จับตา รฟท.ยังดึงดัน ชง คกก.คุมน้ำเมา ยกเลิกห้ามขายเหล้าเบียร์บนรถไฟ-สถานี 21 ก.พ.นี้ ด้าน “นักวิชาการ” ส่งข้อมูลสำรวจผู้โดยสาร พบ 77% ไม่เห็นด้วยอนุญาตขาย กังวลไม่ปลอดภัย-คุกคามทางเพศ ลืมไม่ลงเหตุการณ์ขี้เหล้า ข่มขืนฆ่าเด็ก 13 ปี คาขบวนรถไฟ ถามรัฐบาลสูญ 1.7 แสนล้านบาทยังไม่พออีกหรือ
จากกรณีที่จะมีการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันที่ 21 ก.พ. นี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่ากากรกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน โดยมีวาระการพิจารณาเรื่องการยกเลิกมาตรการห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟและสถานีรถไฟ ซึ่งเป็นเรื่องตีตกไปแล้วในการประชุมครั้งก่อน แต่มีรายงานว่าในการประชุมที่จะถึงนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ อีกครั้ง รวมทั้งจะมีการพิจารณาเรื่องวัน เวลา ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วย
ล่าสุดวันที่ 17 ก.พ. 68 รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เปิดเผยว่าจากการสำรวจความเห็นประชาชนต่อแนวคิดเปิดให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟของรัฐบาล เมื่อเดือนส.ค. 2567 จากกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้บริการรถไฟและสถานีรถไฟจำนวน 3,055 คน จาก 25 สถานีรถไฟจากทุกภูมิภาค พบว่า 77.2-84.2% ไม่เห็นด้วยกับการเปิดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟไม่ว่าจะเป็นการขายเฉพาะบางขบวน ขายเฉพาะช่วงเทศกาล หรือขายทุกช่วงเวลา โดยกลุ่มผู้ดื่มแอลกอฮอล์เป็นครั้งคราว 79.4%และกลุ่มที่ดื่มประจำ 66.9% ก็ไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ เพราะมีความกังวล เรื่องความไม่ปลอดภัยในการเดินทาง เสียงดังรบกวน/ความรำคาญ และความเสี่ยงในการถูกคุกคามทางเพศ
“เรายังพบว่า 86% ของผู้ตอบแบบสอบถามยังจำเหตุการณ์คนเมาก่อเหตุข่มขืนแล้วฆ่าเด็กหญิงวัย 13 ปี บนขบวนรถไฟ แล้วโยนศพออกจากหน้าต่างรถไฟเพื่ออำพรางคดี เมื่อปี 2557 ได้ ซึ่งเหตุการณ์นั้นก็เป็นที่มาของการออกกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟและบริเวณสถานี เราได้ส่งรายงานการสำรวจชุดนี้เข้าที่ประชุมประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปแล้ว ที่ประชุมควรนำมาประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบ” รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว
ด้านนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับรัฐบาลที่มุ่งแต่ใช้นโยบายเพิ่มอบายมุข เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีความพยายามจะยกเลิกเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลา 14.00-17.00 น. ยกเลิกการห้ามขายในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ให้ขายออนไลน์ได้ โดยให้เร่งไปศึกษาข้อมูลและจะให้มีผลก่อนสงกรานต์ปีนี้ หรือแม้แต่ความพยายามในการให้มีการขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนขบวนรถและสถานีรถไฟ ซึ่งทราบว่า จะมีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันที่ 21 ก.พ.นี้ จึงอยากเรียกร้องให้คณะกรรมการฯ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ หนักแน่นและกล้าหาญมากพอ ที่จะปกป้องคุ้มครองสุขภาพของประชาชนตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย มากกว่าโอนอ่อนไปตามผลประโยชน์ทางธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะท้ายที่สุดแล้วปัญหาทุกอย่างจะไหลมากองรวมอยู่ที่การบำบัดรักษาของฝ่ายสาธารณสุข คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท เข้าไปแล้วยังไม่พออีกหรือ
“เข้าใจว่ารัฐบาลอยากกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่คำถามสำคัญคือนโยบายส่งเสริมการกินดื่มเหล่านี้ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับใคร ประชาชนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์จากแนวนโยบายนี้มากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับผลกระทบต่อสังคมที่เกิดขึ้น มีคนป่วย เจ็บ ตาย พิการ ในขณะที่กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์แทบไม่ได้มาร่วมรับผิดชอบอะไรเลยกับ และการที่กลุ่มธุรกิจกล่าวอ้างว่าจะได้ประโยชน์กว่าห้าหมื่นล้านนั้น ที่มาที่ไปของตัวเลขมาจากไหน น่าเชื่อถือเพียงใด ที่อ้างว่าเป็นแรงจูงใจสำคัญให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นจริงหรือ เพราะไม่เคยพบข้อมูลว่านักท่องเที่ยวมีแรงจูงใจสำคัญมาจากการกินดื่ม แล้วที่ทำไปแล้วคือการขยายเวลาสถานบริการใน 5 พื้นที่นำร่องผ่านมาหนึ่งปีแล้ว ผลสรุปเป็นอย่างไร ได้สรุปบทเรียนกันหรือยัง เพราะที่แน่ ๆ อุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวตัวเลขมันชัดเจนมากตรงนี้ใครรับผิดชอบ ซึ่งในความเป็นจริงต้องทบทวนและยกเลิกมาตรการเสียด้วยซ้ำ” นายธีรภัทร์ กล่าว