โรคปอดอักเสบในเด็ก รู้ทัน… ป้องกันได้

เรียบเรียงข้อมูล โดย พญ.วนิดา พิสิษฐ์กุล

หากพูดถึง ปอดอักเสบ หรือ ปอดบวม คนทั่วไปย่อมตระหนักถึงอันตรายและความรุนแรงของโรคนี้ โดยเฉพาะหากเกิดกับเด็กๆ ย่อมสร้างความกังวลใจและทุกข์ใจให้กับคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก ดังนั้น เราควรมาทำความรู้จักโรคปอดอักเสบหรือปอดบวมในเด็ก เพื่อที่จะได้ป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้โรคนี้เกิดขึ้นกับบุตรหลาน หรือหากบุตรหลานเป็นโรคนี้ก็จะป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

ปอดอักเสบ หรือ ปอดบวม (Pneumonia) เป็นภาวะที่มีการอักเสบในบริเวณเนื้อปอดบริเวณหลอดลมฝอยส่วนปลาย ถุงลมและเนื้อเยื่อรอบๆ ถุงลม อันเกิดจากการติดเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นเชื้อแบคทีเรียและไวรัสแตกต่างตามอายุอาจพบเชื้ออื่น เช่น วัณโรค หรือเชื้อราได้ พบว่าในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี สาเหตุของปอดอักเสบเกิดจากเชื้อไวรัส 42 เปอร์เซ็นต์

เชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่  เชื้อนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoniae), Gr.A Streptococcus, เชื้อฮิบ (Haemophilus influenzae type B) หรือเชื้อไมโครพลาสม่า (Mycoplasma pneumoniae) ส่วนเชื้อไวรัสที่พบบ่อยในเด็ก โดยเฉพาะ ได้แก่ RSV, ไข้หวัดใหญ่ ,human metapneumovirus(hMPV), Adenovirus,  Parainfluenza virus

โรคปอดอักเสบนับว่าพบบ่อยในประชากรเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี เด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 2.5กก. มีโรคหัวใจ มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีภาวะขาดอาหาร อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ ข้อมูลขององค์การอนามัยโรคพบว่า โรคปอดอักเสบเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อที่ทำให้เด็กเสียชีวิตที่พบบ่อยสุด และพบว่าเด็กที่เสียชีวิตอายุน้อยกว่า 5 ปี เกิดจากโรคปอดอักเสบ  15 เปอร์เซ็นต์

           การติดต่อของโรคปอดอักเสบ

1. หายใจเอาเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะอยู่ในละอองฝอยขนาดเล็กในอากาศซึ่งแพร่มาจากคนที่ไอจาม โดยเฉพาะบริเวณสถานที่ที่คนแออัด

2. สำลักเชื้อที่อยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนเข้าสู่ปอด เช่น สำลักน้ำลาย สำลักอาหาร โดยเฉพาะขณะนั้นมีการติดเชื้อทางเดินหายใจอยู่ก่อนแล้ว   

3. ทางกระแสเลือด จากที่มีการติดเชื้อที่บริเวณอื่นก่อนแล้วแพร่กระจายมาสู่ปอด

4. ลุกลามจากอวัยวะใกล้เคียง เช่น ฝีที่ตับแตกเข้าสู่ปอด

5. แพร่ผ่านจากมือคนที่มีสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโรคอยู่ไปสู่อีกคน

อาการของโรคปอดอักเสบ

เด็กที่เป็นโรคปอดอักเสบจะมีอาการไข้ ไอมีเสมหะหายใจเหนื่อยหอบ หรือหายใจลำบาก มีปีกจมูกบาน ขณะหายใจบริเวณชายโครงหรือหน้าอกบุ๋ม ปากเขียว หายใจดัง หรือมีอาการเจ็บหน้าอก

แนวทางป้องกัน

 ​1. หลีกเลี่ยงการไปในบริเวณสถานที่ที่คนแออัด โดยเฉพาะนำเด็กเล็กเข้าไป เช่น  ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์

​ 2. จัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ อากาศที่หนาวเย็นเกินไป 

 ​3. ควรหลีกเลี่ยงให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี หรือเด็กที่สุขภาพไม่แข็งแรงอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ

 ​4. แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป และแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคIPD (Invasive Pneumococcal Disease) ในกลุ่มเสี่ยงดังนี้ ผู้ที่ไม่มีม้ามแต่กำเนิดหรือได้รับการตัดม้ามออก มีโรตไตชนิดเนโฟรติก (Nephrotic Syndrome) มีโรคเรื้อรัง เช่น ไตวายหัวใจ ปอด เบาหวาน หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเด็กที่ฝากเลี้ยงที่สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก

จากความรุนแรงของโรคปอดอักเสบนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรจะให้ลูกหลีกเลี่ยงการเป็นโรคนี้ได้ตามที่กล่าวมา ทั้งนี้การเลี้ยงดูลูกน้อยให้มีสุขภาพดี การดื่มนมแม่เต็มที่โดยเฉพาะใน 6 เดือนแรกของชีวิต รวมถึงการได้รับประทานอาหารครบหมู่และมีประโยชน์ การพาลูกน้อยไปรับวัคซีนครบถ้วน การดูแลลูกน้อยให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดถูกสุขอนามัยอยู่เสมอ สอนลูกให้ล้างมือจนเป็นนิสัย หากลูกไม่สบายหมั่นสังเกตอาการและพาลูกไปพบกุมารแพทย์เมื่อมีอาการไม่ดีขึ้น ย่อมนำพาให้ลูกน้อยหลีกไกลจากโรคปอดอักเสบรวมถึงโรคติดเชื้ออื่นๆ ได้อีกด้วย

สามารถอ่านบทความและความรู้เกี่ยวกับสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thonburi2hospital.com/health-detail.php?id=60

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *