นักวิชาการ ย้ำพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 บังคับใช้14 ปี ช่วยลดพฤติกรรมการดื่มและผลกระทบจากอุบัติเหตุ สอดคล้องกับมาตรการองค์การอนามัยโลก

ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ถือเป็นกฎหมายสำคัญของไทยในการควบคุมการบริโภคและผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรการที่สำคัญของกฎหมายดังกล่าวอยู่ในมาตราที่ 26–32 ซึ่งประกอบด้วยมาตรการ การควบคุมฉลากและบรรจุภัณฑ์ (มาตรา 26) การจำกัดสถานที่ขายและบริโภค (มาตรา 27 และ 31) การจำกัดวันและเวลาขาย (มาตรา 28) การจำกัดวิธีการขาย (มาตรา 30) การห้ามขายแก่ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง (มาตรา 29) และการจำกัดการโฆษณาและกิจกรรมการตลาด (มาตรา 32) จะเห็นว่า พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีมาตรการสอดคล้องกับการลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เรียกว่า SAFER ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization 2022) ซึ่งประกอบด้วยมาตรการ Strengthen restrictions on alcohol availability , Advance and enforce drink driving counter measures , Facilitate access to screening, brief interventions and treatment , Enforce bans or comprehensive restrictions on alcohol advertising , sponsorship, and promotion , Raise prices on alcohol through excise taxes and pricing policies

โดยที่ มาตรา 27, 28, 29, 30 และ 31 สอดคล้องกับ Strengthen restrictions on alcohol availability หรือการลดการมี/การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 26 และ 32 สอดคล้องกับ Enforce bans or comprehensive restrictions on alcohol advertising, sponsorship, and promotion สำหรับมาตรการเกี่ยวกับการดื่มแล้วขับและมาตรการทางภาษีตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำนั้น มีมาตรการอยู่ในกฎหมายฉบับอื่น ได้แก่ พ.ร.บ. การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. สรรพสามิต พ.ศ. 2560
ในเอกสารขององค์การอนามัยโลกเรียกมาตรการในชุดมาตรการ SAFER นี้ว่า “high-impact, evidence-based, const effective interventions” หมายความว่า เป็นมาตรการที่ได้ผล มีการศึกษาวิจัยรองรับ และมีความคุ้มค่าในการใช้มาตรการ ดังนั้น มาตรการใน พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีความสอดคล้องกับ SAFER นั้น จึงถือเป็นมาตรการที่น่าจะได้ผลและสอดคล้องกับคำแนะนำขององค์กรในระดับสากล

ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ ระบุว่า พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้มีผลบังคับใช้มาเป็นเวลากว่า 14 ปีแล้ว จึงขอนำเสนอตัวเลขสถิติเกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่มและผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ได้แก่ 1.สัดส่วนนักดื่มภาพรวมลดลง ข้อมูลนักดื่มซึ่งหมายถึง ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เป็นตัวชี้วัดที่ใช้กันโดยทั่วไปในระดับสากล อ้างอิงข้อมูลสัดส่วนนักดื่มจาก การสํารวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. 2564 ที่จัดทำทุก 3-4 ปี โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเป็นการสำรวจที่มีกลุ่มตัวอย่างหลายหมื่นถึงหลักแสนคน มีการเผยแพร่รายงานการสำรวจ สถิติ และข้อคำถามโดยละเอียด พบว่า สัดส่วนนักดื่มในประชากรไทยลดลง จาก 32.7% (ปี 2547) และ 30.0% (ปี 2550) มาเป็น 28.4% และ 28.0% ในปี 2560 และ 2564 ตามลำดับ โดยที่สัดส่วนผู้ดื่มที่ลดลงเห็นได้ชัดเจนในกลุ่มเพศชายจาก 52.3% ในปี 2550 เหลือเพียง 46.4% ในปี 2564 ในขณะที่สัดส่วนนักดื่มเพศหญิงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

นอกจากนี้ ยังพบว่า อุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการดื่มช่วง 7 วันอันตรายลดลง สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางท้องถนนนั้น ข้อมูลที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลย้อนหลังไว้อย่างละเอียด คือ ข้อมูลอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตราย (เทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์) โดยอ้างอิงจากระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ กองสาธารณสุขฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข พบว่า สัดส่วนของอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตรายที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์นั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 37.8% (ปีใหม่) และ 35.5% (สงกรานต์) ในปี 2551 ลดลงมาเป็น 27.6% (ปีใหม่) และ 24.2% (สงกรานต์) ในปี 2564 และข้อมูลจากเทศกาลปีใหม่ 2565 พบว่า สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 25.6%
ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า หลังการมี พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ผ่านมา 14 ปี ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ดื่มภาพรวมที่ลดลงโดยเฉพาะในเพศชาย และมีผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ในสัดส่วนที่ลดลงเช่นกัน ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ประเทศเพื่อนบ้านที่มีลักษณะประชากรใกล้เคียงกับไทยแต่ไม่มีกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ที่เข้มข้นเท่า เช่น เวียดนาม มีสัดส่วนนักดื่มที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน Ministry of Health ของเวียดนามรายงานว่าในปี 2010 มีสัดส่วนประชาชนที่ดื่มแอลกอฮอล์ (ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา) 37.0% สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มเป็น 44.8% ในปี 2015 (Kumar et al. 2022) การลดลงของสัดส่วนนักดื่มและปัญหาจากการดื่มในประเทศไทยจึงเป็นผลส่วนหนึ่งจากการมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ อาจมีการนึกแย้งในใจว่ามีนักดื่มลดลงแล้วเหตุใดยังเห็นคนนั่งดื่มในร้านอาหาร ผับบาร์อยู่ ต้องไม่ลืมว่า สัดส่วนผู้ดื่มนั้นลดลงในระดับหนึ่งก็จริงแต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีผู้ดื่มอยู่เลย และสัดส่วนผู้ดื่ม 28.0% ในปี 2564 นั้นเทียบเท่ากับการมีผู้ดื่มอยู่ 16 ล้านคนในกลุ่มประชากรไทย การลดลงของอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการดื่มในช่วง 7 วันอันตราย ลดลงจาก 11,000 กว่ารายในปี 2551 มาเป็น 5,000–6,000 ในปี 2564–2565 นั้นโดยปกติ สื่อก็จะรายงานตัวเลขของปีหนึ่ง ๆ โดยไม่มีการนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกันหลายปี ทำให้ไม่สามารถเห็นแนวโน้มการลดลงของปัญหาได้
พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อาจเป็นกฎหมายที่มีการจำกัดเสรีภาพอยู่บ้าง แต่ข้อมูลสถิติที่ได้นำเสนอในบทความนี้ก็เป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ยืนยันว่า กฎหมายดังกล่าวส่งผลในการลดการดื่มและผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงได้จริง ในขณะนี้ มีความพยายามในการปรับแก้กฎหมายฉบับดังกล่าว รัฐบาลและรัฐสภาควรได้รับทราบข้อมูลเหล่านี้เพื่อประกอบการตัดสินใจในการปรับแก้กฎหมายเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนชาวไทย

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *