ไทยร่วมกับนานาชาติ ริเริ่มเครือข่ายเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เร่งแก้ความเหลื่อมล้ำ

ไทยจับมือนานาชาติ ริเริ่มเครือข่ายเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ชวนทั่วโลกเดินหน้า AllFor Education หรือ ปวงชนเพื่อการศึกษา เร่งแก้ความเหลื่อมล้ำให้สำเร็จ เพื่อเด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ทุกที่ทุกเวลา
ยูเนสโก คาดหวังกสศ.ไทยเป็นต้นแบบและเสริมพลังให้ประเทศอื่นๆในภูมิภาคขยายผล

วันที่11กรกฎาคม 2563 ที่โรงแรมเคมเปนสกี้ ปทุมวัน กรุงเทพฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์,กระทรวงมหาดไทย , UNESCO,UNICEF และ savethechildren จัดประชุมวิชาการนานาชาติ “เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ปวงชนเพื่อการศึกษา” เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ปฏิญญาจอมเทียน เป็นวันที่สอง หลังจากระดมสมอง 60 ยอดนักคิด ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา นักปฏิรูป ผู้กำหนดนโยบายที่มีอิทธิพลต่อวงการศึกษาทั่วโลก ร่วมหาทางออกปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หลังวิกฤตCovid-19 โดยมีผู้เข้าร่วมฟังการประชุมในรูปแบบออนไลน์มากกว่า 2,500 คนจาก 79 ประเทศ

นายอิชิโร่ มิยาซาวะ ตัวแทนจากองค์กรยูเนสโกประจำประเทศไทย กล่าวอภิปรายหัวข้อ “เครือข่ายองค์กรนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” ว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาอัตราเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาในระดับชั้นประถมและมัธยมต้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ถึงแม้จะมีความพยายามของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหา ยิ่งเมื่อได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นไปอีก การแก้ปัญหานี้ เราต้องหยุดทำงานในรูปแบบเดิมที่เคยทำมา ต้องคิดใหม่และทำใหม่เพื่อให้เด็กๆได้รับการช่วยเหลืออย่างดีที่สุด
“การพูดคุยกันอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ จะต้องมีกฎหมาย มีพระราชบัญญัติที่ออกมาอย่างชัดเจน และที่สำคัญต้องมีงบประมาณที่ลงทุนกับเรื่องนี้อย่างคุ้มค่า มีความคิดสร้างสรรค์และเป็นนวัตกรรมด้วย ซึ่งเครือข่ายความร่วมมือต้องช่วยกันคิดว่าถ้างบประมาณไม่มาก จะทำอย่างไรให้เกิดนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ได้จริง ต้องวัดผลได้ว่ามีความสำเร็จอะไรเกิดขึ้น ต้องสร้างความเสมอภาคและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เห็นผ่านฐานข้อมูลและสถิติให้ได้”

นายอิชิโร่ กล่าวว่า ขณะนี้เราได้ทำงานร่วมกับหลายประเทศภายใต้เครือข่าย equitable education alliance หรือ EEA เช่น ประเทศไทย อังกฤษ แคนาดา มาเลเซีย ฟินแลนด์ เกาหลี พบว่าแม้แต่ในประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดอย่างฟินแลนด์ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมในระบบการศึกษาด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเครือข่ายที่จะต้องส่องแสงสว่างให้เห็นว่าตรงไหนคือความสำเร็จ
“ผมเชื่อว่าประเทศไทยเป็นผู้นำในเรื่องนี้เพราะประเทศไทยเริ่มพูดเรื่องนี้แล้วมีหน่วยงานที่จะมาแก้ปัญหาโดยตรง ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นดาวส่องแสงให้ประเทศอื่นได้เห็น หากมองไปในทวีปเอเชีย ยังไม่มีองค์กรแบบ กสศ. เกิดขึ้น ทั้งๆที่มีปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำสูง เราชื่นชมประเทศไทย และจากสถานการณ์โควิด ที่ดูเหมือนจะทำให้เด็กเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษามากขึ้น แต่ในทางบวกจะเป็นพลังให้การทำงานของ กสศ. กับภาคีเสริมพลังกันมากขึ้นที่จะขับเคลื่อนความเสมอภาค หลังจากที่ได้มีการหารือในเวทีนานาชาติ คาดหวังว่าจะเห็นนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำจาก กสศ. ตั้งแต่ตอนนี้ จนถึง 10 ปีข้างหน้า เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว และรัฐบาลประเทศอื่นๆ ดำเนินการตามประเทศไทยมากขึ้น” ตัวแทนจากองค์กรยูเนสโกประจำประเทศไทยกล่าว

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการการจัดประชุม วิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา กล่าวว่า เป็นความท้าทายในโอกาสครบรอบ 30 ปีปฏิญญาจอมเทียน ที่มีผู้นำการศึกษาทั่วโลกเกือบ 200 คน แสดงเจตนารมณ์อันแรงกล้าที่เป็นจุดกำเนิดของ คำว่า Education For All หรือการศึกษาเพื่อปวงชน ที่มุ่งเน้นให้การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กและเยาวชนทุกคนที่สามารถเข้าถึงและสำเร็จการศึกษาระดับประถมได้100% อย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ แต่ทั่วโลกยังไม่สามารถขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ และเราเดินทางมาถึง10 ปีสุดท้ายแห่งการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG17 ด้านการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่จะต้องเกิดขึ้นภายในปี 2573 ทำให้ในการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย และอยู่ในช่วงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 เป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน จึงถูกเปลี่ยนเป็น ปวงชนเพื่อการศึกษา หรือ All For Education

ที่ปรึกษา กสศ.กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำแก้ไขได้ ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันเปลี่ยนแปลง ร่วมกันยกระดับความเสมอภาคทางการศึกษาด้วยการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ การปรับปรุงแก้ไขกรอบกฎหมาย นำเทคโนโลยี นวัตกรรมการเงินการคลัง และการเก็บข้อมูลสารสนเทศช่วยให้เด็กๆเข้าถึงการศึกษามากขึ้น การพัฒนาแพลตฟอร์มการเข้าถึงการศึกษาแบบไร้พรมแดน การพัฒนาครู ที่สำคัญคือภาครัฐของประเทศต่างๆต้องให้ความร่วมมือเพิ่มการลงทุนสำหรับการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง
“แนวทางใหม่ที่สำคัญ คือ เราต้องช่วยกันทำให้การศึกษาไปถึงเด็ก ไม่ว่าพวกเขาจะมีปัญหาและความต้องการอะไรในทุกสภาพสังคม ไม่ใช่ให้เด็กต้องเข้าหาการศึกษาอย่างในอดีต หรือต้องไปโรงเรียนเท่านั้นถึงจะได้รับการศึกษา นี่เป็นการเปลี่ยนมโนทัศน์ครั้งใหม่ที่จะช่วยสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาเช่นกัน”

นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวว่า ผลการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชน รวมถึงความเสมอภาคทางการศึกษา ถือเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา รวมถึงการพัฒนาครู เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้นักวิชาการหลายท่านต่างเห็นตรงกันว่าไม่มีสูตรรวมในการแก้ปัญหาด้านการศึกษา สำหรับการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ไม่มีผลกระทบต่อการประกาศเจตนารมณ์ กลับเป็นตัวเร่งให้เห็นภาพการแก้ไขปัญหาความเสมอภาคทางการศึกษาให้ตรงจุดมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีที่บีบให้ทุกคนต้องปรับตัว ในอนาคตไม่ว่าจะมีผลกระทบจากโควิด-19 รอบสองหรือไม่ ศธ.เตรียมรับมือไว้แล้ว พร้อมมอบหมายให้ทุกโรงเรียนปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัด
“การได้แบ่งปันข้อมูลด้านต่างๆร่วมกัน ก่อให้เกิดพันธมิตรใหม่ สามารถร่วมมือกันแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระยะยาวได้ ส่วนผลสรุปจากการประชุมวิชาการจะเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปเสนอในที่ประชุมการศึกษาโลก (Asia and Pacific Regional Bureau for Education) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม” รองปลัดศธ. กล่าว

นายโทมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า หากจะแก้ไขปัญหาทั้งหมดนี้ได้ เราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการทางการศึกษา เพราะรูปแบบในปัจจุบันนี้ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเวลาอันรวดเร็วตามที่เราต้องการเพื่อให้ถึงเป้าหมายของ SDG4ได้ ขอย้ำว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วนทั้งระบบการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันรวมถึงในตัวของพวกเราเองด้วย ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถให้คำตอบได้กับทุกปัญหา ต้องทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยหาคำตอบไปพร้อมๆกัน เพราะบางคำตอบอาจจะมีใครทำไว้อยู้แล้วก็ได้ และไม่เพียงแค่การจับมือกับเครือข่ายเดิมๆ แต่เราต้องไปจับมือกับเครือข่ายใหม่ๆที่เราไม่คุ้นเคย การเปลี่ยนแปลงต้องอยู่ในหัวใจของทุกๆอย่างที่เราทำจากนี้เป็นต้นไป
“สถานการณ์โควิด19 จะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจ และกระทบต่อการหางานของคนรุ่นใหม่ ยูนิเซฟตระหนักว่าการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลหรือทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมากกว่าสิ่งอื่นใด ไม่มีห้วงเวลาไหนสำคัญไปกว่าตอนนี้แล้วที่เราจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษา”

นายชิเงรุ อาโอยากิ ผู้อำนวยการยูเนสโก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ความหวังของเราคืออยากเห็นเด็กทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษา สามารถเป็นผู้นำทางสังคมหรือผู้นำของประเทศ จากสถิติ เด็กเข้าถึงโอกาสการศึกษาน้อยลง ยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้เด็กเหล่านี้หลุดออกนอกระบบการศึกษามากยิ่งขึ้น จากปัญหาทั้งหมด ขอเสนอแนวทางแก้ปัญหา จาก4ปัจจัยหลัก ดังนี้ 1.มีกฎหมายหรือข้อบังคับเพื่อให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค 2.มีทุนการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะ 3.มีสื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพ และ 4.มีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง คุณภาพและแม่นยำ เพื่อนำเงินทุนที่มีไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยขณะนี้มีภาคีเครือข่ายร่วมทำงานกับยูเนสโกจำนวน 9 ประเทศ ได้แก่ ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ อเมริกา นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ไทย อังกฤษ แคนาดา มาเลเซีย และยังมีองค์กรระดับนานาชาติที่ร่วมทำงานเพื่อแก้ปัญหาการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม
“ในทางปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม 1.ควรมีข้อมูลที่มีคุณภาพและนำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูล 2.การนำแนวคิดไปปรับใช้เป็นนโยบายและสื่อสารกับประชาชน 3.สร้างเครือข่าย และ4.สนับสนุนเครื่องมือทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม” นายชิเงรุ กล่าว

นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกสศ. กล่าวว่า การประชุมนี้ถือเป็นจุดเริ่มสำคัญที่เครือข่ายและบุคลากรทางการศึกษาจะนำข้อมูลไปใช้พัฒนาการศึกษาของประเทศตน หากย้อนไป10 ปีที่แล้ว ไทยมีปัญหาเรื่องการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม เราจึงพยายามใช้ข้อมูลและนวัตกรรมในการแก้ปัญหามาโดยตลอด โดยมุ่งช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่เข้าไม่ถึงการศึกษาเป็นกลุ่มแรก จนสามารถช่วยเหลือเด็กๆให้เข้าถึงการศึกษาได้จำนวนมาก อย่างไรก็ตามความสำเร็จที่เกิดขึ้น ใช้เวลาถึง8 ปีที่รัฐบาลจะจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในปัจจุบัน
“วันนี้หลายประเทศเริ่มแก้ปัญหาความเสมอภาคทางการศึกษาได้ดีขึ้น แต่ผมมองว่า หากในอนาคต ทุกคนต่างมุ่งหวังที่ให้ความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดทั่วทั้งโลก จึงควรนำฐานข้อมูลที่แต่ละประเทศมีอยู่แล้วมาพัฒนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน สร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติ ซึ่งกสศ.เองได้ร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียน จัดตั้งเป็นกองทุนกลางเพื่อทำงานร่วมกันและเชื่อมโยงเครือข่ายในประเทศอื่นๆได้ในอนาคต” นายสุภกร กล่าว

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *