Skip to content
ภาวะลมในเยื่อหุ้มปอดที่เกิดขึ้นเอง (spontaneous pneumothorax) หรือเรียกว่าโรคปอดรั่ว เป็นภาวะที่ถุงลมที่พองผิดปกติในปอดจนเกิดการแตกขึ้นมา ทำให้ลมมีการสะสมในช่องเยื่อหุ้มปอดจนส่งผลทำให้กดเบียดเนื้อปอดบางส่วน และบางรายสามารถเบียดไปยังหัวใจและอาจส่งผลทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งจำเป็นต้องรีบรับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะถ้ารักษาเร็วจะสามารถลดความอันตรายถึงแก่ชีวิตที่จะเกิดได้ โดยกลุ่มโรคนี้จะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ ภาวะลมในเยื่อหุ้มปอดที่เกิดขึ้นเองแบบปฐมภูมิ (Primary spontaneous pneumothorax ; PSP) ซึ่งมักพบในกลุ่มวัยรุ่น โดยอุบัติการณ์โรคที่จะเกิดในเพศชายและเพศหญิง คือ 24 และ 10 ราย จากจำนวน 100,000 รายต่อปี โดยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงอาจเกิดจากการสูบบุหรี่ ทั้งยังมีรายงานการศึกษาถึงความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ที่ส่งผลต่อภาวะลมรั่วในเยื่อหุ้มปอด ซึ่งในบางรายอาจพบผู้ป่วยที่เกิดจากภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ( Endometriosis) หรือ ลมรั่วตามประจำเดือน ( catamenial pneumothorax ) โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เกิดในช่วงที่มีประจำเดือนควบคู่กัน โดยในกลุ่มแรกการรักษาด้วยการผ่าตัดค่อนข้างเข้ามามีบทบาทค่อนข้างสูงและได้ผลลัพธ์ที่ดีและสามารถลดอาการได้
กลุ่มที่สอง คือ ภาวะลมในเยื่อหุ้มปอดที่สัมพันธ์กับโรคอื่น (Secondary pneumothorax) โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น ถุงลมโป่งพองเรื้อรัง หรือ โรคทางปอดอย่างอื่น โดยส่วนใหญ่อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะลมรั่วในเยื่อหุ้มปอดอาจมีอาการตั้งแต่เจ็บแน่นหน้าอกฉับพลัน หายใจหอบเหนื่อยและในรายที่มีอาการมาก อาจเกิดภาวะที่เรียกว่า Tension pneumothorax โดยผู้ป่วยจะมีอาการอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นและมีความดันโลหิตต่ำ โดยภาวะนี้เกิดจากลมรั่วจากถุงลมในเยื่อหุ้มปอดมีปริมาณมากจนไปกดเบียดหลอดเลือดดำใหญ่ที่เข้าที่หัวใจ ส่งผลทำให้หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างปกติ และอาจทำให้เสียชีวิตได้
การรักษาลมรั่วในเยื่อหุ้มปอด ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ เมื่อมีอาการแน่นหน้าอกอยู่แล้ว เมื่อแพทย์ได้ทำการเอกซเรย์และวินิจฉัยว่ามีลมรั่วในเยื่อหุ้มปอดแล้ว ในกรณีที่ลมรั่วมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่สายระบายทรวงอก เพื่อระบายลมที่รั่วออกมา โดยขั้นตอนถัดไป คือการตรวจหาสาเหตุของโรค ในปัจจุบันการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ( CT scan ) ได้เข้ามามีบทบาทค่อนข้างมากในการหาตำแหน่งและจุดที่เกิดการรั่ว และสาเหตุของลมรั่วในเยื่อหุ้มปอด ในกรณีที่ผู้ป่วยตรวจเจอว่ามีถุงลม (subpleural bleb) กลุ่มนั้นมีโอกาสเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นซ้ำมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์
การผ่าตัดภาวะลมรั่วในเยื่อหุ้มปอดนั้น ในปัจจุบันแนวทางในการรักษาภาวะลมรั่วในเยื่อหุ้มปอด สามารถทำได้โดยการผ่าตัดผ่านการส่องกล้อง (Video Assisted Thoracoscopic surgery; VATS) ซึ่งเป็นการผ่าตัดแผลเล็กขนาด 2-3 เซนติเมตรบริเวณซี่โครง โดยเป้าหมายของการผ่าตัดรักษา คือ การจัดการกับสาเหตุของลมรั่วในปอด โดยการตัดถุงลม (blebs, bullae) ที่แตกร่วมกับการสร้างพังผืด(surgical pleurodesis) ระหว่างเยื่อหุ้มปอด เพื่อลดอัตราการกลับมาเป็นซ้ำ โดยข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องนั้น คือสามารถลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น ลดอาการปวดจากการผ่าตัด รวมไปถึงลดระยะเวลาการนอนพักรักษาโรงพยาบาลหลังการผ่าตัด สอบถามรายละเอียดการรักษาได้ที่ เฟซบุ๊กผ่าตัดหัวใจและผ่าตัดส่องกล้อง คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล