ด้วยการสนับสนุนและการเข้าร่วมจากประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโก วิโดโด ฯพณฯ ชีค ดร.มูฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา เลขาธิการสันนิบาตมุสลิมโลกและประธานสมาคมอุลามาอ์มุสลิม ได้ประกาศจัดการประชุมสุดยอดผู้นำศาสนา R20 โครงการระดับโลกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า โครงการนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างองค์การสันนิบาตมุสลิมโลกและองค์กรอุลามาอ์แห่งประเทศอินโดนีเซีย และได้รับการรับรองจากประธานกลุ่ม G20 เพื่อจัดงานเสวนาระหว่างผู้นับถือศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกลุ่มประเทศผู้นำที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก
ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ในฐานะประธานของกลุ่มประเทศพหุวัฒนธรรม R20 ได้เปิดตัวการประชุมสุดยอดผู้นำศาสนาของกลุ่ม G20 ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำทางศาสนาครั้งแรกที่จัดโดยกลุ่มประเทศพหุวัฒนธรรม R20 ที่จัดตั้งโดยองค์การสันนิบาตมุสลิมโลกและองค์กรอุลามาอ์แห่งประเทศอินโดนีเซีย ภายใต้หัวข้อหลัก “เน้นย้ำการใช้ศาสนาเพื่อแก้ปัญหาระดับโลก เพราะศาสนาเป็นเครื่องชี้นำทางจิตวิญญาณให้กับสังคม” การประชุมนี้จะมีขึ้นที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ประจำปี พ.ศ. 2565 โดยผู้นำศาสนาที่โดดเด่นและมีอิทธิพลที่สุดในเวทีโลกจะเข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้
ในช่วงเริ่มต้นของการกล่าวปาฐกถา ท่านประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ได้กล่าวต้อนรับ ฯพณฯ ชีค ดร.มูฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา เลขาธิการสันนิบาตมุสลิมโลกและประธานสมาคมอุลามาอ์มุสลิม สู่ประเทศอินโดนีเซียในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง R20 ท่านยังกล่าวถึงความหลากหลายอันเป็นคุณลักษณะของประเทศอินโดนีเซีย โดยอินโดนีเซียมีความหลากหลายทั้งในด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษา และศาสนา แต่ทุกคนก็อยู่ร่วมกันได้ภายใต้ธงของประเทศเดียวกัน อยู่ร่วมกันด้วยความอดทนและสามัคคี ตามหลักการของ “ความสามัคคีในความแตกต่าง”
ฯพณฯ ชีค ดร.มูฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา เลขาธิการสันนิบาตมุสลิมโลกและประธานสมาคมอุลามาอ์มุสลิม ได้เริ่มกล่าวปาฐกถาโดยการกล่าวทักทายประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และกล่าวขอบคุณการสนับสนุนและการตอบรับโครงการเพื่อจัดตั้งพื้นที่สำหรับการเสวนาแบบพหุวัฒนธรรม
ดร. อัลอีซา กล่าวว่าโครงการ R20 มุ่งเน้นความรับผิดชอบของผู้นำศาสนา และยังเป็นความรับผิดชอบพิเศษขององค์การสันนิบาตมุสลิมโลกและองค์กรนะห์ดาตุล อุลามาอ์แห่งอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้จัดการประชุมสุดยอด R20 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ G20
ท่านอัลอีซาชี้ให้เห็นว่าการจะได้มาซึ่งปัญญาและความน่าเชื่อถือนั้น เราต้องการมากกว่าความปรารถนาและหลักการต่าง ๆ โดยเราต้องการการริเริ่มและความสำเร็จ และนี่เป็นสาเหตุที่เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ใช้พื้นที่นี้เพื่อเปิดตัวโครงการ “การประชุมเพื่อการสร้างสะพานเชื่อมความสัมพันธ์เพื่อสันติภาพระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตก” เพื่อก้าวข้ามการพูดคุยแบบเดิม ๆ ที่ไม่สามารถช่วยหาเป้าหมายร่วมสำหรับมนุษยชาติ การประชุมนี้จะประกอบด้วยโครงการอันยั่งยืนที่ทำได้จริงและวัดผลได้ โดยมุ่งเน้นในด้านเยาวชน ครอบครัว การศึกษา และการเพิ่มบทบาทของเวทีที่มีอิทธิพลต่าง ๆ รวมถึงเวทีทางศาสนา
ท่านอัลอีซากล่าวสรุปว่าโลกของเราได้บอบช้ำจากความไม่ลงรอยและความขัดแย้งระหว่างคนต่างศาสนาและต่างอารยธรรม ตัวท่านเองก็ได้พบกับการแบ่งแยกที่ไม่สนใจความคล้ายคลึงใด ๆ ซึ่งหากเราสนใจความคล้ายคลึงเหล่านี้ โลกของเราจะพบกับความสงบสุขและความปรองดองระหว่างสังคมต่าง ๆ ปัญหานั้นไม่ได้อยู่ที่ต้นกำเนิดของศาสนา แต่อยู่ที่ความเข้าใจในศาสนา ดังนั้น ผู้นำศาสนาต่าง ๆ ต้องร่วมมือกันภายใต้กรอบพันธมิตรเพื่อแยกแนวคิดทางศาสนาที่เรียกร้องความสงบสุข ออกจากแนวคิดผิด ๆ ซึ่งมักจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
ฯพณฯ ชีค ยะห์ยา เคาะลีล ทากูฟ ประธานองค์กรอุลามาอ์แห่งประเทศอินโดนีเซีย ย้ำว่าโครงการ R20 ของกลุ่ม G20 เกิดจากเจตจำนงด้านจิตวิญญาณที่แท้จริงของผู้นับถือศาสนา ผู้นับถือศาสนานั้นมีความกังวลอย่างแท้จริงต่ออนาคตของมนุษยชาติ ท่านกล่าวว่า “เราหวังว่าโครงการนี้จะกลายเป็นโครงการอันทรงเกียรติและมีความสำคัญในหมู่โครงการระดับโลก เพราะนั่นจะทำให้มนุษยชาติสามารถหาแนวทางการแก้ปัญหาความแตกต่างทางชาติพันธุ์ได้”
การประชุมสุดยอดผู้นำทางศาสนาจะจัดขึ้นเป็นเวลาสองวัน ผู้ที่จะเข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้นำทางศาสนาจากประเทศในกลุ่ม G20 และประเทศอื่น ๆ โดนผู้นำทางศาสนาเหล่านี้ล้วนแต่มีความสามารถสูงและได้สร้างผลงานไว้อย่างชัดเจนในทั่วทุกมุมโลก
การประชุมจะประกอบด้วยการประชุมเต็มคณะ 7 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้ง ผู้นำศาสนาที่เข้าร่วมจะหารือเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในโลก และบทบาทของทางศาสนาและผู้นำศาสนาในการช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้น