เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ขสย. ร่วมกับมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว ร่วมกับองค์กรด้านเด็กและเยาวชน ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์ “เด็กและเยาวชนนครศรีฯ กับปัจจัยเสี่ยง และการเลือกตั้ง 66” เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา มีนักเรียน นักศึกษา ประชาชน และผู้แทนพรรคการเมืองในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเข้ามาร่วมรับฟังจำนวนมาก
ซึ่งในวงเสวนามีข้อมูลน่าสนใจ โดยเราพบว่านครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 1.5 ล้านคน เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 25 ปี จำนวน 495,862 คน คิดเป็นร้อยละ 32.01 หรือ 1 ใน 3 ของประชากรในจังหวัด แต่การดูแลคนกลุ่มนี้ยังพบว่ามีปัญหา เช่น ไม่ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูแรกเกิดอย่างถ้วนหน้า มีนักเรียนหลุดออกนอกระบบการศึกษาในโรงเรียน 13,788 คน ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร 681 คน ถูกทารุณกรรมทางร่างกาย จิตใจและทางเพศ การติดพนันออนไลน์ ถูกดำเนินคดีอยู่ในสถานพินิจ 60 คน ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติดและคดีที่เกี่ยวกับทรัพย์ เป็นต้น
“นี่เป็นเพียงข้อมูลบางส่วนที่ถูกเปิดเผยออกมา แต่ยังมีปัญหาอีกมากที่ถูกซุกเอาไว้ใต้พรม เข้าไม่ถึงการเยียวยา ดังนั้นจึงขอใช้โอกาสในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2566 นำปัญหาเหล่านี้ไปกำหนดเป็นนโยบายเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และจริงใจ” นายธีรภัทร์ กล่าว
ด้าน นายอัมรินทร์ เสนแก้ว ประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ในการเสวนาได้สรุปประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แบ่งเป็น 6 ประเด็น คือ 1.ประเด็นการศึกษาและความเท่าเทียม 2.การส่งเสริมและสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน 3.ความปลอดภัยและปัจจัยเสี่ยง อาทิ ยาเสพติด ตั้งครรภ์ไม่พร้อม พนันออนไลน์ 4.การลดช่องว่างระหว่างวัย 5.การส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และ 6.ส่งเสริมพื้นที่ปลอดภัยสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งต้องขอบคุณผู้แทนพรรคการเมืองที่ประกาศลงรับสมัครเลือกตั้งในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ที่มีความห่วงใยต่อปัญหาเหล่านี้ หวังว่าทุกพรรคการเมืองจะมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน
ขณะที่ นายพิโชติ พลหาญ ผู้ก่อตั้งสถานที่ท่องเที่ยวเรือนจำดอนกุล อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช อดีตวัยรุ่นที่เคยติดคุกจากคดียาเสพติด กล่าวว่า ตนอยากเห็นนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เยาวชน จะทำอย่างไรให้เด็กคนหนึ่งได้อยู่รอดปลอดภัยในสังคม ไม่ต้องไปเสียเวลาชีวิตในคุกเหมือนตน และถึงแม้จะก้าวพลาดไปแล้ว ก็จะมีกระบวนการทำงานปรับเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรม เพื่อกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพต่อไป ไม่ใช่แค่ขังไว้แล้วให้กินแค่ข้าวเพื่อรอเวลาปล่อยตัวเท่านั้น สำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ตนกังวลมากที่มีการนำเสนอนโยบายเอาทำให้อบายมุขผิดกฎหมาย เช่น กาสิโน พนันออนไลน์ หรือนโยบายสารเสพติดเสรีที่ไม่มีการควบคุม
อนึ่ง การเสวนา “เด็กและเยาวชนนครศรีฯ กับปัจจัยเสี่ยง และการเลือกตั้ง 66” จัดโดย เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว ร่วมกับองค์กรด้านเด็กและเยาวชน ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ประกอบด้วยสมาคมเพื่อนเยาวชนและพัฒนาสังคมภาคใต้ตอนบน,ศูนย์ควบคุมป้องกันสารเสพติดและปัจจัยเสี่ยงจังหวัดนครศรีธรรมราช,สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช,มูลนิธิรักษ์ไทย สำนักงานนครศรีธรรมราช, เครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อม จ.นครศรีธรรมราช,กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเรือนจำดอนกุล และสหทัยมูลนิธิ สำนักงานภาคใต้ (นครศรีธรรมราช) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่โรงแรมแกรนด์ปาร์ค อ.เมือง จ.นครศรีธรรมรา โดยมีผู้แทนกลุ่มเด็กและเยาวชนจากโรงเรียน สถาบันอุดมศึกษา ครู เด็กนอกระบบการศึกษา ภาคประชาสังคม ผู้แทนพรรคการเมืองที่จะมีการส่งผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ประกอบด้วย น.ส.บุญฑริกา ยอดสุรางค์ พรรคเพื่อไทย นายราชิต สุดพุ่ม พรรคประชาธิปัตย์ นายปกรณ์ อารีกุล พรรคก้าวไกล นายศรราม แก้วตาทิพย์ พรรคไทยภักดี น.อ.สุรินทร์ เมฆาวรรณ พรรคชาติพัฒนากล้า และ ร.ท.สุรกัมพล อดุลยรัตน์ พรรคประชาชาติ เข้าร่วม.