เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ร่วมกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดเวทีเสวนาวิชาการและการประชุมวิชาการ หัวข้อ “เหล้า บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา ยาเสพติด เต็มพื้นที่ออนไลน์ ผู้บริโภคพร้อมรับมืออย่างไร” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหายาเสพติดทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย สร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมพร้อมกับหาทางออกร่วมกัน
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก ศศก. จึงดำเนินการจัดเสวนาในแง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องสารเสพติดและยาเสพติดทั้งถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันมีสารเสพติดรูปแบบใหม่เข้ามาเยอะมาก ที่ต้องระมัดระวังไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยว รวมไปถึงข้อกังวลสำหรับประชาชนที่ต้องระมัดระวัง
“ประเด็นที่สำคัญที่เราต้องกล่าวถึง คือเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องสำคัญมาก ในคนที่ใช้ยาเสพติด เรามองกันในเรื่องของสุขภาพ มันเป็นปัญหาทางสุขภาพ ดังนั้นการที่เราจะนำผู้ใช้สารเสพติดไปจองจำ ไปเป็นโทษทางอาญา มุมมองทั่วโลกก็พยายามพูดกันในมุมที่ว่า เราจะช่วยเหลือเขาอย่างไร ในการที่จะทำให้เขาหยุดการใช้สารเสพติดได้ และกลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ แน่นอนว่าในมุมสิทธิมนุษยชนนี้ก็จะเป็นในมุมของสิทธิผู้บริโภค และสิทธิของส่วนรวมด้วย ก่อนที่จะออกมาเป็นมาตรการในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งจากการสำรวจโดย ศศก. ในปีที่ผ่านมา พบว่าการใช้สารเสพติดบางชนิดเพิ่มสูงขึ้นถึง 10 เท่า โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน และมีการใช้สารเสพติดบางชนิดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1 – 2 เป็นร้อยละ 24 – 25 ในกลุ่มคนอายุ 18 – 65 ปีเพราะฉะนั้นเรื่องนี้ใกล้ตัวมาก ดังนั้นการสร้างความเข้าใจร่วมกัน ก็จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยต่อตัวเรา สังคมส่วนรวมอย่างไรได้บ้าง” รศ.พญ.รัศมน กล่าว
พญ.จริยา ภูดิศชินภัทร อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้กล่าวถึงผลกระทบจากผู้เข้ารับการรักษาที่เกิดจากสารเสพติด 3 ชนิด คือ กัญชา กระท่อม และบุหรี่ไฟฟ้า ว่า กัญชาเป็นที่รู้จักมาระยะหนึ่งแล้ว ในกัญชามีสารประกอบมีหลายอย่าง โดยเฉพาะ THC และ CBD นอกจากนี้ยังมีอีก 120 สารในกัญชาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท สิ่งที่แพทย์เป็นกังวล คือการนำ ช่อ ยอด ดอก ตัวเมียของกัญชา มาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในปัจจุบัน รวมถึงการนำไปผสมอาหาร เป็นเพราะอาจมีผลที่เกิดจากสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในปริมาณที่เป็นอันตรายได้ เนื่องจากยังไม่มีเกณฑ์การบริโภคที่ชัดเจน คาดเดาฤทธิ์ลำบาก
