ชู 10 นวัตกรรมเด่น ยกระดับคุณภาพบริการสุขภาพในสถานพยาบาลเพื่อทุกคน

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 ที่ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน หลักสี่ กรุงเทพฯ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) จัดงาน วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก ครั้งที่ 5 (The 5th World Patient Safety Day) และ วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ครั้งที่ 7 (The 7th Thailand Patient and Personnel Safety Day) ภายใต้แนวคิด Engaging patients for patient safety ประจำปีงบประมาณ 2566 พร้อมประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อน Patient Safety ร่วมกับประเทศอื่นๆ และประกาศนโยบายขับเคลื่อนเรื่อง Patient Personnel and People Safety (3P Safety) มีเป้าหมายเพื่อประเทศไทยก้าวสู่ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อทุกคน โดยมีการนำเสนอผลงานนวัตกรรม 2P Safety Tech โดยมีโรงพยาบาลและหน่วยงานสุขภาพ 17 องค์กร และบุคลากรสาธารณสุขเข้าร่วม พร้อมมอบรางวัลสำหรับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 2P Safety

แพทย์หญิงปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่อง Patient Safety ดำเนินการมายาวนานกว่า 20 ปี โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยประเทศไทยบูรณการไปกับกลไกการพัฒนาคุณภาพ จากการประชุมสมัชชาอนามัยโลกปี ค.ศ. 2002 ประกาศเรื่อง Quality of Care กับ Patient Safety ชวนประเทศสมาชิกทั่วโลกช่วยกันขับเคลื่อน แต่ยังพบอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์ในระบบบริการสุขภาพนำความไม่ปลอดภัยมาสู่ผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ประกาศครั้งที่ 2 มุ่งเน้นให้เกิดการปฏิบัติ Global Patient Safety Action โดยเชิญชวนให้ประเทศสมาชิก ที่จัดให้มีงาน World Patient Safety Day ซึ่งตรงกับวันที่ 17 กันยายน ค.ศ.2017 และครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 สำหรับประเทศไทยขับเคลื่อนเรื่อง Patient  Safety คู่ขนาน กับ Personnel Safety ซึ่งประกาศเป็นนโยบาย 2P Safety โดยรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขในวันที่ 16 กันยายน 2016  ทำให้ประเทศไทยเราจัดวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย มาก่อนหน้านั้น 2 ปี ตั้งแต่ 17 กันยายน 2017 ครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่ 7 ของไทย และขยับเพิ่มเป้าหมายจาก 2P Safety เป็น 3P Safety (Patient Personnel and People) ที่เชิญชวนวางระบบและพัฒนาเพื่อความปลอดภัยครอบคลุมถึงประชาชน รวมถึงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัย เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะปลอดภัยจากบริการสุขภาพ

“ถามว่าเราจะออกแบบระบบบริการสุขภาพอย่างไร ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม นั่นหมายความว่า ทั้งโรงพยาบาล ผู้ป่วย ประชาชน มาร่วมเป็นหนึ่งในบุคคลที่จะช่วยกันให้ความสำคัญในการค้นหาสิ่งต่างๆ เป็นทีมร่วมกันก็จะทำให้เรานั้นมีความปลอดภัยด้วยตัวเราเอง ยกตัวอย่าง เช่น ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัย ง่ายๆ เลยถ้าเราเป็นประชาชน เรารู้ว่าตัวเองแพ้ยาอะไร เรารู้หมู่เลือดของตัวเอง เรารู้โรคประจำตัวของตัวเอง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้แพทย์และพยาบาลต้องซักประวัติอยู่แล้ว แต่มันสามารถทำให้เกิดขึ้นในเชิงระบบได้ แต่หากเราในฐานะผู้ป่วยเป็นผู้ให้ข้อมูลเองตั้งแต่แรก ก็จะมีส่วนช่วยไม่ให้เกิดการแพ้ยาซ้ำ การกินยาผิดพลาด หรือแม้แต่การทวนชื่อนามสกุลก่อนจ่ายยา เพื่อป้องกันการจ่ายยาผิดพลาดก็เป็นเรื่องที่เราควรให้ความใส่ใจ อย่ารำคาญเวลาถูกถามบ่อยๆ เพราะนั่นเป็นการย้ำว่า รักษาถูกคน ถูกที่ ถูกเวลา สิ่งเหล่านี้เราสามารถมีส่วนร่วมกันได้ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง และช่วยลดปริมาณผู้ป่วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความปลอดภัย เพราะการที่มีผู้ป่วยจำนวนลดลง จะช่วยให้บุคลากรที่มีอย่างจำกัด สามารถทำงานได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ” แพทย์หญิงปิยวรรณ กล่าว

แพทย์หญิงปิยวรรณ กล่าวอีกว่า ‘นวัตกรรม’ เป็นอีกส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความปลอดภัย กล่าวคือ เวลาที่เราออกแบบระบบบริการดูแลผู้ป่วย จะมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 3 อย่าง คือ 1. บุคลากรในการทำงาน ซึ่งมีส่วนสำคัญ ทั้งจำนวนและศักยภาพ 2. ระบบหรือกระบวนการ (Process) เราต้องออกแบบระบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ 3. เทคโนโลยี ดังนั้นถ้าเรามีทรัพยากรอย่างจำกัด แต่เรายังต้องให้บริการกับประชาชน เราจำเป็นต้องมีการออกแบบบริการให้สามารถเกิดความปลอดภัยได้ โดยมีเทคโนโลยีมาสนับสนุนหรือการปรับกระบวนการ ต้องยอมรับว่ามนุษย์เราทุกคนมีโอการเกิดความผิดพลาดได้ แต่บุคลากรสาธารณสุขไม่เคยตั้งใจที่จะทำให้เกิดข้อผิดพลาดกับประชาชนที่มารับบริการ ดังนั้น เราจึงใช้หลักคิด Human Factor Engineering คือ การใช้เทคโนโลยีเชิงวิศวกรรมมาออกแบบระบบลดข้อผิดพลาดที่มีโอกาสเกิด ช่วยให้มนุษย์สามารถทำงานได้ คล่องขึ้น ปลอดภัยขึ้น ด้วยความเข้าใจข้อจำกัดของมนุษย์

“จริงๆ ทุกโรงพยาบาลมีความพยายามที่จะพัฒนาให้ระบบบริการมีความปลอดภัยและส่งมอบบริการที่ดีให้กับผู้ป่วย ทีนี้ในคำว่ากระบวนการพัฒนา การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ บางคนอาจจะคิดถึงเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า ทันสมัย แต่จริงๆ อาจจะเป็นเทคโนโลยีง่ายๆ ที่นำมาประยุกต์กับงานได้ เชื่อว่าทุกโรงพยาบาลพยายามที่จะผลักดันในการวางระบบภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ เพื่อส่งมอบระบบบริการ ถ้าถามว่ามีจำนวนโรงพยาบาลเท่าไหร่ที่พัฒนา เชื่อว่าไปที่โรงพยาบาลไหนก็จะเห็นการพัฒนาเรื่องต่างๆ เหล่านี้แทบทุกโรงพยาบาล” ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าว

ยกตัวอย่างนวัตกรรมที่ได้นำมาเสนอในเวที ซึ่งเป็นการพัฒนาการมีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัย ซึ่งได้รับรางวัล The Best 0f Collaboration and Network นวัตกรรม “ศูนย์ปันสุข ร่วมกับเครือข่าย ดูแลต่อเนื่องทุกกลุ่มวัยใกล้บ้าน ใกล้ใจ” โดย โรงพยาบาลคูเมือง จ.บุรีรัมย์ 

นายแพทย์กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคูเมือง กล่าวถึงนวัตกรรมดังกล่าวว่าจุดเริ่มต้นของการพัฒนา คือ จ.บุรีรัมย์ มีปัญหาคล้ายๆ กับในหลายพื้นที่ คือจำนวนผู้สูงอายุเยอะขึ้น ซึ่งเดิมมีเครือข่ายที่ร่วมกันทำงานอยู่แล้ว ได้นำเอากลุ่มประชากรที่อยู่ในความดูแล ที่มีจำนวนมากที่สุดคือกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มาจัดการก่อน ทั้งในรูปแบบ Intermediate Care (IMC), Long-Term Care (LTC) และ Palliative Care (PC) โดยพยายามสรุปภาพออกมาว่า มีกำลังคนและบุคลากรอยู่จุดไหนบ้าง มีโรคอะไรบ้าง เพื่อจัดการทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม และพบปัญหาว่าการทำงานและข้อมูลไม่เชื่อมโยงกัน จึงพยายามจัดการอัตรากำลังคนโดยใช้เครื่องมือแอปพลิเคชันกับตัวระบบข้อมูลเพื่อเป็นการจัดสรรการทำงานต่างๆ ในการติดตามดูแล สะท้อนข้อมูลผู้ป่วยเพื่อปรับปรุงระบบ จนพบว่าปัญหาสำคัญที่ได้รับจากการดูแลผู้ป่วย มีทั้งปัญหาภาระงาน การทำงานไม่สะดวก เดินทางมาโรงพยาบาลลำบาก  ปัญหาเรื่องสิทธิการรักษา ขณะที่ผู้ให้บริการก็พบปัญหาเรื่องภาระงานมีความซ้ำซ้อน  ทำให้การดูแลผู้ป่วยไม่ต่อเนื่อง

“เราได้นำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์และออกแบบ และตั้งเป้าหมายในแต่ละกลุ่มที่เราต้องการ  ได้แก่ ด้านผู้ป่วยและผู้รับบริการที่เขาต้องได้ระบบการดูแลต่อเนื่อง ได้ประโยชน์ตามสิทธิ ด้านบุคลากร ที่ต้องช่วยลดภาระงาน ต้องได้เห็นข้อมูล ต้องวิเคราะห์ข้อมูล เยี่ยมบ้านได้ครบตามเกณฑ์ และด้านองค์กรและเครือข่าย  ที่ต้องมีข้อมูลการบริการที่จำเป็น สามารถดูแลประชาชนได้ทั่วถึง ลดค่าใช้จ่ายในการดูแล ขยายผลในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มอื่น เกิดเป็น แอปพลิเคชัน Palliative Pansuk, IMC Pansuk, LTC Pansuk และ LAO Pansuk ที่ทำงานเชื่อมโยงกัน ทำให้สามารถเห็นคนไข้ในทุกมิติ โดยใช้หลักการที่ผู้ใช้งานผู้ปฏิบัติออกแบบร่วมกันโดยใช้แนวคิด Human Factor Engineering และ Design Thinking ในการออกแบบแอปพลิเคชัน  ออกแบบระบบ วางระบบและทดลองใช้งาน และมีช่องทางให้ผู้ป่วยสามารถรายงานเราได้ และมีการให้ยืนยันการส่งต่อข้อมูลให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามหลักการ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) จุดเด่นของแอปพลิเคชัน คือ การใช้สัญลักษณ์เพื่อให้เห็นความแตกต่างชัดเจน แสดงความเร่งด่วนในการติดตามเยี่ยมบ้านตามระดับอาการของผู้ป่วย มีการจัดลำดับ โดยมีทีมสหวิชาชีพร่วมออกแบบข้อมูลที่ต้องการใช้งานในแอปพลิเคชัน ส่วนทีมโปรแกรมก็พัฒนาตาม ทำให้แอปพลิเคชันใช้ง่าย มีการคำนวณให้ มีดักจับการกรอกข้อมูลผิดพลาด ขณะที่แอปฯ ของ อปท.จะเน้นไปที่ข้อมูลการเยี่ยมบ้าน อาชีพ รายได้ สวัสดิการ พบว่า สามารถลดการซ้ำซ้อนในการทำงานได้ ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น” นายแพทย์กิตติ กล่าว

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยผู้ป่วยอีกหลายด้านที่นำมาเสนอ เช่น นวัตกรรมลดข้อผิดพลาดในการจ่ายยา แก้ปัญหาการให้เลือดผิด การรักษาอุณหภูมิในเวชภัณฑ์ยา โดยนวัตกรรมป้องกันคนไข้ในตึกสูง สำหรับผลงานที่นำเสนอครั้งนี้ ประกอบด้วย

1. NAH Surviving Sepsis โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.พิษณุโลก (รางวัล Rising Star)

2. Application Rayong network alert SOS Score for sepsis โรงพยาบาลระยอง (รางวัล Rising Star)

3. Smart Central Monitoring (การพัฒนาระบบตรวจสอบและติดตามอุณหภูมิและความชื้นตู้เย็นแช่ยาและเวชภัณฑ์ผ่านระบบ Smart Central Monitor) โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย (รางวัล Rising Star)

4. EMAR on view chart โรงพยาบาลสุรินทร์ (รางวัล Rising Star)

5. Smart MED-Admin in IPD โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.พิษณุโลก (รางวัล Rising Star)

6. Blood transfusion Safety: Patient Identify โรงพยาบาลสุรินทร์ (รางวัล The Best of Care)

7. Vachira Phuket Patient Identification and Care Process Management โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต (รางวัล Rising Star)

8. โรคประจำตัวของฉัน โรงพยาบาลค่ายนวมินทราชินี จ.ชลบุรี (รางวัล The Best of Change)

9. ศูนย์ปันสุข ร่วมกับเครือข่าย ดูแลต่อเนื่องทุกกลุ่มวัยใกล้บ้าน ใกล้ใจ โรงพยาบาลคูเมือง จ.บุรีรัมย์ (รางวัล The Best 0f Collaboration and Network)

10. Surin In Sight Application “ให้คนไข้อยู่ในสายตาเรา” โรงพยาบาลสุรินทร์ (รางวัล Rising Star) 

ซึ่งผลงานที่นำมาเสนอเป็น 10 นวัตกรรมที่ผ่านเข้ารอบจาก 24 นวัตกรรม ที่ผ่านการนำเสนอจากเวทีประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 23 ซึ่งเป็นผลงานที่ใช้จริงในสถานพยาบาล หลายแห่งและยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ล้วนเป็นผลงานที่มีคุณค่า เห็นประโยชย์ ต่อผู้ป่วย ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะการลดภาระงาน ลดความผิดพลาด ซึ่งส่งผลประโยชน์ไปสู่ประชาชน

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *