การใส่ใจดูแลสุขภาพจิตมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความแข็งแรงของสุขภาพกาย รวมถึง “หัวใจ” อวัยวะที่ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตเพื่อไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โครงการ Hug Your Heart โดย แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย เชิญ นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่[1][1] มาให้ความรู้และคำแนะนำด้านการป้องกันและรักษาปัญหาสุขภาพด้านหัวใจ ที่สามารถทำได้ด้วยการรู้จักดูแลสุขภาพจิตทั้งของผู้ป่วยและผู้ดูแลอย่างเข้าใจและสม่ำเสมอ
ปัญหาด้านสุขภาพจิตในกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ น่ากังวลกว่าที่คิด
ปัญหาด้านสุขภาพจิตในกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ประเภทแรกคือ โรคเครียดหรือโรควิตกกังวล (Anxiety) ซึ่งเป็น Positive symptoms คือการมีความกังวลหรือความกลัวต่อโรคที่เป็นว่าจะมีอาการหนักเพียงใด จะเสียชีวิตเมื่อใด หรือจะรักษาได้จริงหรือไม่ เนื่องด้วยโรคหัวใจมักมีอาการที่ซับซ้อน ทำให้ต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อย ผู้ป่วยจึงมักเกิดความรู้สึกไม่มั่นคง เพราะชีวิตขาดความแน่นอนและมองไม่เห็นอนาคต ก่อตัวเป็นความเครียดจนเกิดอาการ อาทิ นอนไม่หลับ ปวดหัวเรื้อรัง หรือใจสั่น โดยบางอาการก็แยกจากโรคหัวใจได้ยาก เช่น หายใจไม่อิ่ม ใจไม่ดี ตกใจง่าย หรือไม่กล้าออกจากบ้านคนเดียว ส่วนกลุ่มที่สองคือกลุ่มที่มี Negative symptoms หรือภาวะซึมเศร้า ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ป่วยรู้สึกหมดหวัง ท้อแท้ และมองว่าตนเองไม่มีค่า
“มากถึง 1 ใน 3 ของคนไข้ที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลว (Heart failure) มีภาวะซึมเศร้า และกว่า 50% มีภาวะซึมเศร้าชนิดรุนแรง (Major depressive disorder) ซึ่งมีอาการถึงขั้นคิดอยากฆ่าตัวตายหรือไม่ให้ความร่วมมือต่อการรักษาใดๆ ทั้งนี้สถานะทางสุขภาพจิตของผู้ป่วยมีความสำคัญมากต่อผลลัพธ์ของการรักษา หากแต่คนไข้จำนวนไม่น้อยไม่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะซึมเศร้า เพราะหมอส่วนใหญ่จะวินิจฉัยทางกายเป็นหลัก ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาที่ทำให้ไม่สามารถพิจารณาได้ในทุกมิติ รวมถึงคนไข้เองก็อาจจะไม่ได้เปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วน” นายแพทย์รังสฤษฎ์ กล่าว
ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว หรือคือผู้ดูแล ก็ต้องระวังปัญหาด้านสุขภาพจิต
ระบบประสาทของมนุษย์มี 2 ระบบ คือ ระบบ Sympathetic ซึ่งทำหน้าที่เป็น “คันเร่ง” คอยกระตุ้นการทำงานของหัวใจ และระบบ Para-sympathetic ระบบที่ทำหน้าที่เป็น “เบรก” คอยชะลอไม่ให้หัวใจทำงานหนักเกินไป โดยในยามที่เกิดความเครียดหรืออาการซึมเศร้า ระบบคันเร่งจะได้รับการกระตุ้น ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หลอดเลือดหดเกร็ง และความดันสูงขึ้น เมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่รุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเข้าออกโรงพยาบาลนับครั้งไม่ถ้วน ค่าใช้จ่ายที่อาจกระทบฐานะ และอาการของโรคที่หนักและเรื้อรัง ทั้งผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวและคนในครอบครัวที่ต้องคอยดูแลก็ล้วนสามารถก้าวสู่ภาวะเครียดหรือซึมเศร้าได้
“โรคหัวใจทำให้เกิดความวิตกกังวลหรือซึมเศร้า ขณะเดียวกันความเครียดก็ส่งผลให้ความดันขึ้นและหัวใจเต้นเร็วตามการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังมีเรื่องฮอร์โมนที่หลั่งออกมาส่งผลกระทบต่อหลอดเลือดและหัวใจโดยตรงอีก ทำให้หัวใจโตมากขึ้นและบีบตัวแย่ลง กลไกเหล่านี้เร่งให้เกิดความเสื่อมทางสมรรถภาพการทำงานของหัวใจ ก็ทำให้คนไข้ยิ่งต้องมาโรงพยาบาลซ้ำ และนำไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้น สิ่งที่เกิดนี้คือวงจรอุบาท จากหัวใจที่มีสภาพแย่อยู่แล้ว เมื่อมีปัญหาจิตใจที่ไม่ได้รับการแก้ไข ก็ทำให้หัวใจมีสภาพแย่ลงไปอีก” นายแพทย์รังสฤษฎ์ กล่าว
การมีผู้ป่วยในบ้านส่งผลกระทบต่อทั้งครอบครัว สิ่งสำคัญคือต้องมีเสาหลักของบ้าน ที่คอยเฝ้าระวังโดยใช้สติ คอยดูแลให้คนในบ้านมีระบบสนับสนุนกันและกันอยู่เสมอ ไม่มีการดุหรือต่อว่ากันในเชิงลบ หรือการใช้คำพูดที่ขาดจิตวิทยา ซึ่งมีผลซ้ำเติมให้คนไข้รู้สึกแย่หรือไม่มีค่า
“สำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า เราต้องทำให้เขามีเหตุผลในการใช้ชีวิต เห็นว่าเขามีคุณค่าที่จะอยู่ต่อเพื่ออะไรบางอย่าง ต้องทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นที่รัก หากเป็นคนไข้ที่มีภาวะซึมเศร้ารุนแรงจนถึงขั้นไม่กิน ไม่นอน หรือไม่ดูแลตนเอง กลุ่มนี้อาจมีปัญหาด้านสารเคมีในสมอง และอาจจะต้องใช้ยาเข้าไปช่วย โดยผู้ดูแลคนไข้ต้องคอยดูแล อย่าเป็นต้นเหตุ หรือบังคับขู่เข็ญเกินไป แม้เราจะทำเพราะความรักหรือความห่วงใย เราก็ต้องระวัง เพราะผลกระทบอาจรุนแรงมากกว่าที่คิด นอกจากนี้ ครอบครัวผู้ป่วยก็ต้องระวังอย่าพากันดำดึ่งลงเหวอารมณ์กันไปหมด” นายแพทย์รังสฤษฎ์ กล่าว
เคล็ด (ไม่) ลับการเอาชนะปัญหาสุขภาพจิตในผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว
• มีความเข้าใจต่อการรักษาโรคที่ถูกต้อง: โรคหัวใจล้มเหลวเป็นโรคที่รักษาได้ แม้ไม่หายขาด แต่การปฏิบัติตามแผนการรักษาจะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ดีและยืนยาวได้
• มีทีมที่พร้อมใจพุ่งชนเป้าหมายเดียวกัน: ผู้ป่วย ครอบครัวหรือผู้ดูแล แพทย์ และพยาบาล ที่มุ่งมั่นและเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของกระบวนการรักษาต่างๆ
• ดูแลอย่างเข้าถึงและเข้าใจ: การดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวเป็นการดูแลแบบบูรณาการหรือกระบวนการต่อเนื่องระยะยาว โดยมีแพทย์ให้การวินิจฉัยและมีพยาบาลให้คำแนะนำด้านการดูแลผู้ป่วย โดยสิ่งสำคัญคือการสื่อสารระหว่างผู้ป่วย ผู้ดูแล และทีมดูแลในโรงพยาบาล ทั้งการตรวจตามนัดและผ่านช่องทางต่างๆ เช่น LINE หรือโทรศัพท์ ที่ล้วนทำให้คนไข้และครอบครัวอุ่นใจอยู่เสมอ
• รักษาด้วยยาและแผนการรักษาอย่างครบถ้วนและต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์: ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวต้องได้รับการส่งเสริมจากครอบครัวให้มั่นใจที่จะกินยาและปฏิบัติตามแผนการรักษาอย่างถูกต้องคือครบถ้วนและต่อเนื่องเป็นเวลานาน ห้ามหยุดหรืองดกินยาเองโดยไม่มีคำแนะนำของแพทย์ โดยผู้ป่วยที่กินยาและปฏิบัติตามแผนการรักษาอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ มีอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตต่ำกว่าผู้ป่วยที่ไม่ทำตามคำแนะนำของแพทย์ ถึง 10 เท่า
• บำรุงสุขภาพจิตแก่กันและกันอยู่เสมอ: การเว้นระยะห่างจากกันในช่วงโควิด-19 อาจทำให้เกิดภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม นำไปสู่ความเสี่ยงทางสุขภาพจิตของผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวได้ ควรส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เช่น การใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อให้คนไข้ได้มีสังคม รู้สึกมีความหมาย และปฏิบัติตามแผนการรักษาอย่างต่อเนื่อง