Media Alert เสนอผลวิเคราะห์การสื่อสารออนไลน์และพฤติกรรมการใช้สื่อของสังคม ปี 2564

ปัจจุบัน Social Media หรือการสื่อสารสังคมทางออนไลน์ ทำให้ประชาชนสามารถส่งสารและแสดงความคิดเห็นได้อย่างหลากหลาย เป็นการร่วมกำหนดวาระสำคัญในสังคมได้อย่างน่าสนใจ ด้วยเหตุนี้ Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงได้ริเริ่มดำเนินงานโครงการศึกษาวิเคราะห์การสื่อสารออนไลน์และพฤติกรรมการใช้สื่อของสังคม ในช่วงต้นปี 2564 เพื่อนำเสนอผลการศึกษาพฤติกรรมการใช้สื่อของสังคม ผ่าน Google, Facebook และ Twitter ที่อาจเป็นการสะท้อนภาพรวมความสนใจและพฤติกรรมการสื่อสารของสังคมในโลกความเป็นจริงอีกช่องทางหนึ่ง

จากการสำรวจกลุ่มคำค้นยอดนิยม 100 อันดับแรกจาก Google Trends ในประเทศไทย และการสำรวจข่าวสาร/เรื่องราวที่ได้รับความสนใจสูงสุด 100 อันดับจาก Facebook เมื่อจำแนกตาม 20 กลุ่มประเด็นเนื้อหาที่กำหนดขึ้นหลังเห็นภาพรวมของผลการสำรวจ ดังระบุข้างต้น เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ระดับความสนใจต่อกลุ่มประเด็นเนื้อหา อันได้แก่ กลุ่มการเมือง กลุ่มความมั่นคง กลุ่มการศึกษา กลุ่มวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม เทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มเกษตรกรรม กลุ่มสุขภาพ กลุ่มโควิด-19 กลุ่มสิ่งแวดล้อม กลุ่มเศรษฐกิจ กลุ่มผลสลากกินแบ่งรัฐบาล เลขเด็ด (สลาก หวย เลขเด็ด) กลุ่มแบบแผนการใช้ชีวิต กลุ่มคนในข่าว กลุ่มประเด็นทางสังคม สิทธิ ความเสมอภาค ความเป็นธรรม สิทธิมนุษยชน กลุ่มวัฒนธรรม วิถีชีวิต กลุ่มอาชญากรรม กลุ่มอุบัติเหตุ ภัยพิบัติ สาธารณภัย กลุ่มกีฬา กลุ่มสิ่งลี้ลับ ความเชื่อ โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ กลุ่มอุตสาหกรรมสื่อและวงการบันเทิง

ผลการสำรวจ 100 อันดับแรกของคำค้นใน Google Trends และ 100 อันดับของความสนใจใน Facebook ในช่วงเดือนเมษายน – ธันวาคม 2564 พบ 3 อันดับแรก ดังนี้

กลุ่มประเด็นเนื้อหาจาก Google Trends อันดับ 1 คือ กลุ่มผลสลากกินแบ่งรัฐบาล เลขเด็ด มีจำนวนค้นหาที่ร้อยละ 34.90 อันดับ 2 คือ กลุ่มโควิด-19 ที่ร้อยละ 24.32 และอันดับ 3 คือ กลุ่มกีฬา ที่ร้อยละ 20.44 โดยทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มคำที่พบมากในการค้นหาทั้ง 9 เดือนที่ทำการสำรวจ ขณะที่ Facebook พบว่า อันดับ 1 ของจำนวน Engagement คือ กลุ่มแบบแผนการใช้ชีวิต ที่ร้อยละ 43.75 อันดับ 2 กลุ่มโควิด-19 ที่ร้อยละ 14.18 และอันดับ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมสื่อและวงการบันเทิง ที่ร้อยละ 11.14

ผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยที่มีความสนใจร่วมกันในเรื่องโควิด-19 ซึ่งเป็นประเด็นสาธารณะ แต่มีความสนใจประเด็นเฉพาะที่ต่างกัน โดยสังเกตว่าความสนใจในอันดับต้น ๆ ของ Google Trends มักเกี่ยวข้องกับการเสี่ยงโชค การพนัน ในขณะที่การสำรวจความสนใจและพฤติกรรมการใช้สื่อ Facebook มักเป็นเรื่องไลฟ์สไตล์ เรื่องในวงการบันเทิง หากแต่ความสนใจในประเด็นสาธารณะอื่น ๆ เช่น เศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม ฯลฯ พบว่าอยู่ในอันดับต่ำทั้ง 2 แพลตฟอร์ม

นอกจากการสำรวจเทรนด์ความสนใจและประเด็นยอดนิยมในสื่อสังคมออนไลน์แล้ว การศึกษาครั้งนี้ยังได้เลือกศึกษาวิเคราะห์การสื่อสารออนไลน์ในประเด็นเฉพาะที่ติดอันดับความนิยม หรือเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณะในแต่ละเดือน จากการใช้ทวิตเตอร์ของกลุ่มตัวอย่างบุคคลทั่วไป จำนวน 100 ข้อความ พร้อมเสนอบทวิเคราะห์ ข้อเสนอแนะ ต่อผลการศึกษา โดยผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนั้น ๆ ตลอด 9 เดือนที่ศึกษา คือ เมษายน – ธันวาคม 2564  แบ่งผลการศึกษาออกได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1) สถานการณ์โควิด-19

2) สถานการณ์อุบัติภัย

3) เรื่องดราม่าในสื่อสังคมออนไลน์

4) กลยุทธ์การตลาดกับการคุ้มครองผู้บริโภค

สรุปผลการศึกษาในแต่ละกลุ่มและประเด็น ได้ดังนี้

1) กลุ่มสถานการณ์โควิด-19 ประกอบด้วย เดือนเมษายน 2564 ประเด็นการกลับมาระบาดของโควิด-19 คลัสเตอร์ผับย่านทองหล่อ เดือนพฤษภาคม 2564 ประเด็นการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 เดือนมิถุนายน 2564 ประเด็นมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งผลการศึกษาทั้ง 3 เดือน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 สะท้อนความรู้สึกในเชิงลบ เชิงตำหนิ วิพากษ์ วิจารณ์ เรียกร้อง ต่อการบริหารจัดการของผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ รวมทั้งสื่อมวลชน เนื่องด้วย “ความคลุมเครือและความไม่ชัดเจนของการสื่อสาร”

ส่วนหนึ่งของความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารสถานการณ์ภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อประเด็นการกลับมาระบาดของโควิด-19 คลัสเตอร์ผับย่านทองหล่อ ซึ่งเป็นหัวข้อการศึกษาของเดือนเมษายน 2564 ระบุว่า จุดสำคัญที่ทำให้ประชาชนรู้สึกโกรธ เพราะต้นเหตุเกิดจากมาตรการของรัฐอีกรอบ และเกี่ยวกับกลุ่มที่แสดงถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขณะที่การสื่อสารจากภาครัฐเป็นแบบคลุกฝุ่น ซึ่งสิ่งสำคัญสำหรับการสื่อสารในภาวะวิกฤตนั้นจะต้องให้ความสำคัญในบางจุด เช่น การแจ้งข้อมูลควรเป็นการบอกให้ทราบ ไม่ใช่การสั่งสอน อีกทั้งวิธีการนำเสนอของรัฐก็ยังไม่สอดคล้องกับวิธีการเสพข้อมูลของคนรุ่นใหม่

ขณะที่ส่วนหนึ่งในความเห็นของคุณสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้ติดตามและนำเสนอบทวิเคราะห์สถานการณ์ด้านวัคซีนโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง ต่อผลการศึกษาประเด็นการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นหัวข้อการศึกษาของเดือนพฤษภาคม 2564  คือ รัฐควรมีการรายงานจำนวนคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง สื่อสารกับประชาชนด้วยข้อเท็จจริงที่ชัดเจน อย่างตรงไปตรงมา และเข้าใจง่าย รวมถึงมีความโปร่งใสในการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ตลอดจนพัฒนาระบบลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพ ขณะที่สื่อมวลชนไม่จำเป็นที่จะต้องเสนอข่าวตามวาระของรัฐบาล ควรคิดประเด็นและการนำเสนออย่างเป็นระบบ สื่อควรพยายามตั้งคำถามในสิ่งที่คิดว่าประชาชนต้องการรู้ และหาคำตอบ มานำเสนอ

สำหรับผลการศึกษาเดือนมิถุนายน 2564 ประเด็นมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น ความเห็นส่วนหนึ่งของ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ คือ รัฐบาลต้องเข้าใจข้อจำกัดของการสื่อสารที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งไม่ใช่เรื่องระยะสั้นที่จบไปพร้อมกับโควิด-19 แต่เป็นเรื่องระยะยาว จึงควรมีการเก็บข้อมูลการใช้งานเพื่อประโยชน์ในการวางแผนต่อไป  สำหรับปัญหาเทคโนโลยีระบบลงทะเบียนที่มีความยุ่งยากซับซ้อน มีประชาชนที่ไม่เข้าใจ เกิดความกังวล ส่งผลให้บรรยากาศการสื่อสารภาพรวมทวีความรู้สึกที่รุนแรงมากขึ้น ภาครัฐควรทำการสื่อสาร ทั้งมีการสร้างความเข้าใจด้วยการมีผู้ให้คำแนะนำ น่าจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้ ขณะที่สื่อมวลชนควรสร้างความเข้าใจในข้อมูลที่รัฐบาลสื่อสารไม่ชัดเจน รวมถึงการสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของประชาชนสู่รัฐบาล เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในสังคม

2) สถานการณ์อุบัติภัย ประเด็นการศึกษาของเดือนกรกฎาคม 2564 คือ ไฟไหม้โรงงานที่กิ่งแก้ว จากเหตุที่เกิดถังเคมีระเบิดและไฟไหม้ โรงงานหมิงตี้เคมีคัล ในย่านกิ่งแก้ว บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ซึ่งผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 94 แสดงความเห็นเชิงลบต่อภาครัฐ ต่อผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ รวมทั้งสื่อมวลชน ในเรื่องที่ไม่มีมาตรการการรับมือ ไม่มีระบบเตือนภัยฉุกเฉิน ไม่มีอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยสำหรับเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ไม่มีศูนย์ข้อมูลกลาง การช่วยเหลือล่าช้า ปัญหาการจัดการผังเมืองตามกฎหมาย หรือนโยบายการจัดตั้งโรงงาน ฯลฯ

ส่วนหนึ่งในความเห็นของคุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ  ระบุว่า สิ่งที่ภาครัฐควรทำเป็นอันดับแรก คือ การแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ การออกมายอมรับผิดต่อสาธารณชน ถึงแม้ว่าโรงงานจะมีส่วนผิด แต่ภาครัฐก็ไม่อาจปัดความรับผิดชอบ เพราะเกิดจากความหละหลวมของภาครัฐในการกำกับดูแล นอกจากนี้ ควรสร้างแพลตฟอร์มกลาง เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน เพื่อให้ความช่วยเหลือและแจ้งข่าวสารได้อย่างทันท่วงที ส่วนสื่อมวลชน ควรทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนให้มากขึ้น เพื่อเป็นการเจาะให้เห็นถึงประเด็นปัญหา เพื่อติดตามการรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบ้านเรือนและทรัพย์สิน ทั้งในแง่ปัจเจกบุคคลและสาธารณะ รวมถึงติดตามตรวจสอบเพื่อรายงานปัญหาแฝงเร้นที่อาจส่งผลต่อเนื่องในระยะยาว

3) เรื่องดราม่าในสื่อสังคมออนไลน์ สำหรับช่วงเดือนสิงหาคม – พฤศจิกายน 2564 ประเด็นที่ศึกษานอกจากเป็นที่สนใจของการสื่อสารในออนไลน์แล้ว ยังเป็นข่าวและเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจจากสังคมและสื่อมวลชนเช่นกัน ประกอบด้วย เดือนสิงหาคม 2564 ประเด็นคลิปตำรวจซ้อมผู้ต้องหา : กรณีศึกษาผู้กำกับโจ้ เดือนกันยายน 2564 ประเด็นน้องไข่เน่า และ OnlyFans เดือนตุลาคม 2564 ประเด็น Real Size Beauty และแอนชิลี เดือนพฤศจิกายน 2564 ประเด็นคลับเฮ้าส์ Toxic เหยียดคนอีสาน

เดือนสิงหาคม 2564 ประเด็นการศึกษา คือ คลิปตำรวจซ้อมผู้ต้องหา : กรณีศึกษาผู้กำกับโจ้ และกลุ่มตำรวจ สอบสวนผู้ต้องหาโดยใช้ถุงดำคลุมศีรษะจนเสียชีวิต ซึ่งผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 98 สะท้อนความรู้สึกเชิงลบต่อการกระทำของกลุ่มตำรวจ นำโดยผู้กำกับโจ้ ส่วนหนึ่งในความเห็นของรองศาสตราจารย์ พ.ต.ท. ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต ต่อผลการศึกษา คือ กรณีของผู้กำกับโจ้ ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อตำรวจไทยอย่างแน่นอน ดังนั้นการสื่อสารจากภาครัฐเป็นเรื่องที่สำคัญ รวมถึงควรให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบพฤติกรรมตำรวจและบุคลากรภาครัฐอย่างต่อเนื่องและจริงจัง พร้อมสร้างบรรทัดฐานการใช้สื่อออนไลน์ที่ดีเพื่อตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ หรือแม้กระทั่งประชาชนที่กระทำละเมิดกฎหมาย หากแต่ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เพื่อความสนุก เพราะการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ดีย่อมสร้างพลังบวก

เดือนกันยายน 2564 ประเด็นการศึกษา คือ น้องไข่เน่า และ OnlyFans จากกรณีคลิปน้องไข่เน่าจากแพลตฟอร์ม OnlyFans ถูกสมาชิกนำไปเผยแพร่ทางออนไลน์จนถูกตำรวจจับกุม ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 92 แสดงความรู้สึกไม่เห็นด้วยกับการที่ตำรวจดำเนินคดีน้องไข่เน่า ทั้งมีข้อเสนอต่ออาชีพ Sex Creator ส่วนหนึ่งในความเห็นของ ดร.ปิยะพงษ์ อิงไธสง อาจารย์คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้มีผลงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับหนังโป๊เกย์ญี่ปุ่น : การประกอบสร้างความเป็น “เควียร์” และการอ่านความหมายของผู้ชม ดร.ปิยะพงษ์ เห็นว่า สื่อโป๊มีอยู่ในสังคมมาโดยตลอด แต่ถูกทำให้เป็นสื่อที่ต้องซุกซ่อน เป็นสิ่งต้องห้าม เมื่อเกิดกรณีน้องไข่เน่า จึงทำให้เป็นประเด็นถกเถียง ดร.ปิยะพงษ์ เสนอให้มีการจัดการพูดคุยเจรจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างตัวแทนฝั่งเสรีนิยม (Liberal) และตัวแทนฝั่งอนุรักษนิยม (Conservative) ที่ต่างมีเป้าหมาย ความต้องการ และข้อเสนอ เพื่อหาวิธีและทางออกที่ยอมรับร่วมกันได้ เพราะปัจจุบันมีกลุ่มคนในสังคมที่มีมุมมองต่อเรื่องดังกล่าวแตกต่างออกไป ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยน หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เลย อาจไม่เป็นไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

เดือนตุลาคม 2564 ประเด็นการศึกษา คือ Real Size Beauty และแอนชิลี จากกรณี แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส สาวพลัสไซส์คนแรกที่สามารถคว้ามงกุฎ Miss Universe Thailand 2021 มาครอง พร้อมสร้างปรากฏการณ์ของความคิดความเชื่อต่อ “Real Size Beauty” ซึ่งผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 87 เห็นด้วยกับแนวคิด Real Size Beauty ชื่นชมการนำเสนอและการแสดงออกของแอนชิลี ส่วนหนึ่งในความเห็นของอาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ แห่งคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อปรากฏการณ์ “Real Size Beauty” และการประกวดความงาม คือ สังคมไทยมีความตระหนักรู้เรื่องความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น โดยจะเห็นว่ามีการถกเถียงในประเด็นคุณค่าความงาม ที่ไม่ใช่เพียงการตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น แต่สนใจว่าผู้เข้าประกวดจะส่งสารอะไร หรือพูดอะไรในประเด็นทางสังคมบ้าง เหล่านี้เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่มักให้ความสนใจ ดังปรากฏการณ์ Real Size Beauty ของแอนชิลี ที่มีการสื่อสารกันในโซเชียลมีเดียผ่านการติดแฮชแท็ก เป็นการจุดประกายความคิด สร้างความตระหนัก จนเป็นกระแสทางสังคมออนไลน์ในประเด็นความแตกต่างหลากหลายของอัตลักษณ์ ของความงาม รวมทั้งคุณค่าของกิจกรรมประกวดความงาม  

เดือนพฤศจิกายน 2564 ประเด็นการศึกษา คือ คลับเฮ้าส์ Toxic เหยียดคนอีสาน จากกรณีมีกลุ่มในแอปพลิเคชันคลับเฮ้าส์พูดคุยเหยียดคนอีสาน ขณะที่ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 77 แสดงความคิดเห็นเชิงลบต่อกลุ่มคลับเฮ้าส์ Toxic ความเห็นส่วนหนึ่งของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ แห่งภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า แอปพลิเคชันคลับเฮ้าส์เป็นการสื่อสารออนไลน์ช่องทางใหม่ ที่มีความแตกต่างจากโซเชียลมีเดียอื่น ๆ เพราะเป็นแอปพลิเคชันที่เสมือนการจำลองคนมาล้อมวงคุยกัน ดังนั้นความท้าทายจะอยู่ที่พิธีกร (Moderator) ที่คอยทำหน้าที่กำกับดูแลวงสนทนานั้น ๆ ให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์ และนำไปสู่การตกผลึกทางความคิด ต่อยอดทางความรู้ต่อไป

ในภาพรวม ผลการวิเคราะห์ข้อความกลุ่มตัวอย่างจากทวิตเตอร์บุคคลทั่วไป ในกลุ่มประเด็นของเดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2564 ที่มีความเป็น “ดราม่าในสื่อสังคมออนไลน์” แม้ส่วนใหญ่จะเป็นการบ่น ระบาย เสียดสี ตอบโต้ ในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย หรือสิ่งที่ตรงข้ามกับจุดยืนของตน แต่ก็พบลักษณะร่วมที่สำคัญคือ การสื่อสารเพื่อเรียกร้องทางสังคม เพื่อจุดประกายทางความคิด อันสะท้อนแนวโน้มที่น่าสนใจในการใช้สื่อออนไลน์เชิงสร้างสรรค์เพื่อสังคม โดยใช้เป็นพื้นที่เปิดประเด็น สร้างกระแส ชวนฉุกคิด ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้

4) กลยุทธ์การตลาดกับการคุ้มครองผู้บริโภค เดือนธันวาคม 2564 ประเด็นการศึกษา คือ กล่องสุ่มพิมรี่พาย จากกรณีกล่องสุ่มพิมรี่พายที่สื่อสารว่าสร้างยอดขายถล่มทลายในระยะเวลาสั้น ๆ แต่ผู้ได้รับกล่องสุ่มมีทั้งดีใจ เสียใจ ผิดหวัง ไม่พอใจ สอดคล้องกับผลการศึกษาที่พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 59 ไม่ยอมรับกล่องสุ่ม แต่ก็มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 31 ที่ยอมรับในกล่องสุ่ม และร้อยละ 10 ที่ไม่ตัดสินเชิงยอมรับหรือไม่ยอมรับกล่องสุ่ม ความเห็นส่วนหนึ่งของรองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า แม้มีคำเตือนเกี่ยวกับกล่องสุ่ม แต่หลายคนตัดสินใจเป็นลูกค้า นั่นเป็นเพราะความโลภ ความหวัง การชอบลุ้น และเชื่อมั่นว่ามีข้อมูลมากเพียงพอที่จะทำให้ไม่ถูกหลอก ดังนั้นภาครัฐควรทำหน้าที่เข้ามากำกับดูแลอย่างจริงจัง สร้างกฎระเบียบ กติกาต่าง ๆ ของการซื้อ-ขายกล่องสุ่มบนหลักธรรมาภิบาล การค้าขายที่เป็นธรรม และการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะที่สื่อมวลชนต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้สังคม ด้วยข้อมูลการตลาดกล่องสุ่มของประเทศที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ

ภายใต้โครงการศึกษาวิเคราะห์การสื่อสารออนไลน์และพฤติกรรมการใช้สื่อของสังคม ที่ดำเนินการจากปี 2564 ต่อเนื่องปี 2565 Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ทำการบันทึกการสื่อสารออนไลน์ของสังคมในช่วงเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทั้งยังมีบทวิเคราะห์และข้อเสนอของผู้เชี่ยวชาญต่อผลการศึกษาประเด็นเฉพาะในแต่ละเดือน ที่นอกจากจะรายงานต่อสาธารณะตลอดระยะเวลาการดำเนินงานโครงการแล้ว ยังสร้างฐานข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการเป็นแหล่งอ้างอิง เป็นการจุดประกายความคิด เพื่องานการสื่อสารอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ของสังคม แม้การศึกษาจะดำเนินการเพียง 9 เดือน แต่ก็เป็นต้นแบบการพัฒนางานการสำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ สถานการณ์และพฤติกรรมการสื่อสารทางออนไลน์ของสังคม ที่ Media Alert จะพยายามจัดทำในทุกปี รวมทั้งการสื่อสารรายงานสังคมและผู้เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องต่อไป

สนใจอ่านข้อมูลผลการศึกษาได้ที่  Facebook –  Media Alert

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *