เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อสร้างเสริมศักยภาพด้านเทคโนโลยีเน็กซ์เจนเนอเรชั่นให้แก่นักศึกษา เตรียมความพร้อมรองรับตลาดงานในยุคดิจิทัล ภายใต้โครงการ Huawei ICT Academy ที่จะช่วยพัฒนาความรู้ด้านไอทีระดับสูงผ่านคอร์สและการฝึกอบรมที่นำไปใช้ในชีวิตการทำงานได้จริง โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ นายอาเบล เติ้ง (Mr. Abel Deng) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ท่ามกลางคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้บริหารบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วยสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โถงอาคาร A ชั้น 1 โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
สำหรับโครงการดังกล่าว หัวเว่ยจะทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และจัดหาทรัพยากรการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีเครือข่ายขั้นสูง โดยอาศัยความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมไอซีทีที่ยาวนานกว่าสองทศวรรษของหัวเว่ย โดยสิ่งที่นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะได้รับเป็นการเรียนรู้ผ่านการสาธิตสถานการณ์การทำงานจริง ซึ่งจะนำมาซึ่งทักษะที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง ผ่านอุปกรณ์เน็ตเวิร์กและทรัพยากรต่าง ๆ ในโครงการหัวเว่ย ไอซีที อะแคเดมี่ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับงานด้านดิจิทัล นักศึกษาที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์จะได้รับโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมโครงการส่งเสริมทักษะด้านไอซีทีหลักของหัวเว่ยสองโครงการ คือ การแข่งขัน Huawei ICT Competition และงาน Huawei Job Fair ซึ่งพื้นฐานของความร่วมมือนี้มาจากความมุ่งมั่นระยะยาวของหัวเว่ยในการสร้างบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านไอซีทีอย่างลึกซึ้ง
ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณหัวเว่ย ที่ได้ช่วยจัดหาโอกาสการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาของเรา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านดิจิทัล มั่นใจว่าโครงการนี้จะช่วยเพิ่มจำนวนแรงงานไอซีทีที่มีทักษะระดับสูงและเปี่ยมศักยภาพให้แก่ประเทศไทยของเรา โครงการ หัวเว่ย ไอซีที อะแคเดมี่ หัวเว่ย มุ่งหวังที่จะขยายความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ร่วมกับภาคการศึกษาของไทยให้มากขึ้น เพื่อจับมือกันพัฒนาสภาพแวดล้อมที่รองรับความก้าวหน้า นวัตกรรมและคุณค่าใหม่ๆ สำหรับเยาวชนรุ่นต่อๆ ไป รวมถึงเสาะหาบุคลากรที่จะมาช่วยประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็น ประเทศไทย 4.0
ด้าน นายอาเบล เติ้ง (Mr. Abel Deng) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว่า หัวเว่ย รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ทำงานกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตลอดจนภาคการศึกษาในภาคใต้ เรามุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างเสริมศักยภาพให้นักศึกษามีความรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ เราจึงได้จัดตั้ง หัวเว่ย อาเซียน อะแคเดมี่ (ประเทศไทย) ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา ปั้นเด็กรุ่นใหม่ให้พร้อมเป็นบุคลากรที่มีความสามารถด้านไอซีทีในตลาดแรงงานระดับโลก
“เรามีความยินดีที่ได้ลงนามเอ็มโอยูฉบับนี้ ซึ่งผสานรวมการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเข้าไว้ด้วยกัน การฝึกอบรมจะสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษา ผู้เป็นกลไกสำคัญในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมไอทีของประเทศ ”นายอาเบล กล่าว