วิทยาลัยการอาชีพอุดรธานี จ.อุดรธานี จัดโครงการ “กล่องความคิดในความเห็นต่าง” เปิดใจผู้สูบและไม่สูบบุหรี่ เสียงส่วนใหญ่เคาะ “สูบบุหรี่ไม่ได้เท่อย่างที่คิด คนรอบข้างเสี่ยงติดโรคจากควันบุหรี่” สสส. ชวนเยาวชนสร้างสรรค์คอนเทนต์พิษภัยปัจจัยเสี่ยงเหล้า-บุหรี่-อุบัติเหตุ เป็นเครื่องเตือนใจคนรอบข้าง
เมื่อเร็วๆนี้ ที่ วิทยาลัยการอาชีพอุดรธานี จ.อุดรธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรมโครงการ “กล่องความคิดในความเห็นต่าง” ร่วมแชร์ประสบการณ์คนสูบ-คนไม่สูบ คิดอย่างไรเมื่อได้กลิ่นบุหรี่ พร้อมเปิดใจ นักศึกษาได้รับผลกระทบควันบุหรี่มือสองจากพ่อจนเป็นโรคปอด ซ้ำร้ายย่าติดพนันต้องเผชิญอันตรายจากคนทวงหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักเรียนอาชีวศึกษา ป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา ลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มปัจจัยบวก
นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม (สำนัก10) สสส. กล่าวว่า โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ ) ในสถานศึกษา สร้างความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายครูและแกนนำนักศึกษาไปยังวิทยาลัยจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศแล้วรวม 45 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบในการเผยแพร่องค์ความรู้ และเป็นกำลังสำคัญในการช่วยป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหล้า บุหรี่ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงในเรื่องอื่นๆตามมาโดยเฉพาะอุบัติเหตุทางถนนจากการขับขี่รถจักรยานยนต์
“ในกลุ่มน้อง ๆ เยาวชนอายุประมาณ 15-29 ปี เป็นกลุ่มที่หลายฝ่ายมีแผนที่จะต้องป้องกันในด้านความเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มมาด้วย เนื่องจากพบว่า ส่วนใหญ่เกิดอุบัติเหตุแล้วไม่สวมหมวกนิรภัยทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิต ขณะเดียวกันความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น เรื่องการดื่มแล้วขับ พบว่าอัตราการเกิดอุบัติหตุและเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ 5 อันดับแรกอยู่ที่ เชียงราย เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา และอุดรธานี เป็นพื้นที่จับตาและเฝ้าระวังเพื่อให้ลดความเสี่ยง ทั้งการรณรงค์ให้สวมหมวก รณรงค์ไม่ให้ดื่มแล้วขับ เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ไม่อนุญาตให้ซื้อแอลกอฮอล์ สสส. และภาคีเครือข่ายจะทำงานเพื่อป้องกันกลุ่มเยาวชนต่อไป” นางก่องกาญจน์ กล่าว
ดร.สุนทรผไท จันทระ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพอุดรธานี จ.อุดรธานี กล่าวว่า ทางวิทยาลัยมีมาตรการป้องกัน การตั้งครูเวรยามหน้าโรงเรียน ทุก ๆ เช้าจะมีหน้าที่ค้นกระเป๋าเพื่อป้องกันการพกบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้ามาสูบในวิทยาลัย เป็นการแก้ไขด่านแรก ๆ เพื่อไม่ให้ปัจจัยเสี่ยงเข้ามาในรั้วสถานศึกษา ขณะเดียวกันการได้เข้าร่วมโครงการของ สสส. จึงเป็นโอกาสดีกับกลุ่มแกนนำทั้งครูและเด็ก ทำให้เด็กมีแนวคิดที่ดีมากอย่างโครงการที่เขาร่วมกันคิดค้นขึ้นมา ข้อดีคือเด็กกล้าที่จะเปิดใจว่าสูบหรือไม่สูบทั้งผู้หญิงและผู้ชาย พอกล้าพูดก็เป็นการแชร์ประสบการณ์กันและสามารถจูงใจให้เด็กที่สูบ หรือยังไม่เริ่มได้เห็นภาพของปัญหาว่าถ้าสูบไปจะเจอปัญหาอะไรบ้าง
“จริง ๆ เด็กอยากรับรู้ความรู้สึกมากกว่า ว่าการสูบหรือไม่สูบมันเป็นอย่างไร การสูบสังคมยอมรับแบบได้ไหม การสูบเหมือนจะเท่ แต่สังคมไม่ได้ต้องการคนแบบนี้ พอได้แชร์ความรู้สึกกันเด็กได้อะไรมากกว่าที่คิด ถ้าสูบเพื่อนก็ไม่ได้รู้มองว่าคนสูบเท่ บุหรี่เป็นตัวตั้งต้นของทุกอย่างนำไปสู่ปัญหายาเสพติด ผอ.เอง ก็เคยอยู่ใสังคมวัยรุ่นมาก่อนแล้วเราจะเห็นเพื่อนใช้บุหรี่ เหล้าจนลุกลามไปถึงยาเสพติดที่รุนแรงถึงขั้นที่ถอยตัวไม่ได้ ต้องออกจากการเรียนกลายเป็นคนป่วย ฝากเด็ก ๆ ว่าอย่าเริ่มเพราะเริ่มแล้วก็ถอนตัวไม่ทัน ชีวิตเราเปลี่ยนจนติดลบทันที” ดร.สุนทรผไท กล่าว
ขณะที่ นายวิทยา พึ่งไทยสงค์ วิทยาลัยการอาชีพอุดรธานี ครูแกนนำ กล่าวว่า การจัดโครงการ “กล่องความคิดในความเห็นต่าง” เป็นโครงการที่นักศึกษาของวิทยาลัยร่วมกันคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา เกิดจากการที่พบปัญหาว่าเพื่อนๆ มีทั้งผู้ที่สูบ ผู้ที่เคยสูบและผู้ที่ไม่เคยสูบ มานั่งแชร์ประสบการณ์และเปิดทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกร่วมกัน ปัญหาของคนสูบบุหรี่คือมีปัญหาเรื่องที่บ้าน ความเครียดสะสม หรือความอยากรู้อยากลองตามเพื่อน ส่วนผู้ที่ไม่สูบจะเหม็นกลิ่นบุหรี่และไม่อยากอยู่ใกล้คนสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การชักชวนให้ผู้ที่สูบลด ละ เลิกในที่สุด ขณะเดียวกันเรามีแกนนำชมรมวิชาชีพที่จะคอยค้นหากลุ่มเสี่ยงในสถานศึกษาและรายงานต่อครูอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ปัจจัยเสี่ยงหมดไปจากสถานศึกษา 100 เปอร์เซ็นต์
“เมื่อคนสูบกับไม่สูบมีการอภิปรายกัน และเสียงส่วนใหญ่เคาะว่า เพื่อนไม่ชอบกลิ่นบุหรี่ สิ่งที่เห็นตอนนี้ในจุดที่เคยมีการบุหรี่ไม่มีแล้วลดน้อยลง ก้นบุหรี่แทบจะไม่มีแล้ว แต่ที่เฝ้าระวังคือบุหรี่ไฟฟ้าแต่ยังไม่เยอะซึ่งครูทุกคนช่วยกำกับดูแลสอดส่องอยู่ เปลี่ยนมุมอับเป็นมุมสว่าง วิทยาลัยเราอยู่ห่างจากชุมชนค่อนข้างมากรอบข้างเป็นป่า ดังนั้นปัจจัยเสี่ยงมีเยอะเราจึงเน้นให้เด็กหันมาทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมโฟล์คซอง ที่สนุกและเกิดความคิดสร้างสรรค์ จนไม่หันไปโฟกัสการสูบบุหรี่” นายวิทยา กล่าว
นายจิรพันธุ์ คำโฮง นักศึกษาแกนนำ สาขาการจัดประชุมและนิทรรศการ วิทยาลัยการอาชีพอุดรธานี กล่าวว่า ปัญหาที่พบในวิทยาลัยคือการสูบบุหรี่ ก่อนจะทำโครงการนี้ โรงจอดรถจักรยานยนต์ถือเป็นจุดอับที่มักจะพบเห็นนักศึกษาสูบบุหรี่จำนวนมาก ทำให้คนที่ขับรถมาจอดเจอปัญหากลิ่น ก้นบุหรี่และก้นบุหรี่กระจายไปทั่ว ซึ่งประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้ร่วมแชร์ “กล่องความคิดในความเห็นต่าง” เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้เพื่อน ๆ ก่อนหน้านี้คุณพ่อสูบบุหรี่จัดมากทำให้ตนเองเป็นโรคปอดจนต้องพ่นยาอยู่ตลอด แต่ปัจจุบันพ่อเลิกบุหรี่แล้วทำให้อาการดีขึ้น หลังจากได้ร่วมกิจกรรม สสส. ทำให้ยิ่งตระหนักถึงปัญหาและโทษของเหล้าบุหรี่ ซึ่งข้อดีอีกอย่างคือสามารถทำให้เพื่อนปรับเข้าหากันได้ ใจเขาใจเราและเตือนเพื่อนให้หันหลังให้กับปัจจัยเสี่ยงทุกอย่างได้