เยาวชนงดเหล้า YSDN ชลบุรี รวมตัว อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พื้นที่สาธารณะเป็นทรัพยากรส่วนรวมวอน นักท่องเที่ยวและชุมชน ร่วมกันดูแลรักษา เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ

พื้นที่สาธารณะไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นทรัพยากรส่วนรวมของทุกคนในสังคม การดูแลรักษาและการใช้พื้นที่สาธารณะอย่างเหมาะสมถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน เพื่อปกป้องทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของสังคมโดยรวม เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการรักษาสิ่งแวดล้อม, เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีแก่สังคมและ และความเท่าเทียมในการใช้ทรัพยากร ซึ่งประเทศมุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เน้นภาพลักษณ์ในด้านธรรมชาติ วัฒนธรรม และความสงบสุข พฤติกรรมเช่นนี้อาจถูกตีความว่าเป็นผลมาจากการขาดการบังคับใช้กฎหมาย หรือการขาดจิตสำนึกในสังคม ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลต่อการท่องเที่ยว แต่ยังสะท้อนถึงการจัดการปัญหาในประเทศอีกด้วย

นางสาวอารีย์ เหมะธุลิน ผู้จัดการ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายงดเหล้าภาคตะวันออก กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2567 ได้มีการจัดกิจกรรมเยาวชนสร้างสรรค์ “ชายหาดสะอาด ปลอดภัย ปลอดเหล้า” ซึ่งทางเครือข่ายงดเหล้าจังหวัดชลบุรี ร่วมกับ ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยบูรพา โดยได้รับความอนุเคราะห์จากเทศบาลเมืองแสนสุข ซึ่งประสานกิจกรรมรณรงค์จากแกนนำเยาวชน YSDN ของเครือข่ายงดเหล้าจังหวัดฯ นำสู่กระบวนการปลูกฝังสร้างจิตสำนึกรักษ์ฯ หวงแหนสิ่งแวดล้อม และดูแลสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นทรัพยากรชองชาติ โดยการประชาสัมพันธ์รับสมัครเยาวชนอาสาเข้ามาร่วมกิจกรรม บำเพ็ญประโยชน์ จากสถานศึกษาต่างๆ ในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรี 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนชลราษฎรอำรุง, โรงเรียนชลบุรี “สุขบท”, โรงเรียนบ้านสวน (จั่นอนุสรณ์), โรงเรียนพนัสพิทยาคาร,โรงเรียนชลกัลยานุกูล กิจกรรมครั้งนี้ มีเยาวชนเข้าร่วมจำนวน 80 คน

น.ส.จันทกานต์ ปิ่นทองคำ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนชลบุรี“สุขบท” น้องป้อนข้าวผู้ริเริ่มกิจกรรมนี้ เปิดเผยว่า เคยไปเข้าร่วมกิจกรรมค่ายเยาวชนอาสาของ YSDN ของเครือข่ายงดเหล้าของจังหวัดชลบุรี แนวคิดกิจกรรมนี้ ด้วยพวกเรามีเพื่อนเครือข่ายโรงเรียนมัธยมกันอยู่ เราน่าจะร่วมกันลงมือทำกิจกรรมที่ง่ายๆ แต่สามารถเกิดประโยชน์กับส่วนรวมได้ ไม่ซับซ้อน ทำได้จากมือน้อยของพวกเรา จึงลงมติกันว่าเริ่มจากกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ “ชายหาดสะอาด ปลอดภัย ปลอดเหล้า” จะเป็นการเก็บขยะชายหาดบางแสน ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดบ้านเรา บางครั้งมาเที่ยวก็จะเห็นว่ามีขยะ มองแล้วไม่สบายตา ยิ่งช่วงนี้ ช่วงนี้อากาศจะเย็นๆ น้ำใสๆ นักท่องเที่ยวและคนแถวนั้น ก็จะซื้ออาหารและเครื่องดื่ม มานั่งรับประทานที่ชายหาดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจำนวนคนที่มาใช้บริการที่ชายหาด กับจำนวนคนที่จะต้องมาเก็บขยะไม่สมดุลกัน “คนทิ้ง..มากกว่าคนเก็บ” เลยทำให้มีจำนวนขยะมาก พวกเราจึงต้องออกมาช่วยกัน แนวคิดหลักๆก็คิดว่าจะช่วยลดขยะได้ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการรณรงค์ให้ทราบเกี่ยวกับการสนับสนุนให้งด ลดทิ้งขยะในพื้นที่สาธารณะ ภายใต้การรณรงค์งดดื่มเหล้า-งดสูบบุหรี่ ในพื้นที่สาธารณะอีกด้วย สำหรับขยะที่พบมากนอกจากถุงขนมกรุบกรอบ ส่วนมากจะเป็นขยะชิ้นเล็กๆ เป็นพวกฝาขวดเบียร์ ฝาขวดโซดา และก้นบุหรี่.

นายชินวัตร พิมเสน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนชลราษฎรอำรุง เยาวชน YSDN จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ชอบกิจกรรมแบบนี้ ซึ่งมีข้อดีทั้งกายใจ คือการเดินเก็บขยะช่วยให้ได้ออกกำลังกาย เป็นกิจกรรมกลุ่มช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารและการทำงานร่วมกัน เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่คนในชุมชน ผมคิดว่ากิจกรรมนี้จะช่วยส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนและชุมชน ได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการรักษาธรรมชาติ และลดผลกระทบของขยะที่มีต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำเพื่อสังคม กิจกรรมนี้ไม่เพียงช่วยลดปัญหาขยะที่ชายหาด แต่ยังสร้างเยาวชนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและมีจิตสำนึกในการพัฒนาสังคมอีกด้วย.

นางสาวอารีย์ กล่าวต่อว่า หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมน้องๆเยาวชนได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประเมินการเรียนรู้ผ่านระบบ Google Form พบบทเรียนสำคัญ คือ การเป็นจิตอาสาทำกิจกรรมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ท่องเที่ยว นอกจากจะได้ทำประโยชน์ ให้ชายหาดสะอาดแล้ว ยังช่วยให้เราเปิดใจเรียนรู้ / รู้จักเพื่อนใหม่ ด้วย ขณะเดียวกัน ยังสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น การรักษาความสะอาด การรักษาสิ่งแวดล้อม และการมีจิตอาสา

สำหรับการดูแลพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ หรือพื้นที่ริมทะเล เป็นหน้าที่ร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ชุมชนท้องถิ่น นักท่องเที่ยว และสังคมโดยรวม การที่เราออกมาช่วยกันดูแลและป้องกันขยะ “ทิ้งให้ถูกที่” มีการจัดกิจกรรมเก็บขยะชายหาด “นำเข้ามาก็ต้องนำออกไป” ช่วยกันดูแล โดยชุมชนและนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความมีส่วนร่วม ควบคุม และจัดระเบียบกิจกรรมริมทะเล การช่วยกันดูแลและป้องกันขยะ กำหนดโซนเพื่อป้องกันการรบกวนหรือการสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ธรรมชาติ โดยเฉพาะไม่ดื่มสุราและไม่สูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะพื้นที่ชายหาด ปัจจุบันมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน ขณะเดียวกันการปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์รณรงค์ผ่านสื่อและป้ายประชาสัมพันธ์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลทะเล และชายหาดเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากทุกคนร่วมมือกันในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม การควบคุมการปลูกฝังจิตสำนึกจะช่วยให้พื้นที่ริมทะเล ตลอดจนพื้นที่สาธารณะต่างๆ ยังคงความสวยงาม มีคุณค่า และเป็นมรดกทางธรรมชาติที่ยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อไป.

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *