ชุมชนกทม. จี้ศบค.กทม.เร่งตั้งศูนย์พักคอยฯระดับชุมชน แยกผู้ป่วยโควิดออกจากบ้านที่แออัด ขออย่ายึดแต่ระเบียบจนไม่ทันกับความตายของประชาชน วอนให้เข้าถึงวัคซีนคุณภาพและอุปกรณ์ตรวจโควิดราคาถูกหรือฟรี
วันนี้ (26ก.ค.64) นางนัยนา ยลจอหอ ประธานชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิต กทม. กล่าวว่า ตอนนี้ชาวชุมชนได้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับโควิด-19 อย่างเต็มที่ ดูแลกันเองอย่างสุดกำลัง เราแค่อยากเห็นกลไกของรัฐ กทม. ยื่นมือเข้ามาช่วย สิ่งที่ชุมชนต้องเผชิญคือ จุดตรวจโควิดไม่เพียงพอ และผลตรวจโควิคแบบ Rapid Test ใช้ยื่นเพื่อเข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลไม่ได้ คนที่ป่วยหนักไม่มีเตียง ไม่มีรถไปรักษา และไม่ทราบขั้นตอนรับการรักษาการกินอยู่ ว่าต้องทำอย่างไร จึงเกิดเหตุการณ์ขอไปตายเอาดาบหน้า บุกไปเองที่โรงพยาบาลสร้างความโกลาหลวุ่นวาย หรือกลายเป็นภาพคนป่วยหนักอาการรุนแรงและเสียชีวิตในที่สุด ทั้งนี้ตนเข้าใจว่าทุกฝ่ายเหนื่อยล้า แต่ตอนนี้ชุมชนหลังพิงฝาแล้ว และเราวอนขอแค่ความชัดเจน ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นระบบรักษาตัวเองในชุมชน หรือ รักษาตัวเองที่บ้าน
ด้านนางสาววงจันทร์ จันทร์ยิ้ม อาสาสมัครโควิด เคหะชุมชนคลองเก้า เขตคลองสามวา กล่าวว่า ขณะนี้ชาวชุมชนกำลังเร่งพัฒนาสถานที่ในชุมชนเพื่อทำศูนย์แยกกักตัวในชุมชน หรือ CI เพื่อลดความแออัดในบ้าน แม้ในช่วงแรกๆมีคนไม่เข้าใจอยู่บ้าง แต่พอได้รู้ข้อมูลจริง เห็นความตั้งใจ ก็ทำให้ความระแวงหายไปกลายเป็นการสนับสนุนมาแทนที่ โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่ารับดูแลเฉพาะคนในชุมชนเท่านั้น ตอนนี้ได้รับบริจาคสิ่งของและเงินจากคนในชุมชน องค์กรภายนอกและพันธมิตร การสนับสนุนและช่วยเหลือจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.
“เราเห็นภาพชาวบ้านนำเงินเหรียญบาทเป็นกำๆมาร่วมบริจาค รู้สึกตื้นตันใจ สถานที่มีความคืบหน้ากว่าร้อยละ70 อยากฝากถึงกฎระเบียบราชการที่มีขั้นตอนมากมาย ในยามวิกฤตรุนแรงอย่างนี้ถ้ายังมัวแต่ยึดหลักการ มันจะไม่ทันกิน คนจะตายเป็นใบไม้ร่วง ชาวบ้านรอการเข้ามาแตะมือของภาครัฐ ของกทม. เข้ามาทำให้พื้นที่ตรงนี้เดินหน้าไปได้ตามเจตนารมณ์ของชาวบ้าน และเราคาดหวังว่าถ้าในชุมชนต่างๆมีการจัดตั้ง CI มีการหนุนเสริมอย่างเป็นระบบจะเป็นกลไกสำคัญในการสู้ศึกครั้งนี้” นางวงศ์จันทร์ กล่าว
ด้านนายสุรนาถ แป้นประเสริฐ กรรมการชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย ผู้ประสานงานเครือข่ายบางกอกนี้ดีจัง กล่าวว่า จากการหารือระหว่างแกนนำชุมชนและองค์กรพันธมิตร มีข้อเสนอต่อ กทม.ดังนี้ 1.เครือข่ายสนับสนุน กทม.ในการจัดตั้ง “ศูนย์พักคอย รอการส่งต่อผู้ป่วยโควิดเข้ารักษาในโรงพยาบาล” หรือ Community Isolation กทม.ต้องมีแผนสนับสนุนให้ชุมชนที่มีความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวในระดับชุมชนด้วย โดยดึงศักยภาพของชุมชนขึ้นมาร่วมรับมือ เติมเต็มสนับสนุนการรักษาดูแลผู้ป่วย การจัดสถานที่ให้ถูกหลักสุขอนามัย การตรวจคัดกรองเชิงรุก ตลอดจนงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการ เป็นต้น ส่วนกรณีผู้ป่วยที่พร้อมรักษาตัวที่บ้านหรือHome Isolation กทม.ต้องมีความชัดเจน เชื่อมต่อการสนับสนุนจาก สปสช.ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกถูกเทถูกทิ้ง ทั้งนี้ กทม.ต้องเร่งดำเนินการให้ศูนย์บริการสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขในสังกัดของกรุงเทพฯ เข้ามาสนับสนุน ลงมาทำงานร่วมกับคณะทำงานชุมชน การรักษาออนไลน์-สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันและยารักษา การเข้าถึงวัคซีนคุณภาพ อุปกรณ์ตรวจโควิดต้องราคาถูกหรือฟรี 2.กทม. ควรใช้พื้นที่โรงเรียนในสังกัดของ กทม. มาทำ Community Isolation สนับสนุนการรับส่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน (กรณีสีเหลือง, สีแดง) เช่น รถตู้ รถกระบะ ของหน่วยงานใน กทม. ปรับเป็นรถรับส่งผู้ป่วย เป็นต้น และ3.กทม. ต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนในชุมชนอย่างถูกต้อง ในเรื่องการจัดทำศูนย์พักคอย ว่าจะมีผลกระทบต่อชุมชนหรือไม่อย่างไร เพื่อลดความหวาดระแวงความเข้าใจผิด