รมว.อว.เปิดมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ครั้งที่ 12 ที่ม.วลัยลักษณ์ชูแนวคิดภาคใต้โมเดล นำงานวิจัยพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

วันนี้ (28 มิ.ย.’66) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 (Regional Research Expo 2023)” ครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “วิจัย นวัตกรรม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ภาคใต้โมเดล” เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน 2566

โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงานฯ และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การศึกษามรดกวัฒนธรรมอุษาคเนย์กับการพัฒนาภูมิภาคในยุคดิจิทัล” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นายสมพงษ์ มากมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ตลอดจนผู้บริหารหน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย นักเรียน นักศึกษา และสื่อมวลชนเข้าร่วมอย่างคึกคัก ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า งานนี้เป็นการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยเทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ระดับพื้นที่ในวงกว้างอย่างเป็นรูปธรรม สร้างแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นให้กับบุคลากรจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย ทั้งภาครัฐและเอกชน นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนได้นำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปพัฒนาหรือสร้างสรรค์ พร้อมต่อยอด ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุนการเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ในภูมิภาค

การจัดงานครั้งนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่งในการเป็นกลไกขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน เป็นโครงการที่เกิดความคุ้มค่า และเกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ โดยการทำงานร่วมกันของหน่วยงานเครือข่ายวิจัย ในภาคใต้และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึง วช. ม.วลัยลักษณ์ และจ.นครศรีธรรมราช ที่ร่วมการจัดงานให้บรรลุวัตถุประสงค์

นอกจากนี้ รมว.อว. ยังได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ การศึกษามรดกวัฒนธรรมอุษาคเนย์กับการพัฒนาภูมิภาคในยุคดิจิทัล ว่า “เราเป็นชาติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความเจริญก้าวหน้าทางการวิจัยจะนำไปสู่การตอบสนองการวิจัยที่จะช่วยยกระดับประเทศ ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ของไทยนั้นดีมากไม่เป็นรองใคร อยู่ในระดับแนวหน้าของอาเซียน รวมถึงด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และการศึกษามรดกวัฒนธรรมอุษาคเนย์เพื่อนำมาพัฒนาภูมิภาค และภาคใต้เป็นบ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย และมีจุดเด่นหลายอย่างที่เหมาะจะนำมาทำวิจัยเพื่อต่อยอด สุดท้ายขอให้มั่นใจในนักวิจัยของเรา และผลักดันงานวิจัยเพื่อการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ให้ยั่งยืนต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 เพื่อเร่งให้เกิดการขยายผลการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปสู่การใช้ประโยชน์ระดับพื้นที่ในวงกว้างและเป็นรูปธรรม มีการนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และเป็นกลไกขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน

“การขับเคลื่อนงานวิจัยถือเป็นภารกิจสำคัญ ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้ความสำคัญทั้งการวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) และการวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนให้เข้มแข็ง โดยในปีที่ผ่านมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการจัดอันดับโลก จากสถาบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลก Times Higher Education แล้ว ถือเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่ามวล.เดินตามนโยบายของกระทรวง อว.และของรัฐบาลและมุ่งมั่นทำอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อให้เป็นประโยชน์ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่นและระดับประเทศ” ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า การจัดงาน“มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค” จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2556 ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคแรก แล้วเวียนไปยังภาคเหนือ ภาคใต้ ตามลำดับ เพื่อให้การนำเสนอผลงานวิจัยได้ขยายขอบเขตของการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในภูมิภาคต่างๆ สร้างโอกาสที่ดีให้แก่นักวิจัย ได้นำผลงานระดับภูมิภาคเข้าสู่ในระดับประเทศ โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “วิจัย นวัตกรรม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ภาคใต้โมเดล” เป็นการยกระดับงานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สร้างโอกาสที่ดีในการถ่ายทอดการนำเสนอในส่วนของพื้นที่ ที่สำคัญจะเห็นภาพของผลงานวิจัย ผลิตภัณฑ์และการประดิษฐ์คิดค้น ทั้งจากนักวิจัย ผู้ประดิษฐ์คิดค้นและผู้ใช้ประโยชน์จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ดีในการขยายผล การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ การสร้างความร่วมมือในเชิงเครือข่าย และเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงอว. สร้างโอกาสดีๆ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม

กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ นิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. นิทรรศการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา นิทรรศการงานวิจัยของหน่วยงาน เครือข่ายการวิจัยในภูมิภาค นิทรรศการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ศูนย์วิจัยชุมชน แสดงอัตลักษณ์ของภูมิภาค : ภาคใต้ บูธขายอาหารสินค้าชุมชน ,กิจกรรมการประกวดแข่งขันแนวคิดธุรกิจนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิง พื้นที่: ภาคใต้ กิจกรรม Highlight Stage ตลอดจนกิจกรรมการประชุมและเสวนา 13 หัวข้อเรื่อง ตลอดการจัดงาน 3 วันอีกด้วย

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *