วงเสวนาครบรอบ 16 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบข้อมูลในรอบสิบปีชี้ชัดคนดื่มลดลง อุบัติเหตุลดลง

วงเสวนาครบรอบ 16 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบข้อมูลในรอบสิบปีชี้ชัดคนดื่มลดลง อุบัติเหตุลดลง ด้านที่ปรึกษา WHO ย้ำต้องคงมาตรการ คุมการขาย-การโฆษณา ต้องเข้มแข็ง ยืนยัน ไม่เป็นการละเมิดสิทธิ เสรีภาพ แต่ช่วยสร้างความเท่าเทียมด้านสุขภาพ ปกป้องเด็กและเยาวชน

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า และขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ร่วมกันจัดเสวนา “ครบรอบ 16 ปี พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับสังคมไทย” ภายในงานมีการมอบดอกไม้ให้กำลังใจ และมอบเงินช่วยเหลือนายปรีชา จินดาแดง คุณพ่อของน้องทรูวัย 13 ปี นักเรียนนักกิจกรรมจิตอาสา ที่ต้องจากไปเพราะคนเมาแล้วขับเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาระหว่างทำหน้าที่ช่วยงานกู้ภัยบนท้องถนน

รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้จะครบรอบ 16 ปี ของการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจากการประเมินผลพบว่า การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มข้นพอ ทำให้มีกลุ่มธุรกิจอาศัยช่องว่างของกฎหมายส่งเสริมการตลาด ส่งผลให้การส่งรณรงค์ให้คนลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงในเปอร์เซ็นไม่มากนัก ซึ่งเมื่อเทียบปี 2550 และ 2564 ในภาพรวม ลดลง 2 % โดยเพศชายลดลง 5.9 % แต่ถ้าดูที่ปริมาณการดื่มกลับพบว่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยช่วงก่อนปี 2551 มีการบริโภคแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น 0.18 ลิตร/ปี หลังปี 2551 มีปริมาณแอลกอฮอล์ที่บริโภคเพิ่มขึ้น 0.02 ลิตร/ปี สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลปีใหม่ลดลง 12.2% เทศกาลสงกรานต์ ลดลง 9.5% ปี

รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวคิดแบบเสรีนิยมมากขึ้น เห็นได้จากผลการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมา และมองว่า มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการจำกัดการโฆษณา จำกัดการขาย จำกัดการเข้า รวมถึงมาตรการทางภาษี ถูกตีตรา เหมารวมว่าเป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจควบคุมเสรีภาพของประชาชน จนเกิดการต่อต้านมาตรการเหล่านี้และเคลื่อนไหวให้มีการยกเลิกการควบคุม หรือทำให้มาตรการลดความเข้มข้นลง อย่างไรก็ตาม ตนในฐานะนักวิชาการซึ่งได้เห็นข้อมูลวิชาการที่น่าเชื่อถือจากทั้งในและต่างประเทศ ขอเสนอเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า 1. ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างรอบด้าน รวมถึงผลกระทบ และผลการลดปัญหาจากมาตรการต่าง ๆ 2. มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นำมาใช้ในประเทศไทยใช้หลักการเดียวกับระดับเป็นสากล (WHO SAFER) 3. ตนยอมรับว่า มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เห็นผลว่าสามารถลดปัญหาได้ มีส่วนจำกัดเสรีภาพอยู่แต่ก็เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนโดยรวม เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมทั้งผู้ดื่ม ครอบครัว และสังคมโดยรวม จึงจำเป็นต้องมีการจำกัด ซึ่งการมีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่สามารถลดจำนวนคนดื่ม ลดปัญหาได้จริง จึงสนับสนุนให้ใช้มาตรการเหล่านี้ต่อไป และบังคับใช้อย่างเข้มข้น หากจะมีการปรับปรุงแก้ไขกฏหมายก็ต้องให้ดีขึ้นไม่ใช่ใหเอ่อนแอ

ด้านศาตราจารย์ เจเก้น รีม (Professor Jϋrgen Rehm) ที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกด้านแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ข้อมูลปี พ.ศ. 2560 มีประเทศหนึ่งลดการจำหน่ายในวันอาทิตย์ จาก 14 ชั่วโมง เหลือ 5 ชั่วโมง ซื้อจากร้านกลับบ้านได้เฉพาะเวลา 10.00-15.00 น. ส่วนร้านอาหารยังซื้อได้ตามปกติ ทำให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ความรุนแรงลดลง สถิติการเข้าห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลลดลง ขณะที่ข้อมูลในเมืองหนึ่งของอังกฤษพบว่า เมื่อเพิ่มเวลาเปิดบาร์ ทำให้มีความรุนแรงเพิ่ม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ความรุนแรงด้านต่างๆ จะเพิ่มขึ้น หรือลดลงขึ้นอยู่กับช่วงระยะเวลาที่ให้ขายแอลกอฮอล์ได้ ที่สำคัญองค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติ มีข้อแนะนำว่า การตัดสินใจเรื่องกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ควรปลอดจากอิทธิพลของภาคธุรกิจ ในส่วนของประเทศไทย การมีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งตอนที่ออกมาถือว่านำเทรนด์ และทำได้ดี ส่งผลให้จำนวนนักดื่มไม่ได้เพิ่มขึ้น เหมือนประเทศเพื่อนบ้านที่มีสัดส่วนนักดื่มมากกว่าไทยถึง 30% นี่คือความเข้มแข็งทางสภาพสังคมและนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮลอ์ของรัฐที่ตั้งไว้ หากมาตรการดังกล่าวตกลงไป การบริโภคก็จะเพิ่มสูงขึ้น

ศาตราจารย์ เจเก้น รีม กล่าวต่อว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนและสังคม การควบคุมการขาย การโฆษณา ประกอบกับมาตรการทางภาษี จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมทางด้านสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นการอ้างเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจจากธุรกิจแอลกอฮอล์จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะภาพที่แท้จริงมีความซับซ้อนมากกว่านั้น หากมีการผ่อนปรนการควบคุมมากเกินไปก็จะส่งผลเสีย และที่สำคัญคือการให้ซื้อแอลกอฮอล์ได้ตอนตีสี่ครึ่ง ไม่ใช่สิทธิมนุษยชน และไม่ใช่เสรีภาพ แต่สิทธิที่ควรมีการพูดถึงคือการปกป้องชีวิตของทุกคนจากปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ที่อายุไม่เกิน 20 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่สมองกำลังพัฒนา จึงมีโอกาสได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่อนข้างมาก สังคมจึงต้องร่วมกันปกป้องโดยมีกฎหมาย หรือมาตรการควบคุมการสื่อสารการตลาด การโฆษณา โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดียเข้าถึงกลุ่มเยาวชน

ผศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การที่ทุกประเทศไม่ปล่อยให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถขายได้อย่างเสรี เพราะมองว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าทั่วไป แต่เป็นสินค้าที่คนขายพอขายไปแล้วมีรายได้เขาก็จบ แต่หลังจากนั้นกลับทำให้คนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ผลกระทบภายนอกทางลบ จากการที่คนเมาแล้วขับบางคนเสียชีวิต บางคนต้องพิการ ส่งผลทำให้ผลิตภาพแรงงานลดลง อาชญากรรมสูงขึ้น ต้นทุนทางการแพทย์สูงขึ้น และการที่คนดื่มอ้างว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของเขาที่จะดื่ม แม้ว่าจะอายุสั้น แต่ที่จริงไม่ได้ส่งผลแค่ตัวเอง แต่ส่งผลถึงบุคคลที่สามด้วย เช่น หากคุณตายเร็ว ประเทศก็สูญเสียกำลังแรงงาน หรือหากคนเป็นครูบาอาจารย์ถึงจะอื่มเมาคนเดียว แต่พอตื่นมาเกิดอาการแฮงค์ ก็ส่งผลต่อคุณภาพการสอนลูกศิษย์ ลูกศิษย์ก็เสียประโยชน์ที่จะได้รับการสอนที่มีคุณภาพด้วย ดังนั้นในมิติทางเศรษฐศาสตร์ รัฐบาลทุกประเทศจึงต้องควบคุมให้เสรีไม่ได้ หากปล่อยเสรีจะทำให้การบริโภคของคนจะสูงกว่าระดับที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นรัฐต้องควบคุม เก็บภาษีให้สูง ต้องมีกฎหมาย ให้มีหลายมาตรการควบคู่กัน เพื่อให้มั่นใจว่าการบริโภคของประชาชนจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม และมีประสิทธิผล

ผศ.ดร.ชิดตะวัน กล่าวต่อว่า นอร์เวย์ ทั้งๆ ที่เขาเป็นประเทศเสรี แต่ก็ห้ามดื่มที่สาธารณะ หามโฆษณาทุกแบบ เก็บภาษีสูงมาก มีกาควบคุมการขาย โดยวันจันทร์-ศุกร์ ให้ขายถึง 2 ทุ่ม วันเสาร์ ปิดหกโมงเย็น ส่วนอาทิตย์งดจำหน่าย และวันหยุด โดยเฉพาะวันหยุดสำคัญทางศาสนา จะเข้มงวดมาก ซึ่งมาตรการเหล่านี้นี้เริ่มตั้งแต่ปี 1900 ขณะที่การควบคุมของไทยเริ่ม 2475 แล้วมาบอกว่าล้าหลัง จริงๆ ที่นอร์เวย์ก็มีคนอยากเปลี่ยนแปลง แต่น่าชื่นชมนักการเมืองส่วนใหญ่ของเขา และประชาชนบอกว่าไม่ได้ เพราะถ้าผ่อนคลายมากขึ้น จะทำให้นอร์เวย์ซึ่งมีจีดีพีต่อหัวสูง ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศที่พัฒนาทางเศษฐกิจดี ก็จะไม่เป็นแบบนี้อีก เพราะก่อนที่เขาจะควบคุม ประชาชนเป็นโรคจากการบริโภคสุราเยอะ พอควบคุมแล้วตอนนี้สังคมสงบ คนมีความสุข แล้วจะเปลี่ยนทำไม “ในฐานที่เราเป็นนักเศรษฐศาสตร์ และไปเรียนต่างประเทศมาก็มองว่า บางเรื่องถ้ามันดีอยู่แล้ว ต่อให้จะทำมานานแค่ไหน ก็ไม่ได้เป็นการล้าหลังอะไร ของดีก็ต้องรักษาไว้ ของไม่ดีก็ต้องเลิก อะไรที่ดีอยู่แล้วคงแปลกที่เราจะไปเลิกมัน” ผศ.ดร.ชิดตะวัน กล่าว.

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *