Skip to content
วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) จัดเสวนาการพัฒนานำสมุนไพร กัญชง กัญชา กระท่อม มาใช้เป็นยารักษาสัตว์จากงานวิจัยสู่คลินิก เนื่องในวันสัตวแพทย์ไทยประจำปี 2563
ศ.คลินิก ดร.น.สพ.สุวิชัย โรจนเสถียร คณบดีวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี มวล. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ได้จัดเสวนาเรื่อง การพัฒนานำสมุนไพร กัญชง กัญชา กระท่อม มาใช้เป็นยารักษาสัตว์จากงานวิจัยสู่คลินิก เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านการใช้พืชสมุนไพรในการรักษาสัตว์ พร้อมทำบุญให้อาจารย์ใหญ่ทางสัตวแพทย์ เนื่องในวันสัตวแพทย์ไทยประจำปี 2563 โดยมีนักศึกษา คณาจารย์ นักวิจัยและผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมกว่า 100 คน ณ อาคารกายวิภาคศาสตร์ วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี และห้องประชุม 1 อาคารวิจัย
ศ.คลินิก ดร.น.สพ.สุวิชัย โรจนเสถียร กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้การสนับสนุนจากสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านวิชาการ การวิจัยด้านการใช้พืชสมุนไพรสำหรับการรักษาโรค เช่น กัญชง กัญชา และกระท่อม และงานทางด้านโคนมที่เกี่ยวข้องระหว่างนักศึกษา คณาจารย์ นักวิจัยและผู้สนใจทั่วไป อันจะนำไปสู่การพัฒนาและการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านต่างๆ ในเชิงบูรณาการ ที่สำคัญยังเป็นการเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลแก่วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารีและโรงพยาบาลสัตว์เล็ก รวมทั้งเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานให้แก่บุคลากร และอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่เหล่าสัตว์ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ทางสัตวแพทย์อีกด้วย
ด้านนายสัตวแพทย์ ดร.กษิดิ์เดช ธีรนิตยาธาร อาจารย์ประจำวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์ฯ มวล. กล่าวบนเวทีการเสวนาการพัฒนาสมุนไพร กัญชง กัญชา กระท่อม มาใช้เป็นยารักษาสัตว์จากงานวิจัยสู่คลินิก ว่า ปัจจุบันงานวิจัยทั่วโลกได้เริ่มศึกษาการใช้สมุนไพรเหล่านี้มารักษาสัตว์ เพื่อนำมาทดแทนยาปฏิชีวนะ เพราะการใช้ยาจำพวกนี้อาจทำให้มีสารตกค้างอยู่ได้ จึงเกิดเป็นความเชื่อมโยงระหว่างความยั่งยืนและความปลอดภัยทางอาหารของมนุษย์ อีกทั้งยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับพืชจำพวกนี้ได้
“ปัจจุบันคนไทยหรือคนต่างชาติยอมรับแล้วว่าพืชกระท่อมไม่ใด้เป็นยาเสพติด ส่วนกัญชา กัญชงถึงแม้มีสารเสพติด แต่เราสามารถหยิบเอาส่วนที่มีประโยชน์มาใช้ในการรักษาได้ เพราะฉะนั้นในกระบวนการวิจัยในขณะนี้เราทำงานเพื่อศึกษาทั้งการใช้ในเชิงเดี่ยวและใช้ในองค์รวมเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการวิจัยในสัตว์และนำไปพัฒนาต่อยอดงานวิจัยเพื่อใช้พัฒนายาสำหรับใช้รักษามนุษย์ต่อไป” นายสัตวแพทย์ ดร.กษิดิ์เดช กล่าว