รถไฟ EV ต้นแบบคันแรกของไทย ดังไกลถึงอาเซียน “ชาวเวียดนาม” แห่ชื่นชม ร่วมแชร์เรื่องราวแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

การรถไฟฯ เดินหน้าเร่งทดสอบเดินรถจนมั่นใจ ปลอดภัย ก่อนนำมาใช้บริการจริง ลากขบวนโดยสารเข้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เตรียมจัดหาอีก 50 คัน ลดมลพิษ ยกระดับการให้บริการประชาชนภายในปี 66

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA จัดทดสอบการใช้งานรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปรากฏว่า นอกจากจะได้รับความสนใจ และเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชนคนไทยแล้ว รถจักรคันดังกล่าวยังโด่งดังไปไกลถึงประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม ที่มีการแชร์เรื่องราวของรถจักรพลังงานไฟฟ้า ลงในกลุ่มเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศของเวียดนาม ซึ่งมีการแสดงความชื่นชมยินดีกับประเทศไทย และพูดคุยแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย

นอกจากนี้ยังมีชาวเวียดนามบางคน มาช่วยเพิ่มเติมข้อมูล และตอบคำถามในบางประเด็นที่มีการตั้งข้อสงสัยกัน อาทิเช่น ทำไมถึงต้องใช้รถไฟแบตเตอรี่ ซึ่งประเด็นนี้นอกจากจะใช้แบตเตอรี่ เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันแล้ว ยังสามารถนำไปต่อยอดโดยการยกระดับขนส่งโดยสารของเมือง และรองรับการใช้งานในระบบรถไฟฟ้ารางเบา Light Rail Transit (LRT) ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามมีหลายคนยังเห็นด้วยว่า ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะการจะเริ่มต้นจากศูนย์ ทำเพียงคนเดียวอาจเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งเมื่อพัฒนาขึ้นมาได้แล้ว เทคโนโลยีนี้ก็จะอยู่กับประเทศไทยตลอดไป

สำหรับรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ประเทศไทยสามารถประกอบติดตั้งระบบแบตเตอรี่สำหรับรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าเองได้เสร็จเมื่อปี 2565 เป็นแห่งแรกของโลก ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยลดมลพิษ และบรรเทาภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แทนน้ำมันเชื้อเพลิงในระบบขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle :EV) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2573

ปัจจุบันรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ได้ดำเนินการทดสอบเดินรถในเส้นทางต่างๆ แล้ว รวมถึงการทดสอบลากจูงขบวนรถโดยสารขึ้นมาบนสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือว่าประสบความสำเร็จเรียบร้อยดี ซึ่งหลังจากนี้การรถไฟฯ จะพิจารณานำไปลากจูงรถโดยสาร และรถสินค้าในโอกาสต่อไป โดยในระยะแรกจะนำรถจักรดังกล่าวมาใช้ลากเป็นรถสับเปลี่ยน (Shunting) ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดมลพิษในอาคารสถานีชั้นที่ 2 ซึ่งจากผลการทดสอบ ของการรถไฟฯ สามารถลากขบวนรถจากย่านสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปที่ชานชาลาสถานีที่ชั้น 2 ได้จำนวน 12 เที่ยว ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ระยะเวลาการชาร์จจนแบตเตอรี่เต็มประมาณ 1 ชั่วโมง

จากนั้นในระยะต่อไปจะทดลองวิ่งในระยะทางใกล้ เช่น ขบวนรถโดยสารชานเมือง ระยะทางประมาณ 30 – 50 กิโลเมตร และระยะทางที่ไกลมากขึ้น เช่น ขบวนรถข้ามจังหวัด ระยะทางประมาณ 100 – 200 กิโลเมตร และขบวนรถขนส่งสินค้า จาก ICD ลาดกระบัง ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น เพื่อทดสอบจนเกิดความมั่นใจและปลอดภัย อย่างไรก็ตามรถจักรคันดังกล่าว มีความเร็งสูงสุดที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากลากตู้สินค้าจะใช้ความเร็วประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และหากลากตู้โดยสารจะใช้ความเร็วประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยการชาร์จแบตเตอรี่เต็ม 1 ครั้ง จะมีสมรรถนะในการลากจูงระยะทาง 300 กิโลเมตร ลากตู้สินค้าน้ำหนักประมาณ 2,500 ตันได้ และตู้โดยสาร ลากได้น้ำหนักไม่เกิน 650 ตัน

ขณะนี้จุดชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าดำเนินการติดตั้งที่บริเวณย่านบางซื่อ และในอนาคตมีแผนจะติดตั้งจุดชาร์จแบตเตอร์รี่ไฟฟ้าที่สถานีอื่นๆ เพิ่ม เพื่อชาร์จไฟตามแนวเส้นทางรถไฟต่อไป รองรับการใช้หัวรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่จะพ่วงไปกับขบวนรถโดยสาร ทั้งนี้จุดเด่นของรถจักรพลังงานไฟฟ้าดังกล่าว ได้ถูกออกแบบ และผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ด้วยนวัตกรรมระบบชาร์จ Ultra Fast Charge ในเวลา 1 ชั่วโมงในระยะแรก และ Battery Swapping Station เพื่อสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในเวลาไม่เกิน 10 นาที ลดเวลาการรอชาร์จ และนำมาขยายผลใช้งานในระบบขนส่งได้จริง

การรถไฟฯ มั่นใจว่ารถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ เป็นก้าวสำคัญที่จะพลิกโฉมการให้บริการรถไฟไทย ช่วยยกระดับการเดินทาง และการขนส่งทางราง ให้เป็นรูปแบบการคมนาคมหลักของประเทศ เป็นระบบรางไร้มลพิษ ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนขนส่งไทย ที่มุ่งสู่ความยั่งยืนทางด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงประชาชนชาวไทย จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะได้รับการให้บริการด้วยรถไฟฟ้าที่มีความสั่นสะเทือนน้อยลง มีความสะดวกสบาย และมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น เปิดโลกอนาคตของรถไฟยุคใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน อย่างไรก็ตามขณะนี้การรถไฟฯ อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการจัดหารถจักร EV อีกประมาณ 50 คัน ทยอยมาให้บริการประชาชนภายในปี 66 ตามข้อสั่งการของกระทรวงคมนาคม เพื่อยกระดับการให้บริการรถไฟแก่ประชาชน ลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งหัวรถจักร EV สามารถลดต้นทุนได้ 40-60% หากเทียบกับการหัวรถจักรดีเซลในปัจจุบัน

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *