ม.วลัยลักษณ์ประชุมนานาชาติ WRC 2023 ฉลองครบรอบ 31 ปี

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดประชุมนานาชาติ WRC 2023 ฉลองครบรอบ 31 ปี เชิญวิทยากรมีชื่อเสียงระดับโลกเป็นองค์ปาฐก มีนักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษาจาก 19 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสครบปีที่ 31 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมีผลงานโดดเด่นในหลายด้าน โดยเฉพาะผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ จึงได้จัดเวทีประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “Walailak Research Convention 2023” (WRC 2023) ครั้งที่ 2 ขึ้น ภายใต้แนวคิด “บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในยุคดิสรัปชั่น Higher Education in the Disruptive Era ระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคม 2566 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนผลงานวิชาการและแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ระหว่างนักวิชาการ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนางานวิจัยที่เข้มแข็ง ตอบสนองความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง โดยมีนักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษาจาก 19 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว เวียดนาม กัมพูชา ติมอร์เลสเต เกาหลีใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน บังกลาเทศ อินเดีย ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร เยอรมนี รัสเซียและไทยเข้าร่วมในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์

“ปีนี้ถือเป็นปีแห่งความภาคภูมิใจของชาวมวล. ขณะนี้จำนวนบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในฐานข้อมูล Scopus ระดับ Q1,Q2 มากถึง 90.7% เป็นอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งการประชุมนานาชาติ WRC 2023 จะทำให้ มวล.เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงยังส่งเสริมความร่วมมือทางการวิจัยกับมหาวิทยาลัยต่างๆได้อย่างกว้างขวางในระดับสากลต่อไป” ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ประธานในพิธีเปิดงานดังกล่าว กล่าวว่า สอวช. มีนโยบายการขับเคลื่อนงานวิจัยทั้งงานวิจัยเชิงนวัตกรรม ซึ่งต้องการต่อยอดสนับสนุนงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงและมีมูลค่าที่สูงขึ้น รวมถึงงานวิจัยระดับแนวหน้า (Frontier research) ที่ใช้วิทยาการขั้นที่สูงและสามารถนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ของประเทศได้ในอนาคต เช่น ควอนตัม จีโนม จีโนมิกส์ ทางด้านการแพทย์ เป็นต้น ส่วนงานวิจัยพื้นฐาน สอวช.ก็ให้ความสำคัญเช่นกัน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย ในรูปแบบของศูนย์ความเป็นเลิศ ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะมีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน

“มวล.เป็นอีกมหาวิทยาลัยที่มีผลงานวิจัยทั้งนวัตกรรมและงานวิจัยระดับแนวหน้า ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้อยากเห็นงานวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันปาล์ม และทางศูนย์ความเป็นเลิศฯ มวล.มีงานวิจัยทั้ง การใช้ต้นปาล์มน้ำมัน การสกัดน้ำมันปาล์ม การทำโรงงานปาล์มขนาดเล็กที่ชาวบ้านสามารถผลิตน้ำมันปาล์มออกมาเป็น National Palm Oil ช่วยเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันให้กับชาวบ้านได้” ดร.กิติพงค์ กล่าว

การประชุมนานาชาติครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ประกอบด้วย Prof. Maree Dinan-Thompson, Deputy Vice Chancellor, Education จากมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก ประเทศออสเตรเลีย และการเสวนาในหัวข้อ “Higher Education in the Disruptive Era” โดย Prof. Ingrid Piller จาก Macquarie University ประเทศออสเตรเลีย Prof. Peter Pok Man Yuen จาก Hong Kong Polytechnic University ประเทศฮ่องกง และ Prof. Lance Chun Che Fung จาก Murdoch University ประเทศออสเตรเลีย

นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัล จภ.ทองคำให้แก่นักวิจัยมวล.ที่สร้างคุณูปการให้แก่สังคมและประเทศ ที่สำคัญยังมีการประชุม สัมมนาวิชาการของศูนย์ความเป็นเลิศ ศูนย์วิจัยต่างๆ ที่น่าสนใจของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อีกกว่า 10 ศูนย์อีกด้วย

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *