ผู้ประกอบการเดินรถโดยสารสาธารณะ วอนรัฐลดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือเอ็นจีวี จากการระบาดของโควิด 19 รอบใหม่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประสบปัญหาขาดทุนเนื่องจากผู้โดยสารลดลง แต่ต้นทุนคงที่
นายพิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย พร้อมผู้ประกอบการรถร่วมเอกชน รถแท็กซี่ และกลุ่มรถสาธารณะอื่นๆ หลายสิบราย เปิดเผยถึงผลกระทบการระบาดโควิด 19 ในครั้งแรกว่า ในครั้งที่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งการระบาดรุนแรงขึ้นอย่างชัดเจนประมาณช่วงเดือนมีนาคม 2563 กระทรวงพลังงานได้มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ โดยในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในวันที่ 25 มีนาคม 2563 ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการช่วยเหลือกลุ่มรถโดยสารสาธารณะในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และในต่างจังหวัด ประกอบด้วย รถโดยสาร รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก รถตู้ รถมินิบัส และ รถสองแถว เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและค่าครองชีพของประชาชน ตลอดจนผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ โดยเห็นชอบให้ปรับราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับรถโดยสารสาธารณะ ลดลง 3 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 13.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 10.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 และหลังจากนั้นได้มีการขยายระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือออกไปอีก 1 เดือน จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563
นอกจากจะได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการลดราคาขายปลีก NGV ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะยังต้องใช้อีกหลายวิธีในการแก้ปัญหาเพื่อให้กิจการอยู่รอด เช่น การขอพักชำระหนี้สถาบันการเงิน การขอผัดผ่อนหนี้ค่าอะไหล่ การลดวันทำงานของพนักงานลงโดยที่พนักงานได้รับเงินชดเชยจากสำนักงานประกันสังคม และ การขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับเสริมสภาพคล่องของกิจการและชะลอการเลิกจ้าง เป็นต้น อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่การระบาดได้ทุเลาลงและประชาชนเริ่มมีการเดินทางมากขึ้น กิจการรถโดยสารสาธารณะก็ยังคงไม่ฟื้นตัว เพราะต้องเริ่มจ่ายหนี้ต่างๆ ที่ได้เคยขอผัดผ่อนไว้จนสะสมเป็นจำนวนมาก รวมถึงต้องเริ่มชำระคืนเงินกู้ที่ได้กู้มาใหม่ด้วย
ต่อมา ในเดือนธันวาคม 2563 ได้เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ครั้งใหม่ ซึ่งเป็นการระบาดที่รุนแรงและเป็นวงกว้างกว่าการระบาดในครั้งแรก ส่งผลให้ประชาชนลดการเดินทางลงอีกครั้ง มีการปิดสถานศึกษาใน 28 จังหวัดเป็นการชั่วคราว และหน่วยงานหลายแห่งได้ประกาศให้บุคลากรทำงานจากที่บ้าน (Work from home) รวมถึงกรมการขนส่งทางบกได้ประกาศให้ใช้มาตรการ Social Distancing บนรถโดยสาร และในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้พิจารณารับผู้โดยสารไม่เกินกว่าร้อยละ 50 ของระดับความสามารถในการให้บริการของยานพาหนะ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้รายได้ของผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงลดลงอย่างมากจนใกล้เคียงกับเมื่อครั้งที่เกิดการระบาดรอบแรก อย่างไรก็ตาม รถโดยสารสาธารณะไม่สามารถหยุดให้บริการได้เนื่องจากยังคงมีประชาชนบางส่วนที่มีความจำเป็นต้องเดินทาง โดยในการเดินรถโดยสารแต่ละเที่ยวนั้นปริมาณของผู้โดยสารได้ลดลงอย่างมาก แต่ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงก๊าซ NGV ต่อเที่ยวยังคงเท่าเดิม
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ในครั้งนี้มีความรุนแรง รวดเร็ว และเป็นวงกว้าง กว่าการระบาดในครั้งแรก ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะจึงขอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาช่วยเหลือกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ โดยการปรับราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับรถโดยสารสาธารณะ จากเดิม 13.35 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 10.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นระยะเวลา 4 เดือน ตามแนวทางที่กระทรวงพลังงานได้เคยมีมาตรการช่วยเหลือในการระบาดครั้งแรก ซึ่งการช่วยเหลือจากกระทรวงพลังงานนั้นจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของกิจการรถโดยสารสาธารณะซึ่งเป็นหนึ่งในสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อประชาชน