“Becoming A Butterfly การเดินทางของผีเสื้อหลากสี” หนังสือน่าอ่าน เข้าถึงความรู้จิตวิทยาง่ายๆ จาก “แมงมุมบุ๊ก”

สำนักพิมพ์แมงมุมบุ๊ก เปิดตัวหนังสือใหม่ “Becoming A Butterfly การเดินทางของผีเสื้อหลากสี” โดย ครูเม-คุณเมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเจ้าของเพจดัง “ตามใจนักจิตวิทยา” ณ เวทีกลาง ภายในงาน “มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่25” อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี มุ่งให้ความรู้ด้านจิตวิทยาแก่น้องๆ เยาวชน ไปจนถึงคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ใหญ่ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กๆ และผู้สนใจทั่วไป เพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม ให้เป็นพื้นที่ที่น่าอยู่สำหรับเด็กๆ

คุณเมริษา ยอดมณฑป หรือ “ครูเม” นักจิตวิทยาด้านเด็กและครอบครัวที่ชื่นชอบในงานเขียน เปิดเผยถึงหนังสือ  “Becoming A Butterfly การเดินทางของผีเสื้อหลากสี” ว่าเป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับเด็กวัย 12 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ที่ทำงานร่วมกับเด็กๆ โดยเป็นความหวังว่าจะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นพื้นที่ที่น่าอยู่สำหรับเด็กๆ ในอนาคตต่อไป

            ทั้งนี้ที่มาของหนังสือเล่มนี้ เกิดขึ้นจากเหตุผลหลายประการด้วยกัน โดยครูเมชี้ว่า เหตุผลแรกคือมองว่าวรรณกรรมเยาวชนในประเทศไทยเหมือนกำลังจะตายไป จึงหวังสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆรุ่นใหม่และเพื่อให้ได้รู้จักวิชาชีพนักจิตวิทยา บางคนกลัว เข้าไม่ถึง ซึ่งครูเมเองเป็นคนหนึ่งที่เติบโตมาจากแรงบันดาลใจของวรรณกรรมเยาวชน

            ข้อสอง มองว่า จิตวิทยาเด็กเป็นเรื่องแปลกใหม่ มีคำถามว่า เด็กต้องการนักจิตวิทยาด้วยหรือ จึงอยากให้ทราบว่า การไปพบเจอจิตแพทย์และนักจิตวิทยาในโรงพยาบาลไม่ได้น่ากลัว เป็นเรื่องเข้าถึงได้และเป็นเรื่องปกติที่เด็กจะไปขอความช่วยเหลือ อยากให้หนังสือเล่มนี้ลดการตีตราในสังคมว่า การเข้าพบเพื่อขอความเหลือจากจิตแพทย์เป็นเรื่องที่เป็นไปได้และควรทำ

            ข้อสาม อยากให้หนังสือเล่มนี้เป็นกระบอกเสียงสำหรับเด็กๆ ได้เติบโต เป็นเครื่องมือส่งต่อความรู้กระบวนการช่วยเหลือและสอดแทรกกระบวนการเยียวยาภายในเนื้อหาที่อ่านได้ง่าย โดยอยากให้ผู้ใหญ่ทุกคนได้อ่านว่า ถ้าเราจะมีพื้นที่ให้กับเด็กๆ ได้เติบโต เราจะต้องทำอย่างไร จะเป็นผู้ฟังอย่างไร จะช่วยเด็กๆ ที่มาขอความช่วยเหลือได้อย่างไร  

            ข้อสี่ อยากให้เป็นเครื่องมือที่นักจิตวิทยาและจิตแพทย์นำไปใช้ เพื่อไปยืนอยู่จุดเดียวกับผู้ป่วยเพื่อให้สามารถเข้าใจเขาได้มากขึ้น

            “การช่วยเหลือเยียวยาเด็กๆ จะช่วยป้องกันการเกิดบาดแผลในใจ บาดแผลในวัยเด็ก (Trauma) ช่วยป้องกันก่อนเกิดโรคจิตเวชได้  ซึ่งโรคทางจิตเวชมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม 50% และสิ่งแวดล้อม50% การป้องกันมีความสำคัญมาก เพราะหากเป็นแล้วมีค่าใช้จ่ายมหาศาล โดยโรคจิตเวชไม่ได้หมายถึงโรคซึมเศร้าอย่างเดียว และหากเป็นแล้วจะมีผลกระทบต่อทุกคนในครอบครัว ทำให้เกิดความเครียดและรักษาไม่หาย โรคจะกลับมาอีกเมื่ออ่อนแอ ในต่างประเทศจะให้ความสำคัญมากกับการช่วยคนหนึ่งเท่ากับช่วยครอบครัว ช่วยครอบครัวเท่ากับช่วยสังคม จะมีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนเวียนไปตรวจเป็นประจำ” ครูเมกล่าว

            สำหรับเนื้อหาภายในหนังสือ “Becoming A Butterfly การเดินทางของผีเสื้อหลากสี”  มีการเรียบเรียงเนื้อหาเบาๆ ไปสู่เนื้อหาที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ประกอบด้วย 12 เคสที่น่าสนใจจากเด็ก 12 คน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อ่านแล้วจะเป็นประโยชน์มากว่า จะสามารถสังเกตอาการของน้องๆ อย่างไรได้บ้างหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ จะช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างไร

            ครูเมยกตัวอย่าง บทที่ 1 เรื่อง  “เด็กชายมังกร” เด็กที่เป็นโรคหลายบุคลิก (Dissociative Identity Disorder -DID) มีสาเหตุจากเด็กที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรง จึงเกิดกลไกป้องกันตัวเอง สร้างตัวตนที่เข้มแข็งขึ้นมา เมื่อเกิดความรุนแรงบ่อยครั้งขึ้น ก็เรียกตัวตนที่สร้างออกมาบ่อยขึ้น ทำให้มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพของเขาและทำให้มีบุคลิกชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ว่าจะเป็นตัวตนที่แท้จริง หรือบุคลิกที่สร้างขึ้น   

            ครูเม กล่าวเสริมว่า “ปกติเด็กๆ จะมีความร่าเริงแจ่มใส ซน แต่ถ้าเขามีปัญหา แววตาจะไม่สดใสไม่เปล่งประกาย บางคนแสดงออกกลัว ไม่กล้าเล่นอะไร หรือบางคนแสดงออกในทางก้าวร้าว เข้มแข็งแต่ในความเป็นจริงเขาอาจอ่อนแอ บางคนแสดงออกโดยการนิ่ง ไม่ตอบสนอง ที่อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสมอง หากไมได้รับการแก้ไข เยียวยา บาดแผลนี้จะไม่หายไปไหน และจะมีผลต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นโรคจิตเวช ที่อาจเป็นซึมเศร้า อารมณ์เหวี่ยงไปมา หากเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันมาจะกระตุ้น ความทรงจำจะแล่นขึ้นมา จะเป็นบาดแผลที่ยิ่งใหญ่เหมือนระเบิดเวลา ซึ่งโดยรวมแล้วบาดแผลมักมีการส่งต่อมาจากคุณพ่อคุณแม่”

            ส่วนไฮไลท์ของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่เรื่องของ “เด็กหญิงไม่เป็นไร” ซึ่งครูเมถือว่า เป็นบทพีคที่สุด เป็นเรื่องราวสะท้อนวัฒนธรรมของหลายประเทศในเอเชีย เรื่องการไม่สามารถปฏิเสธ ปฏิเสธคนไม่ค่อยเป็นการเป็นลูกกตัญญู การต้องเก็บความรู้สึกไว้ เด็กหญิงคนนี้เป็นเด็กที่อยากเป็นคนดีของคุณพ่อคุณแม่กลัวว่าพ่อแม่จะไม่รัก อยากให้ทุกคนมีความสุข แต่ตัวเองไม่เป็นไร จนวันหนึ่งก็จะระเบิดออกมา

            เคสนี้ ครูเมเล่าว่า “เรื่องนี้อิงชีวิตจริงและมีอิทธิพลต่อตัวเองมากที่ทำให้ยังยึดวิชาชีพนี้อยู่ อยากทำเพื่อช่วยเหลือเด็ก เพราะเด็กคนนี้เราช่วยเขาไม่ทัน แม้ไม่เสียชีวิตแต่ก็ไม่สามารถที่จะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้อีก การนำมาเป็นบทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้เพื่อให้เห็นความสำคัญของการช่วยเด็กๆ แต่การบำบัดไม่ใช่ยาวิเศษ ต้องขึ้นอยู่กับตัวของเขาด้วยว่า อยากจะหายหรือไม่ ตัวเขาต้องมีความพยายามด้วยในการควบคุมกินยาสม่ำเสมอ ที่น่าเจ็บปวดคือ เขาเป็นเด็ก แต่เราไม่สามารถช่วยเขาให้ดีที่สุดได้ เพราะเราไม่เห็นบาดแผลว่าร้ายแรงอย่างไร จะช่วยเท่าไรถึงจะเพียงพอ

            “ตั้งแต่เมทำวิชาชีพนี้มา ทำให้ตัดสินคนน้อยลง ว่าแค่นี้เอง ทำไมทำไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าแต่ละคนผ่านอะไรมาบ้าง การเขียนหนังสือเล่มนี้ทำให้รู้ว่า กว่าที่เด็กคนหนึ่งจะเป็นโรคจิตเวช เขาต้องผ่านอะไรมาหนักขนาดไหน”

            ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ได้แก่ เด็กชายโทรโข่ง, เด็กชายต่างดาว,เด็กหญิงไร้เสียง, เด็กหญิงบนหอคอย, เด็กหญิงล่องหน, เด็กชายหัวรถจักร, เด็กหญิงสองบ้าน, เด็กชายผีเสื้อ, เด็กชายอัศวินและเด็กชายสมองทึบ

            ครูเมยังกล่าวถึงปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนในสังคมปัจจุบันว่า “อยากเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและผู้ทำงานร่วมกับเด็ก ที่ต้องมีความรู้ด้านจิตวิทยาด้วย  พร้อมเสนอแนะให้มีนักจิตวิทยาเข้าไปโรงเรียนเพื่อตรวจและประเมินสุขภาพใจเป็นประจำ เพื่อป้องกันและเยียวยาบำบัดปัญหาทางจิตวิทยาทั้งครูและนักเรียน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตได้ เพราะโรคจิตเวชหากพบเร็ว ในระยะเกิดโรคครั้งแรก(first episode) จะบำบัดให้หายได้ โดยปัจจุบันยังมีความเหลื่อมล้ำ โรงเรียนที่มีนักจิตวิทยาไปดูแล ได้แก่โรงเรียนในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โรงเรียนนานาชาติ แต่โรงเรียนเอกชนและโรงเรียนขนาดเล็กยังไม่ค่อยมีนักจิตวิทยาเข้าไปดูแล 

            นอกจากนี้ยังแนะให้ปรับหลักสูตรที่ไม่คาดหวังในตัวเด็กสูงเกินไปและให้สอดพ้องกับปริบทพัฒนาการของเด็กๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อลดความเครียดของคุณครูและเด็กได้มีโอกาสเติบโตอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งจะลดปัญหาสุขภาพจิตได้ด้วย อีกทั้งสนับสนุนการมีสวัสดิการเพื่อให้ทุกคนในสังคมสามารถเข้าถึงนักจิตวิทยาได้ง่าย เพื่อหาทางแก้ไข ประเมินสุขภาพจิตของตัวเอง 

            “หนังสือเล่มนี้ตั้งใจให้เด็กๆ อายุ 12 ปีขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่และคนทำงานเกี่ยวกับเด็ก  ตั้งใจให้เป็นเพื่อนเคียงข้างในวันที่เราไม่ไหว และอยากส่งถึงเด็กๆ ผู้ใหญ่ในวันที่รู้สึกโดดเดี่ยวว่า… ไม่เป็นไรนะที่จะไม่เป็นไร” ครูเมกล่าวสรุป

            นอกจากเขียนหนังสือแล้ว ครูเมยังมีเพจเฟซบุ๊ก “ตามใจนักจิตวิทยา” ที่ปัจจุบันมีผู้ติดตามมากกว่า 2 แสนคน ให้ความรู้ด้านจิตวิทยาที่ “ห้องเรียนครอบครัว”  เพื่อให้ครอบครัวมาเรียนรู้ไปด้วยกันผู้สนใจสามารถเข้าไปชมได้

            ด้านคุณเบียร์-อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี นักแปลและเจ้าของสำนักพิมพ์แมงมุมบุ๊ก กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นจากการได้ติดตามแฟนเพจของคุณเมอยู่ เห็นว่ามีไอเดียหลายอย่างที่ไปด้วยกันได้ และคุณเมมีความใฝ่ฝันที่จะเขียนวรรณกรรมเยาวชน จึงชักชวนให้มาเขียนหนังสือและจากนั้นได้มาทำงานร่วมกัน ซึ่งคุณเมมาพร้อมกับผู้วาดภาพประกอบ ส่วนตนดูแลด้านการตลาด จัดทำรูปเล่มและกราฟิกให้

            คุณเบียร์กล่าวต่อว่า สิ่งที่ดีใจมากอย่างหนึ่งคือ จากการพูดคุยสื่อสารกันบ่อยๆ ตนและครูเมมีความคิดเห็นที่ตรงกันว่า ต้องการที่จะทำหนังสือเพื่อออกไปเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น มากกว่าเรื่องของผลประโยชน์และรายได้ และแน่นอนว่า ต้องการมีรายได้กลับมาเพื่อทำให้อยู่ได้และสามารถไปได้ต่อในเล่ม 2 -3 ซึ่งตรงนี้ต้องการการสนับสนุนจากผู้อ่านมาก โดยหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาและธีมหลักของเรื่องที่อยากจะนำเสนอให้กับสังคมจริงๆ ร่วมกับนักเขียนของสำนักพิมพ์ ส่วนการพิมพ์เริ่มแรกอยู่ที่จำนวน3,000 เล่ม

            “ในส่วนของสำนักพิมพ์แมงมุมบุ๊ก เริ่มจากการทำนิยาย เป็นนิยายแปลจากไต้หวัน ตอนนี้เราเปลี่ยนแนวด้วยสังคมและสถานการณ์โควิดมาทำหนังสือเด็ก ซึ่งเราทำได้ดีขึ้น โดยยังคงคอนเซ็ปต์หนังสือเด็กที่มาจากไต้หวัน เช่น ม้าสีส้ม, ผีเสื้อของตั๋วตั่ว เป็นเล่มเดียวในไทยและไต้หวันที่นำเสนอเนื้อหาช่วยให้เด็กๆ ป้องกันตัวเองจากการถูกคุกคามทางเพศ และเป็นหนังสือเล่มเดียวที่มาพร้อมคู่มือของผู้ปกครอง ควรค่าแก่การประดับอาวุธทางปัญญาให้เด็กๆ ทำให้เด็กระวังตัวและไม่มีความลับกับพ่อแม่”

            “งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้ จัดตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. – 11 ต.ค. 2563 ณ อาคารชาเลนเจอร์2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ขอเชิญแวะเวียนมาได้ หนังสือของสำนักพิมพ์แมงมุม อยู่ที่บูธ S05 มีหนังสือเด็กหนังสือที่มีคุณประโยชน์ ที่ผมภาคภูมิใจมานำเสนอ มาลองจับต้องกันดูนะครับ” คุณเบียร์กล่าวทิ้งท้าย

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *