เครือข่ายงดเหล้า สสส. และมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ เปิดเวทีเสวนาออนไลน์ “ประเพณีบุญบั้งไฟในยุคโควิด ความเชื่อ โอกาสและความเสี่ยง” สะท้อนบทเรียนการทำงานควบคุมปัจจัยเสี่ยงในงานบุญบั้งไฟ
เครือข่ายงดเหล้า สสส. และมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ จัดเวทีเสวนาออนไลน์“ประเพณีบุญบั้งไฟในยุคโควิด ความเชื่อ โอกาสและความเสี่ยง” นายมานพ แย้มอุทัย คณะกรรมการกำกับทิศ สำนักควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า งานบุญประเพณีบั้งไฟเป็นงานแสดงถึงวัฒนธรรมที่มีความงดงามและเต็มไปด้วยสปิริตหรือจิตวิญญาณ (Spirit) คือ เป็นกิจกรรมของความร่วมมือกันของชุมชนโดยมีความตั้งใจที่จะทำบั้งไฟให้ดีที่สุดเพื่อจุดบูชาพญาแถน มีการแบ่งหน้าที่กัน การทำบั้งไฟ การรำ การเตรียมสถานที่ เป็นต้น ต้องใช้เวลา ใช้ความพยายาม และความสามัคคี และเป็นสปิริตทีลูกหลานต้องกลับบ้านเพื่อไปร่วมงาน เป็นประเพณีได้ร่วมญาติพี่น้อง ซึ่งคนอีสานให้ความสำคัญกับประเพณีนี้มากกว่าสงกรานต์ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไปการจุดบั้งไฟกลายเป็นเพื่อแข่งขัน มีการดื่มสุราจนเกินขอบเขต และมีการพนัน ทำให้คุณค่าของประเพณีบั้งไฟลดลง แนวทางหนี่งที่จะรักษาคุณค่าของประเพณีไว้ได้คือ ความเข้มแข็งของชุมชนที่จะรักษาประเพณี และการพัฒนาสื่อสร้างความรู้เท่าทันปัญหาปัจจัยเสี่ยงในงานประเพณีบั้งไฟ สร้างข้อมูลส่งเสริมการท่องเที่ยวบุญบั้งไฟในอนาคต
ด้านนายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) เปิดเผยว่า หลายปีที่ผ่านมาเครือข่ายงดเหล้า โดยการสนับสนุนของสสส.ได้มีพื้นที่ปฏิบัติการงานประเพณีบุญบั้งไฟ 36 แห่ง สามารถลดปัญหาความไม่ปลอดภัยจากการดื่ม เมาวิวาท และลดปัญหาการเล่นพนันในงานบุญบั้งไฟได้เป็นอย่างดี โดยส่วนมากการจุดบั้งไฟจะมีการตั้งวงสังสรรค์และดื่มหนัก สคล.จึงเริ่มเห็นปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่มาควบคู่กับการดื่มเหล้า ที่ผ่านมาจึงมีการจัดวงคุย วงเสวนา ได้มีการรณรงค์เรื่องเหล่านี้ในพื้นที่จัดงานต่างๆ ทั้งขบวนแห่ ทำความเข้าใจกับร้านค้า ตรวจเตือน ทำแผนที่จุดเสี่ยง ทำ MOU ประกาศนโยบายสาธารณะในระดับพื้นที่ สร้างพลังในชุมชน เสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ ทำพื้นที่โซนนิ่งในการจุดบั้งไฟ(ระยะปลอดภัย) เพื่อทำให้งานบั้งไฟเป็นงานที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ซึ่งช่วงโควิดระบาดในรอบนี้ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากในการจัดงานบุญประเพณี ซึ่งหลายพื้นที่ไม่มีการจัด บางพื้นที่จัดเพียงแต่การบวงสรวงบูชา จึงมีข้อเสนอให้แต่ละชุมชนได้ใช้โอกาสนี้ในการสืบค้นคุณค่าความหมายคุณค่าของงานบุญบั้งไฟ เน้นการจัดงานแบบ SMS (Small / Meaningful / Safe) เล็กๆแต่มีคุณค่าความหมาย โดยเน้นไปที่มีผู้คน ชุมชน คนในครอบครัวได้มีความสุขร่วมกันอย่างปลอดภัย
นายจันทร์ โต๊ะสิงห์ ผู้ประสานงานประชาคมงดเหล้าจังหวัดศรีสะเกษ เล่าว่า งานบุญบั้งไฟถือเป็นวิถีของชาวอีสาน วิวัฒนาการของบั้งไฟแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกบั้งไฟทำจากไม้ไผ่อัดดินประสิว ผู้คนจะร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน อย่างเต็มที่ มีความสุขตามวิถีวัฒนธรรมที่แท้จริง ช่วงที่สอง บั้งไฟเปลี่ยนมาเป็นเสาเหล็ก มีการวัดว่าบั้งไฟใครอยู่ในอาการได้นานกว่ากัน โดยปล่อยน้ำลงพร้อมกับปล่อยบั้งไฟจนกว่าบั้งไฟจะตกถึงพื้นแล้ววัดระดับน้ำว่าใครได้มากกัน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน หากบั้งไฟแตกหรือไม่ขึ้นเจ้าของจะถูกจับโยนลงบ่อโคลน อย่างไรก็ตามเสาเหล็กแตกอาจทำให้เสียชีวิตได้ ยุคนี้เริ่มมีการขายเหล้าในงานอย่างเต็มที่โดยยังไม่มีการควบคุมใดๆ ส่วนในช่วงที่สาม บั้งไฟจะใช้ท่อพีวีซี จะสามารถทำให้ขึ้นสูงได้มากถึงระดับเครื่องบิน ยุคนี้มีการแข่งขันอย่างเป็นทางการและมีการลักลอบพนันโดยมีเงินทุนหมุนเวียนจำนวนมาก มีการดื่มเหล้าเยอะมาก การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวโดยเฉพาะในช่วงที่สามจะทำให้คุณค่าของประเพณีบั้งไฟลดลง
ในขณะที่นางผ่องศรี แซ่จึง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขต 8 กล่าวว่า ที่อำเภอราษีไศล จะมีงานใหญ่ คืองานบุญบั้งไฟ งานแข่งเรือ และงานฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานฯ ซึ่งงานบั้งไฟเป็นงานที่ทุกคนจริงจังอย่างเต็มที่ มีการรวมกลุ่มกันทำบั้งไฟ ซ้อมรำ เป็นงานประจำปีที่เป็นวิถีความสนุกสนาน และช่วงหลังๆได้มีการรณรงค์งานบุญปลอดเหล้านับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา เริ่มจากงานศพปลอดเหล้า ทุกตำบลให้การยอมรับ จึงกลายเป็นฉันทามติของอำเภอราษีไศล และขยายผลไปยังงานบุญอื่นๆในพื้นที่ กลายเป็นงานบุญปลอดเหล้า ความร่วมไม้ร่วมมือขอคนในพื้นที่ แสดงออกถึงความงดงาม เรามีบั้งไฟโบราณที่ทำจากไม้ไผ่ร่วมจุดในงานด้วย ภาพโดยรวมบ่งบอกถึงงานที่ปลอดภัย เพราะผู้คนในท้องถิ่นเห็นด้วยกับการจัดงานปลอดเหล้า รวมไปถึงการพนันที่ลดลง ผู้นำในท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆร่วมกันออกช่วยเป็นหูเป็นตา (ตรวจเตือน) โดยรอบงาน
เมื่อมีโควิดมา เรายังคงมีประเพณีบั้งไฟเล็กๆระดับหมู่บ้าน เป็นการจุดฉลองปู่ตา เรียกว่าบุญเดือน 6 ในปัจจุบันทุกคนรับรู้แล้วว่าการจุดบั้งไฟไม่เกี่ยวกับฝนจะตกหรือไม่ตก ดังนั้นประเด็นท้าทายในอนาคตคือการจัดการกับทุนน้ำเมาที่เกี่ยวเนื่องกับงานบุญประเพณีที่จะทำให้คนมีความสุขได้โดยไม่ต้องมีเหล้า รวมถึงการให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ซึ่งต้องยอมรับในความเปลี่ยนแปลงนี้ และควรหากิจกรรมเสริมที่น่าสนใจมาสนับสนุน ให้เด็ก เยาวชน ให้ซึมซับวัฒนธรรมที่ดีงามได้ในแบบฉบับของคนรุ่นใหม่ต่อไป./นางผ่องศรีกล่าว
ทั้งนี้ ผู้แทนจากพื้นที่ต่างๆที่ได้ร่วมพูดคุยทางระบบออนไลน์ อาทิ งานบุญบั้งไฟตะไลล้านบ้านกุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์, งานบุญบั้งไฟล้าน ตำนานม้าคำไหล ต.บ้านธาตุ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี, งานบุญบั้งไฟปลอดเหล้าปลอดการพนัน อ.ราศีไศล, และงานบุญบั้งไฟโบราณ ต.เสียว อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งพื้นที่การจัดงานส่วนใหญ่ระบุว่า ในปีนี้มีการบูชา รำบวงสรวง (นางรำต้องห่างกัน 2 เมตร) เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีเท่านั้น มีการจัดจุดบั้งไฟตะไลเล็กๆ เฉพาะการบูชาในบางพื้นที่มีการทำบุญตักบาตร ในลักษณะ New Normal โดยมี อสม. และเจ้าหน้าที่ดูแลคัดกรอง ประชาสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด