริการต้อนรับ ร้านค้า ร้านอาหาร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ในการดูแลต้อนรับและอำนวยความสะดวกผู้เข้าชมงาน ที่ได้รับการฉีดวัคซีนและผ่านการตรวจ ATK ก่อนเข้าปฏิบัติงานทุกคน
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่อุปสรรคของการจัดงานมหกรรมวิทย์ฯ แต่เป็นโอกาสให้เราทุกคนได้เปลี่ยนแนวคิด ปรับแนวทาง สร้างการเรียนรู้ใหม่ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างทั่วถึง เท่าเทียมกันผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งสนุกไม่น้อยกว่าการมาชมงานที่สถานที่จริง พร้อมขอเชิญชวนพ่อแม่ครูอาจารย์ เยาวชนและประชาชนทุกท่านเข้าชมงานมหกรรมวิทย์ฯ ในปีนี้
สำหรับโรงเรียนที่ต้องการเข้าชมงานเป็นหมู่คณะ ติดต่อจองเข้าชมงานได้ที่เว็บไซต์งาน หรือ ติดต่อ อพวช. โทร 02 577 9960 ติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงาน ได้ที่ www.thailandnstfair.com หรือ Facebook งาน NSTFair Thailand www.facebook.com/nstfairTH หรือสอบถามข้อมูลที่ อพวช. โทร. 0 2577 9960