“ตั้งแต่ปลดล็อกกัญชา มีเคสผู้ป่วยจากการใช้กัญชาเข้ามาเรื่อย ๆ พบว่า คนใช้กัญชาเพื่อสันทนาการมากขึ้น คนจะมีอาการหลอนประสาท การกะระยะผิด ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ อีกอย่างที่กังวลมาก คือ การทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันต่ำเฉียบพลัน หรือบางคนมีความเสี่ยงต่อโรคทางสมองอาจทำให้มีอาการทั้งเกิดสโตรกเฉียบพลันได้ อาจจะทำให้ไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ ในโรงพยาบาล ยัง พบว่า ในผู้ที่ใช้กัญชามายาวนาน อาจเกิดตับอักเสบได้ ในคนตั้งครรภ์ คลอดก่อนกำหนด อาจะทำให้น้ำหนักตัวเด็กเล็ก หรือคนที่ใช้นาน 1 – 2 ปี หรือนาน 4 ปี ขึ้นไปพบว่า ทำให้เกิดภาวะคลื่นไส้อาเจียนบ่อย ๆ ที่รักษายาก ขณะที่กระท่อมกินน้อยจะเกิดอาการใจเต้น หากใช้เยอะจะกดประสาท ซึมหลับ คล้ายคนเสพมอร์ฟิน เฮโรอีน ใช้นาน ๆ สีผิวคล้ำ มีอาการมือสั่น ตัวสั่น ภาวะตับอักเสบ ตัวเหลืองได้” พญ.จริยา กล่าว
พญ.จริยา กล่าวอีกว่า บุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่ปกติ เป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่า ทำให้เกิดมะเร็ง โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และนิโคตินเหมือนบุหรี่ปกติ มีสารที่ก่อมะเร็ง เสี่ยงโรคถุงลมโป่งพอง ปอดอักเสบ ส่วนในคนที่ตั้งครรภ์พบว่ามีคุณแม่ที่เคยสูบบุหรี่ปกติ หันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าในอัตราที่สูงขึ้น เนื่องจากเข้าใจว่าปลอดภัยกว่า แต่ไม่เป็นความจริง และยังพบปัญหาแม่ที่ตั้งครรภ์แล้วสูบ หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงทารกในครรภ์หดเกร็ง ทำให้ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจน เป็นสาเหตุทำให้ครรภ์ผิดปกติ ลูกคลอดมามีภาวะตัวเล็ก คลอดก่อนกำหนด อาจเกิดการเจริญเติบโตของทารกที่ผิดปกติได้ รวมไปถึงควันบุหรี่มือสอง ได้รับผลกระทบเท่ากับคนสูบเช่นกัน
ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เผยว่า เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับยาเสพติดโดยตรงแม้ว่าอาจจะน้อยกว่าการร้องเรียนเรื่องทั่วไป อย่างการซื้อของได้ไม่ตรงปก แต่เป็นเรื่องที่ยากสำหรับผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภคทำงานมา 2 ปี มีหน้าที่ 8 ด้าน ซึ่งเรื่องนี้จัดอยู่ในเรื่องสินค้าและบริการทั่วไป พบว่า เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า มีคนร้องเรียนเข้ามาเป็นแพทย์ อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภคทดสอบ เพราะแม้ผิดกฎหมายแต่คนก็สามารถสั่งซื้อได้ตามออนไลน์ ซึ่งการทำงานขององค์กรได้เน้นไปที่การพยายามจัดการ เฝ้าระวัง เตือนภัย เพราะไม่มีผู้รับผิดชอบในการควบคุมจริงจัง
“อย่างกรณีที่เด็กที่เจอขนมโตเกียวใส่กัญชาวางขายหน้าโรงเรียน ยังป้องกันไม่ได้ ยังหาทางออกไม่ได้ ไม่มีคนดูแล ไหนจะ เจลลี่ คุกกี้ เครื่องดื่มน้ำทุกประเภท ที่ผสมกัญชา แถมแต่ละคนมีความทนต่อสารไม่เท่ากัน มองว่าการจะกำหนดปริมาณให้ชัดเจนอาจจะปลอดภัยกับบางคนเท่านั้น อาจถึงเวลาที่สังคมต้องเลือก ว่ากัญชาจะอยู่ หรือถอดออกจากบัญชียาเสพติด เพื่อให้การจัดการสามารถทำได้ง่ายกว่า คำถามคือ ความพอดีจะอยู่ตรงไหน เราไม่เชื่อว่าคุณจะมีกำกับได้ จะจัดการอย่างไรตั้งแต่ต้นตอ และทางทางตรงกลางร่วมกัน สำหรับจุดยืนสภาองค์กรของผู้บริโภค เราไม่สนับสนุนกัญชาเพื่อสันทนาการ แต่เราสนับสนุนทางการแพทย์ และกัญชาไม่จำเป็นต้องไปผสมอยู่ในทุกอาหาร” เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าว
เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เสนอแนวทางสำหรับการป้องกัน บุหรี่ไฟฟ้าว่า ปัจจุบันสังคม เปลี่ยนแปลงไปมาก การควบคุมเมื่อก่อนโดยควบคุมโฆษณา แต่ปัจจุบันนี้ไม่มี มนผิดอยู่ด้วยตัวเอง แต่ถ้าเราไปค้นหาในอินเทอร์เน็ตว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” ก็จะเห็นมีการขายจำนวนมาก ทางออกคือการทำให้ผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง จัดการตัวเองได้ ไปพร้อมกับการลบเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
รศ.ดร.เกื้อการุณย์ ครูส่ง อาจารย์ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การสำรวจอาหารผสมกัญชาในประเทศไทย มีทั้งรูปแบบสารสกัด การนำเอาส่วนของใบ ลำต้น ไปผสม หากผ่านการรับรองจะต้องระบุคำเตือนและปริมาณ มีสัญลักษณ์คำเตือนบนสินค้า ยกตัวอย่างฉลากของแคนาดา บอกคำเตือนระยะเวลาการออกฤทธิ์ของกัญชาต่อร่างกาย เพื่อประกอบการตัดสินใจผู้บริโภคด้วย ซึ่งของไทยก็มีเช่นกัน แต่มีประเด็นสำคัญที่พบ คือ มีอาหาร(ขนม) ที่มีส่วนผสมกัญชาที่ไม่อยู่ในการควบคุม (ไม่ต้องผ่านการรับรอง) จึงไม่มีฉลากแสดงถึงส่วนผสมของกัญชา ปริมาณสารสำคัญ/สารออกฤทธิ์ คำเตือนที่ชัดเจน ผู้บริโภคจึงควรระมัดระวัง
“จากการสำรวจอาหารผสมกัญชาในไทย ร้านมีหลายประเภท ทั้งร้านที่ขายช่อดอกเพื่อสูบจำนวนมาก มีคุกกี้ เครื่องดื่ม แต่ร้านที่ขายเฉพาะเครื่องดื่มไม่ขายแบบสูบมีน้อยกว่า และ พบว่าร้านที่ขายกัญชา อยู่หนาแน่นตามแหล่งท่องเที่ยว ที่มีนักท่องเที่ยวจากโซนยุโรปเยอะเป็นพิเศษ เช่น พัทยา หัวหิน ภูเก็ต และพื้นที่ยังเป็นตัวกำหนดราคากัญชาด้วย” รศ.ดร.เกื้อการุณย์ กล่าว
นางสาวกัณณิกา สิทธิพงษ์ นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น ได้หยิบยกผลของการใช้เหล้าต่อร่างกายและจิตใจผู้ใช้ โดยระบุว่าการดื่มสุรามากเกินไป เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่ป้องกันได้อันดับ 3 ในสหรัฐอเมริกา และมีข้อมูลจากฐานข้อมูลทางการแพทย์ในต่างประเทศที่ทำการทบทวนการศึกษา 83 งาน ในปี 2018 ระบุว่าการดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น มีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจและหลอดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย และอายุขัยที่สั้นลง การดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลต่อการเจ็บป่วยทั้งทางกายทางใจ โรคทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล PTSD ความผิดปกติทางการกิน รวมถึงการนำไปสู่การใช้สารเสพติดตัวอื่นๆ ได้เช่นกัน
“เราพบว่าการศึกษาในต่างประเทศ สอดคล้องกับการรายงานสถานการณ์ในประเทศไทย ที่พบว่าแนวโน้มสถานการณ์การเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2558-2562 ระบุว่าการเสียชีวิตในเพศชาย 5 อันดับแรก คือ โรคตับจากการดื่มเหล้า ตับแข็ง พิษสุราเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมองแตก และมะเร็งช่องปาก/โพรงจมูก ส่วนใหญ่เพศหญิง คือโรคตับแข็ง โรคตับจากการดื่มเหล้า โรคหลอดเลือดสมองแตก โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคหลอดเลือดสมองตีบ ตามลำดับ นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์จนเสพติดหรือเป็นโรคพิษสุราสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นประเด็นที่น่ากังวล ดังนั้นสถานบริการสุขภาพ ควรมีการคัดกรองความเสี่ยงเรื่องการฆ่าตัวตาย และมีการติดตามผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ” นางสาวกัณณิกา กล่าว