โรงพยาบาลพระรามเก้า เปิด “ศูนย์นิทรารมณ์(Sleep center)” มุ่งแก้ไขปัญหาการนอนหลับที่ผิดปกติแบบครบวงจร ชี้วิกฤต “นอนไม่หลับ นอนกรน” ปัญหาที่แก้ไขได้

โรงพยาบาลพระรามเก้า เปิด “ศูนย์นิทรารมณ์ (Sleep center)” พร้อมระดมทีมแพทย์มือหนึ่ง ด้านโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบทางเดินหายใจ และอายุรศาสตร์การนอนหลับ และด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา ให้คำปรึกษาการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการนอนหลับ, บริการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) ตามคำสั่งแพทย์ ตลอดจน รักษาโรคและอาการที่เกี่ยวกับการนอนและระบบการหายใจ เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาการนอนหลับที่ผิดปกติ ลดความเสี่ยง ‘ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea; OSA)’ ด้วยแนวทางการรักษาที่ล้ำสมัย ลดปัจจัยเสี่ยงก่อนนำไปสู่โรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต

ศ.นพ.ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม แพทย์หัวหน้าศูนย์นิทรารมณ์ (Sleep center) โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า “ปัจจุบัน อาการนอนไม่หลับหรือภาวะคุณภาพการนอนที่ไม่ปกติ เป็นปัญหาที่พบบ่อยถึงร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด และ 1 ใน 3 เป็นการนอนไม่หลับเรื้อรัง คือมีอาการนอนไม่หลับอย่างน้อยนาน 1 เดือน หากปล่อยให้เกิดขึ้นเป็นเวลานานอาจนำไปสู่การเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งของกลุ่มอาการภาวะหายใจผิดปกติขณะนอนหลับ อย่างเช่น มีการหยุดหายใจขณะหลับ หรือเกิดการหยุดหายใจเป็นพักๆ ตลอดทั้งคืน ทำให้อวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายขาดออกซิเจน จนเป็นสาเหตุของโรคนอนไม่หลับและอื่นๆ อีกหลายโรค ซึ่งหากปล่อยไว้เรื้อรังมีโอกาสนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพที่ร้ายแรงได้

ดังนั้น โรงพยาบาลพระรามเก้าจึงมีแนวคิดจัดตั้งศูนย์นิทรารมณ์ Sleep Center ขึ้น เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาอาการดังกล่าว โดยให้บริการดูแลแบบองค์รวม ตั้งแต่การดูแลก่อนเจ็บป่วย การรักษา และการดูแลสุขภาพหลังการรักษา ตลอดจนการวางแผนการรักษา เพื่อรองรับการวินิจฉัยและรักษาอาการต่างๆ ก่อนนำไปสู่ปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้”

ศ.นพ.ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม

ศูนย์ Sleep Center โรงพยาบาลพระรามเก้า ตระหนักถึงความสำคัญของผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการนอนที่ควรได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพและเฉพาะทาง โดยให้บริการที่ครอบคลุมครบวงจร ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาโดยทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์เฉพาะทาง พร้อมเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยและได้รับมาตรฐาน เราให้คำปรึกษาและวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการนอนหลับ ให้บริการการรักษาโรค และอาการที่เกี่ยวกับการนอนและระบบการหายใจ ตลอดจนให้บริการตรวจการนอนหลับ(Sleep Test) ตามคำสั่งแพทย์ ครอบคลุมทั้งการให้บริการในด้านสถานที่สำหรับการทดสอบ Sleep Lab ตอบโจทย์ผู้รับบริการที่ต้องการมารับการดูแลที่โรงพยาบาล โดยห้อง Sleep Lab จะให้ความรู้สึกถึงความเป็นส่วนตัว สะดวกสบาย และมีความปลอดภัย อุ่นใจเปรียบเสมือนอยู่ที่บ้าน พร้อมทั้งยังมีการติดตามผลการตรวจรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังการรักษา

ซึ่งการตรวจ Sleep Test จะเป็นการตรวจการนอนหลับเพื่อสังเกตการทำงานของร่างกาย และหาสาเหตุของความผิดปกติต่างๆ ในระหว่างการนอนหลับ เป็นการตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (obstructive sleep apnea; OSA) การกระตุกของกล้ามเนื้อต่าง ๆ รวมถึงพฤติกรรมที่ผิดปกติระหว่างการนอนหลับ เพื่อให้แพทย์สามารถนำผลการตรวจไปวางแผน หรือติดตามการรักษาได้อย่างถูกต้อง

โดยจะมีการติดอุปกรณ์เฉพาะที่ใช้บันทึกการทำงานของร่างกายขณะนอนหลับ ได้แก่ ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด การหายใจเข้าออกทั้งทางจมูกและทางปาก คลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ การขยับของกล้ามเนื้อตา แขนขาและกราม รวมทั้งบันทึกวิดีโอเพื่อสังเกตพฤติกรรมที่ผิดปกติระหว่างนอนหลับ โดยส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่ประจำห้องตรวจ จะเริ่มทำการติดตั้งเครื่องและตัวตรวจวัดต่างๆ โดยจะใช้เวลาประมาณ 45 – 60 นาที เมื่อกระบวนการเสร็จสิ้น แพทย์จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์และแปลผลการตรวจ เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ พร้อมทั้งประเมินความรุนแรงต่อไป”

ศ.นพ.ณัฐพงษ์ อธิบายต่อว่า “นอกจากนี้ เรามีการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เรียกว่า ‘เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง หรือเครื่อง CPAP: Continuous Positive Airway Pressure’ มาช่วยในการรักษาผู้ที่มีปัญหาเรื่องการนอน ซึ่งเป็นการรักษาที่นิยมและได้ผลดีวิธีหนึ่ง เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบนขณะหลับทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรนธรรมดา หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งมีความรุนแรงตั้งแต่ระดับน้อยถึงรุนแรง

โดยหลักการการทำงานของ เครื่อง CPAP นี้ จะใช้แรงดันอากาศในการช่วยเปิดทางเดินหายใจให้โล่งขึ้น เพื่อช่วยให้ออกซิเจนในอากาศ ไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่ายกายได้อย่างเพียงพอ จากนั้น แพทย์จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์และแปลผลการตรวจเพื่อวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ พร้อมทั้งประเมินความรุนแรง เช่น การหยุดหายใจขณะหลับ ระดับออกซิเจนในเลือดขณะหลับ ภาวะเคลื่อนไหวและพฤติกรรมผิดปกติขณะหลับ นอนแขนขากระตุกขณะหลับ การละเมอ ภาวะนอนไม่หลับ และความผิดปกติของการนอนหลับอื่น ๆ ได้”

สำหรับผู้ที่ต้องการเข้ารับคำการปรึกษา เพื่อเข้ารับการตรวจ Sleep test สามารถพิจารณาว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้ โดยสังเกตอาการผิดปกติดัง ต่อไปนี้

  1. นอนกรน
  2. มีเสียงกรนหยุดเป็นพักๆ พลิกตัวบ่อยๆ
  3. หายใจลำบากและสงสัยว่ามีการหยุดหายใจขณะหลับ
  4. ง่วงนอนช่วงกลางวันมากผิดปกติ ทั้งที่ได้ผักผ่อนอย่างเพียงพอ
  5. ตื่นเช้าไม่สดชื่น มีอาการปวดหัวหลังตื่นนอน และรู้สึกอ่อนเพลียหลังตื่นนอนบ่อยๆ
  6. มีพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติ เช่น แขนขากระตุกระหว่างนอนหลับ นอนกัดฟัน นอนละเมอ หรือสะดุ้งตื่นเป็นประจำ
  7. นอนหลับยาก หรือรู้สึกนอนหลับได้ไม่เต็มที่บ่อย ๆ มากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์

นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ดังนี้ กลุ่มผู้ที่เสี่ยงจะเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น(obstructive sleep apnea; OSA), ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวเกิน, ผู้ที่แพทย์สงสัยว่าอาจมีภาวะชักขณะนอนหลับหรือเป็นโรคลมหลับ(narcolepsy), ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับที่ยังรักษาไม่ได้ หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ เช่น หัวใจวาย ไตวาย ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น สำหรับผู้ที่จะเข้ารับบริการด้วยเครื่อง CPAP นี้ ต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางก่อน โดยผู้รับบริการสามารถทดลองใช้เครื่องก่อนตัดสินใจรับบริการได้

“การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือมากจนเกินไป ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณร้ายก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพทั้งสิ้น รวมทั้งยังกระทบไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ สมาธิลดลง, ความจำลดลง, ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง, ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความรู้สึก เช่น หงุดหงิด เบื่อหน่าย ท้อแท้ ผลกระทบเหล่านี้ หากเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานอาจก่อให้เกิดเป็นโรคอื่น ๆ ตามมาได้ ทั้งโรคทางร่างกาย และโรคทางจิตใจ ดังนั้น หากมีอาการนอนไม่หลับและไม่สามารถกลับสู่การนอนหลับตามปกติได้ด้วยตัวเอง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก่อนที่ปัญหาการนอนจะมีผลกระทบในด้านอื่นๆ” ศ.นพ.ณัฐพงษ์ ทิ้งท้าย

สำหรับผู้ที่สนใจใช้บริการหรือมีความเสี่ยง สามารถติดต่อเพื่อเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและนัดหมายได้ที่ Website: https://bit.ly/3xJUA3f Line: https://lin.ee/vR9xrQs หรือ@praram9hospital / Facebook: www.facebook.com/praram9Hospital หรือ โทร.1270 โรงพยาบาลพระรามเก้า HEALTHCARE YOU CAN TRUST เรื่องสุขภาพ…ไว้ใจเรา #Praram9Hospital

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *