Skip to content
นักวิชาการ-ภาครัฐ-ภาคประชาชน ย้ำกฎหมายควบคุมน้ำเมา ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เครื่องมือกลั่นแกล้งคนทำมาหากิน และไม่ได้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน จวกธุรกิจน้ำเมาเห็นแก่ได้ ส่งป้ายโฆษณาผิดกฎหมายให้ร้านค้ารับกรรม โยนบาปให้ร้านเล็กร้านน้อย
วันนี้ (2 กันยายน 2563) ที่เดอะฮอลล์ บางกออก ในเวทีเสวนาหัวข้อ “ผ่าความจริง…มาตรา32 คุมโฆษณาน้ำเมาเพื่อใคร” จัดโดย เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่
ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา โฟนอินร่วมเวทีว่า จากกรณีมีการขยายประเด็นโจมตีพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา32 ว่าจำกัดสิทธิเสรีภาพ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เกิดกระแสแบนหรือห้ามโฆษณาสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอ้างว่ามีประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่มีกฎหมายนี้ ตนมองว่าเป็นขบวนหนึ่งของการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เช่น กลุ่มธุรกิจcraft beer ที่ต้องการขยายตลาด เขามองว่าตัวกฎหมายจำกัดโอกาสขยายตลาด แม้ทุนใหญ่จะไม่กระทบมากนักแต่ถ้าแก้กฎหมายได้ ทุนใหญ่จะปลดล็อกและได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะทุ่มโฆษณาและการตลาดได้เพิ่มขึ้น
“ต้องสร้างความเข้าใจว่ากฎหมายนี้ ไม่ได้มีเพียงประเทศไทยที่บังคับใช้ แต่มีครอบคลุมประเทศต่างๆทั่วโลกถึง70% และอ้างอิงตามหลักการประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) ทั้งนี้ต้องสร้างความชัดเจนขั้นตอนบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งอาจแก้ไขในกฎหมายลูก หรือ ชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ เพื่อช่วยลดแรงกดดันจากภาคประชาชน และช่วยสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนด้วย” นักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าว
ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ประเทศฟินแลน์ ถือว่ามีกฎหมายกำกับสื่อโฆษณาที่เข้มแข็ง ทำให้การดื่มลดน้อยลง นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยในประเทศอเมริกา ที่แบ่งสื่อ3ประเภท ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ และสื่อโทรทัศน์ พบว่า มาตรการแบนหรือควบคุมโฆษณาในสื่อ1ประเภท จะลดการดื่มในกลุ่มประชากรได้ถึง5-8% ประกอบกับข้อมูลงานวิจัยภายในประเทศที่ไม่ได้กำหนดให้สื่อประเภทต่าง ๆ แบนการโฆษณาแอลกอฮอล์ในโทรทัศน์ พบว่า ถ้าดูโทรทัศน์เพิ่มขึ้นมากกว่า1ชั่วโมง/วัน มีโอกาสเริ่มเป็นผู้ดื่มมากขึ้น 9-30%
นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักควบคุมโรคที่ 5 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดาทำลายสุขภาพ จากการศึกษาทั่วโลกพบว่า หากจะหยุดยั้งภัยคุกคามนี้ ต้องใช้3มาตรการ1.การจำกัดการเข้าถึงสถานที่/วันเวลา/บุคคล 2.ขึ้นภาษี 3.ห้ามโฆษณาสื่อสารการตลาด และต้องทำทุกมาตรการไปพร้อมๆกัน ยิ่งมาตรการห้ามโฆษณา ถือว่า สำคัญมาก หากปล่อยให้โฆษณาอิสระ แล้วมาตรการอื่นๆแม้จะทำเต็มที่ ก็จะไม่ได้ผลสำเร็จ
“ขอย้ำว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนสากล เพราะร่างโดยผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายระดับแนวหน้าของประเทศ และผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้อย่างชัดเจน ว่าไม่ได้ขัดแย้งกับกับรัฐธรรมนูญ เพราะอยู่ภายในขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจกระทำได้ เพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศิลธรรมอันดี ดังนั้นกฎหมายนี้จึงตรงตามเจตนารมณ์ที่จะช่วยสร้างเสริมสุขภาพ ส่วนมาตรา32 เป็นมาตรการหนึ่งที่ใช้ควบคุมการโฆษณา ให้อยู่ในขอบเขต เนื่องจากไม่ได้ห้ามโฆษณาโดยเด็ดขาด ที่ผ่านมาเกิดการหลบเลี่ยง ทำให้อิทธิพลของการโฆษณามีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอย่างมาก” นพ.สมาน กล่าว
นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า การเคลื่อนไหวขอแก้กฎหมายของกลุ่มคราฟเบียร์ มี 2 เรื่อง คือ พ.ร.บ.สรรพสามิต เรื่องเงื่อนไขการผลิตสุราเบียร์เสรี และ 2.ขอแก้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยเฉพาะมาตรา32 โดยมองว่าไม่เป็นธรรม ขัดขวางการทำธุรกิจสุรารายเล็ก กลั่นแกล้งคนหาเช้ากินค่ำ เป็นเครื่องมือหาประโยชน์จากสินบนนำจับ เลยเถิดไปถึงการอ้างว่าขัดรัฐธรรมนูญ โดยกลุ่มดังกล่าวเคลื่อนไหวหนัก ต้องการเปิดทางให้คราฟเบียร์เปิดเพจสื่อสารทางออนไลน์ อวดอ้างสรรพคุณได้ และจะพบบรรดาเพจต่างๆโชว์ตราสัญลักษณ์ ภาพบรรจุภัณฑ์ทั้งที่รู้ว่าผิดกฎหมาย การรับจ้างโพสสื่อสาร รีวิวอวดอ้างสรพคุณ จูงใจให้ดื่ม และยังพบว่ากลุ่มนายทุนเจ้าใหญ่แบรนด์ดังๆก็ใช้การจ้างการโพสเช่นเดียวกัน
“ข้อเท็จจริง กฎหมายฉบับนี้ มีประชาชน13ล้านคน ร่วมลงชื่อสนับสนุน มีเรื่องราวความเป็นความตายที่ต่อสู้เพื่อผลักดันให้ออกกฎหมายฉบับนี้ แต่ขณะนี้กลับถูกโจมตี ทั้งการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และโจมตีมาตรา32 ทั้งๆที่กรณีสินบนนำจับนั้นมีผู้รับเงินส่วนนี้เพียงสองรายเท่านั้นและเป็นเงินที่น้อยมาก ที่สำคัญการ ร้านค้าที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางรายที่โดนจับกุมดำเนินคดีนั้น พบว่า เกือบทุกรายทำผิด เช่น ปรากฏภาพขวดในเมนูอาหาร มีป้ายตู้ไฟ สติกเกอร์ ป้ายไวนิล รวมไปถึงสาวเชียร์เบียร์ แต่เวลาถูกตีไข่ใส่สีมักสื่อสารว่าคนเล็กคนน้อยถูกรังแก ดังนั้นขอให้สังคมควรตั้งคำถามกับบริษัทเหล้าเบียร์ซึ่งเป็นผู้ผลิตป้ายต่างๆมาให้ร้านเหล่านี้ รู้ทั้งรู้ว่าผิด แต่หวังผลที่ได้โฆษณา ส่วนความผิดก็เป็นวิบากกรรมที่ร้านต่างๆต้องเผชิญกันเอาเอง ตรงนี้คือสิ่งที่ต้องช่วยกันประณาม และในทางกลับกันภาครัฐต้องดำเนินคดีเอาผิด ไปให้ถึงบริษัทเหล้าเบียร์ ในส่วนการที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจกลั่นแกล้งต้องการสินบนนั้น หากคิดว่าไม่เป็นธรรม อยากให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดเพื่อให้ศาลตัดสินทำความจริงให้ปรากฏ” นายคำรณ กล่าว
นพ.พงศ์ธร ชาติพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กล่าวว่า เรื่องที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาที่สคอ.มากที่สุดคือ การโฆษณาตามมาตรา 32 ทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ จึงเป็นเหตุผลว่า ช่วงนี้ทำไมจึงมีการเรียกผู้ถูกร้องเรียนเข้ามาให้ข้อมูล หรือเปรียบเทียบปรับ ส่วนหลักการตัดสินว่าผิดหรือไม่นั้น ใช้แนวทาง คือ หากเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ทางการค้าตามนิยามในมาตรา3แล้ว ถ้าประชาชนเห็น ได้ยิน ทราบข้อความ ก็ถือว่าเป็นการโฆษณา โดยนิยามของข้อความ หมายถึง การกระทำให้ปรากฏด้วยอักษร ภาพ ภาพยนตร์ แสง เสียง เครื่องหมายหรือการกระทำอย่างใดๆ ที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจความหมายได้ แต่หากเป็นการแสดงชื่อหรือเครื่องหมายซึ่งไม่ได้กระทำเพื่อประโยชน์ทางการค้า หากอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อมก็จะเป็นความผิดเช่นกัน ดังนั้น การที่ประชาชนทั่วไปโพสต์รูปลงในโซเชียลมีเดีย แล้วมีเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดอยู่ในรูปด้วย จึงไม่เป็นความผิด
“ขอให้ผู้ประกอบการระมัดระวังการรับสื่อโฆษณาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจมาในรูปแบบต่างๆ เช่น แผ่นป้ายไวนิล ป้ายชื่อร้าน เมนูอาหาร ร่ม แก้ว ถังน้ำแข็ง ฯลฯ โดยสื่อเหล่านี้จะไม่ระบุบริษัทผู้ผลิต หรือสถานที่ผลิต หากเขาเกลี้ยกล่อมให้รับสื่อด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น บอกว่าไม่ผิดกฎหมาย หรือเคลียร์กับเจ้าหน้าที่ให้เรียบร้อยแล้ว หากสังเกตเครื่องหมายด้วยตนเองแล้วเข้าใจว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ควรรับสื่อนั้นมาใช้ หรือหากนำมาใช้จะต้องปิดเครื่องหมายนั้นเสียก่อน หากมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค1422 หรือที่สคอ.02-590-3035” นพ.พงศ์ธร กล่าว