นายสมเกียรติ วิริยะกุลนัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ “PRIMATES AND ME” หรือ ไพรเมตส์ แอนด์ มี เรียนรู้วานร เข้าใจมนุษย์ ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเป็นการนำนิทรรศการจากพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มาจัดแสดงให้นักท่องเที่ยว เยาวชน และผู้คนในชุมชนภายใต้พื้นที่มรดกแห่งอาเซียนได้เรียนรู้ โดยสมาคมการท่องเที่ยงเขาใหญ่หวังว่านิทรรศการนี้จะช่วยเสริมสร้างเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เบื้องลึกของมนุษย์และวานร และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำชมนิทรรศการภายในงาน
นายสมเกียรติ วิริยะกุลนัน ได้กล่าวถึง Climate change มีผลกระทบไม่เพียงต่อสัตว์ป่า แต่ยังรวมถึงชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย จึงอยากพัฒนาเขาใหญ่ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ โดยการพัฒนาคือทำอย่างไรให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากที่สุด
นิทรรศการดังกล่าวเคยถูกจัดขึ้นครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดปี 2566 จนถึงกุมภาพันธ์ 2567 และเนื้อหาของนิทรรศการได้ครอบคลุมความรู้หลากหลายศาสตร์ ซึ่งความน่าสนใจดังกล่าว ประกอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาชะนีที่สำคัญแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งนักวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง ดร.วรเรณ บรอคเคลแมน ก็ยังได้ทำการศึกษาชีวิตสัตว์ป่าจากที่เขาใหญ่อีกด้วย
นายชัยยา ห้วยหงส์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้ทำการกล่าวต้อนรับนักท่องเที่ยว และกล่าวเปิดกิจกรรมโดย นายอรรถพล เจริญชันษาอธิบดีกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตามด้วยกิจกรรมภาคเช้า ซึ่งประกอบไปด้วย Sounds Seeing: Sounds Of Earth สัมผัสเสียงจากธรรมชาติให้คุณได้ยินจนมองเห็น โดยจอห์น รัตนเวโรจน์ ประธานสมาคมเครือข่าย เพื่อการเรียนรู้เท่าทันดิจิตอลเทคโนโลยี ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
โดยภายในงาน อาจารย์เภสัชกร ดร.วีระพงษ์ ประสงค์จีน อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ และอาจารย์พิเศษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการชวนสนทนาเกี่ยวกับ Primates โดยให้วิทยากรแต่ละท่านกล่าวถึง Primates และพื้นที่ตามบริบทของวิทยากรแต่ละท่าน
การเสวนาหัวข้อ Primates and Me with World Heritage โดย ร.ศ. ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ณัฎฐินี ทองดี ผอ.สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน และ นสพ. ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฏินี ทองดี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ได้กล่าวถึงบทบาทของพิพิธภัณฑ์กับความเข้าใจเรื่อง Primates และสภาพแวดล้อมของโคราช โดย ผอ.ได้กล่าวถึงภารกิจของพิพิธภัณฑ์ฯ คือ 1) งานวิชาการ มีการขุดค้น ศึกษาและวิจัย เพื่อให้ความรู้ในเรื่องของ Primates และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ 2) งานบริการวิชาการ มีกิจกรรม Course Class Camp เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และเชื่อมโยงกับพิพิธภัณฑ์ฯ นอกจากนี้ทาง ผอ.พิพิธภัณฑ์ฯ ยังได้กล่าวถึงเรื่องราวที่คนโคราชควรเรียนรู้ นั่นคือ บทบาทของ Korat Fossil Museum ที่ได้จัดตั้งขึ้นในปี 2537 สิ่งที่ได้ค้นพบ อาทิ ไฮยีน่าในอำเภอเมือง ช้างดึกดำบรรพ์ 10 สกุล ยีราฟคอสั้น เต่าบกยักษ์ รวมถึงการพบวานรโคราช ซึ่งพบฟันกรามของวานรที่สมบูรณ์ มีอายุประมาณ 9-7 ล้านปี เป็นต้น โดยโคราชถือเป็นรอยต่อที่สำคัญที่จะบอกเล่าสิ่งมีชีวิตบนโลกได้ ดังคำนิยามที่ว่า “โคราชมหานครบรรพชีวิน”
รองศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงความสนใจ สิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนม และวานรของนักมานุษยวิทยา โดยอาจารย์ได้ให้ความคิดเห็นว่า ทางมานุษยวิทยามีการศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์ และการศึกษาลิงในนักมานุษยวิทยา เริ่มจากการเปรียบเทียมอวัยวะไม่ว่าจะเป็นนิ้วมือ นิ้วเท้า ต่อมาจะสนใจในเรื่องของพฤติกรรมของลิง โดยการศึกษาในอดีตจะเป็นการนำลิงมาศึกษาในห้องวิจัย ต่อมาเป็นการศึกษาในพื้นที่ ทั้งนี้การทดลองลิง หรือศึกษาวิจัยเกี่ยวกับลิงจะมีกฎหมายและเรื่องของจริยธรรมมารองรับด้วย นอกจากนี้นักมานุษยวิทยาจะทำการศึกษาสิ่งมีชีวิตอื่นๆนอกเหนือมนุษย์ก็เพื่อจะเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์และอยู่ร่วมกันกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้ อาจารย์ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงความสำคัญของพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงเขาใหญ่ ถือเป็นพื้นที่ในการศึกษา Primates ที่สำคัญมากของโลกอีกพื้นที่หนึ่ง
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้กล่าวว่า Climate change จะทำให้สิ่งมีชีวิตได้เรียนรู้และปรับตัว ผู้ที่ปรับตัวได้คือผู้ที่อยู่รอด สิ่งนี้ถือเป็นกลไกสำคัญของสิ่งมีชีวิต ทั้งนี้การอุบัติของโรคใหม่ๆ หรือการเกิดขึ้นของเชื้อโรคก็เป็นสิ่งที่สามารถติดต่อกันได้ระหว่างคนและลิง พร้อมได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาลิงในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา กล่าวคือ ปัญหาของลิงเขาใหญ่ เกิดจาก 1) พฤติกรรมผิดธรรมชาติ ซึ่งสืบเนื่องจากการที่ลิงรู้พฤติกรรมของมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีการป้องกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลิงก็มีการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอดตลอดเวลาเช่นกัน 2) การรบกวน ทำร้ายมนุษย์ ขโมยสิ่งของ และ 3) ปัญหาการติดต่อโรคระหว่างคนและสิง ดังนั้นทางอุทยานฯ จึงมีมาตรการควบคุมเคลื่อนย้ายลิงรายตัว โดยเฉพาะจ่าฝูง และเคลื่อนย้ายทั้งฝูง โดยจะมีการตรวจความสมบูรณ์ของโครงสร้างร่างกาย และภาวะโรคติดต่อ ก่อนที่ตัวสมบูรณ์จะนำกลับคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งวิธีการดังกล่าว ได้ถูกนำมาเป็นต้นแบบในการจัดการปัญหาลิงที่ลพบุรีในปัจจุบันด้วย
คุณพันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการจัดนิทรรศการและเสวนาในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่มีพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์กว่า 1.3 ล้านไร่ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวมากถึง 1.4 ล้านคนในปี 2023 แต่เราซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่รู้จักเรื่องราวของตนเองน้อยมาก เราจึงจำเป็นต้องมีการจัดการพื้นที่ให้มนุษย์และสัตว์อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน พร้อมทิ้งท้ายว่าอยากให้ชาวโคราชและเขาใหญ่ช่วยกันนำองค์ความรู้ต่างๆ ที่มี มาร่วมกันพัฒนา โดยเฉพาะประเด็น Wildlife หรือสัตว์ป่า เพื่อไม่ให้การท่องเที่ยวกระจุกเพียงฤดูกาลใดฤดูกาลหนึ่ง แต่ให้เกิดการท่องเที่ยวตลอดปีเป็นสำคัญ และปิดท้ายกิจกรรมด้วยการรับประทานอาหารกลางวัน รูปแบบ PINTO GO ROUND
“Primates and Me” จึงถือเป็นความร่วมมือกันของหลากหลายหน่วยงานอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน และภาคีเครือข่ายมากมายที่ช่วยสนับสนุน ที่นำเอานิทรรศการดังกล่าวมาสัญจรจัดที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวแห่งนี้ตลอดปี 2567 และจะสัญจรไปในยังพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ซึ่งเป็นการขยายขอบข่ายความรู้ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นในเมืองสามมรดกโลก จ.นครราชสีมา เพื่อให้ผู้ที่สนใจ และนักท่องเที่ยวเข้ามาทำความเข้าใจ Primates และเพื่อรู้จักตัวเราเองตามชื่อของนิทรรศการที่ว่า “Primates and me: เรียนรู้วานร เข้าใจมนุษย์”
For more information ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมโทร:094-239-3916 Facebook : สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่