กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ร่วมเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งกลุ่มมวลชน ปราชญ์เพื่อความมั่นคงและภาคประชาชน โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิต เสริมสร้างอาชีพและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม อันสอดคล้องตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันที่มีเป้าหมายสร้างมูลค่าการผลิตด้านการเกษตร ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ผ่านกลไกลการขับเคลื่อนของศูนย์ประสานการปฏิบัติ ที่ 1 – 5 กอ.รมน.
การจัดกิจกรรม Kick-off เปิดตัว “โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลุ่มมวลชน โดยการยกระดับศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ครั้งที่ 3 ในวันที่ 7 มีนาคม 2563 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพราน อ.แสวงหา จ.อ่างทองนี้ ดำเนินการภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือการใช้ประโยชน์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ : ชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน
ในการนี้ ได้รับเกียรติจาก พลเอก กนก ภู่ม่วง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก ให้เกียรติกล่าวแสดงความยินดี โดยศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในการเปิดกิจกรรม Kick-off ครั้งที่ 3 ร่วมกับ พลตรีกฤษณะ วัชรเทศ รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฎิบัติที่ 1 กอ.รมน. และพันเอก ณัฐพงศ์ วานิกร รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดอ่างทอง กล่าวต้อนรับ พร้อมนี้ ผู้บริหารของ กอ.รมน.และจังหวัดอ่างทอง คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. คณะนักวิจัย กลุ่มมวลชนจากจังหวัดอ่างทอง กลุ่มพื้นที่ภาคกลาง 26 จังหวัด และจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมสนับสนุนกิจกรรม
ในระยะแรกของการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปเพิ่มศักยภาพและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ชุมชน มีนวัตกรรมพร้อมใช้ 5 เรื่อง ได้แก่
1)เครื่องอบแห้งอินฟราเรดแบบถังหมุน สู่ชุมชน 6 พื้นที่ ใน 6 จังหวัด โดย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
2)ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ สู่ชุมชน 10 พื้นที่ ใน 8 จังหวัด โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
3)ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจกหรือพาราโบล่าโดม สู่ชุมชน 4 พื้นที่ ใน 4 จังหวัด โดย มหาวิทยาลัยศิลปากร
4)เครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ สู่ชุมชน 18 พื้นที่ ใน 13 จังหวัด โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
5)เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้ สู่ชุมชน 231 พื้นที่ ใน74 จังหวัด โดย มหาวิทยาลัยนเรศวร
รวมชุมชนที่ได้รับประโยชน์ 269 ชุมชนทั่วประเทศ โดยในการจัดกิจกรรม ณ จังหวัดอ่างทอง เป็นพื้นที่ตัวแทนการรับมอบนวัตกรรมสู่ชุมชนของทัพภาคที่ 1 โดยมีปราชญ์เพื่อความมั่นคงและกลุ่มมวลชนกอ.รมน. ร่วมรับมอบนวัตกรรม เพื่อให้ชุมชนนนวัตกรรมำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาและลดต้นทุนการผลิต รวมทั้ง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพดีขึ้น
นวัตกรรมที่นำมาส่งมอบ ณ จังหวัดอ่างทอง ได้แก่
-เครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับ 6 ชุมชน
-เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้ 81 ชุมชน
จากจังหวัดในพื้นที่ของทัพภาคที่ 1
ภายหลังจากการจัดกิจกรรม คณะทำงานติดตามและประเมินผลสำเร็จของโครงการ ได้ร่วมประชุมหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจากการดำเนินงาน สำหรับนำไปพัฒนากระบวนการและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพตามความต้องการใช้ประโยชน์ของชุมชนและการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ ในการนำนวัตกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในระยะต่อไป