สดช. จัดประชุมกับผู้แทนจากสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อพัฒนามาตรฐานทักษะวิชาชีพปัญญาประดิษฐ์วันนี้ (2 พฤษภาคม 2566) ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูล ระหว่างผู้แทนสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยมีนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุม 202 ชั้น 2 โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูล ระหว่างผู้แทนสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอมาตรฐานทักษะวิชาชีพ ICT สำหรับปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยได้ดำเนินการเปิดพื้นที่ให้ผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจเอเปคแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อหาแนวทางส่งเสริมทักษะวิชาชีพปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นมาตรฐานร่วมกัน
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยี AI ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และพัฒนาการแข่งขันของทุกภาคส่วน ในส่วนของเทคโนโลยี AI ของประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้าน AI เพื่อการพัฒนาประเทศไทย ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา แผนฯ ดังกล่าวจัดทำขึ้น เพื่อกระตุ้นการพัฒนา AI ซึ่งทำให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตในสังคม นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมจริยธรรมด้าน AI จึงได้ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จัดทำแนวปฏิบัติจริยธรรม AI เพื่อสร้างความมั่นใจในการพัฒนาประเทศไทยให้อยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบที่มีความโปร่งใส เท่าเทียมและเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน รวมถึงกลุ่มเปราะบางในสังคมอีกด้วย
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สดช. เป็นกำลังหลักในการจัดทำมาตรฐานทักษะวิชาชีพ ICT จำนวน 11 วิชาชีพ ซึ่งครอบคลุมทักษะ ICT ต่างๆ เช่น การพัฒนาซอฟท์แวร์ (SOFTWARE DEVELOPMENT) ข้อมูลขนาดใหญ่ (BIG DATA) โดยปัญญาประดิษฐ์ (ARTIFICIAL INTELLIGENCE หรือ AI) เป็นมาตรฐานล่าสุด โดยมาตรฐานทักษะวิชาชีพเหล่านี้ได้รับการรับรองจากอาเซียน และประเทศสมาชิกแต่ละประเทศได้นำไปเชื่อมต่อกับมาตรฐานทักษะวิชาชีพของตนเอง จึงได้นำไปใช้ในการจ้างงานระหว่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินระดับของทักษะแรงงานตามมาตรฐาน ทั้งนี้ สดช. ได้เตรียมการร่วมมือกับสมาชิกเอเปคเพื่อส่งเสริมการจ้างงานระดับนานาชาติและตลาดแรงงานระดับโลก รวมถึงส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีในประเทศไทย