สสส. พม. จับมือภาคีเครือข่าย เปิดตัวแคมเปญ“สงกรานต์ปลอดภัยเช็คอินกับครอบครัว” ชวนประชาชนให้เวลากับครอบครัว ทำกิจกรรมร่วมกัน หยุดพฤติกรรมเสี่ยงงดตั้งวงดื่มเหล้า-เล่นพนัน และเคร่งครัดกับชีวิตวิถีใหม่ตัดวงจรระบาดโควิด-19 ขณะที่ผลสำรวจพบปชช.ยังเคร่งครัดกับชีวิตวิถีใหม่ช่วงสงกรานต์ กว่าร้อยละ 76 เลือกทำกิจกรรมกับครอบครัวรดน้ำขอพรผู้ใหญ่
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จัดกิจกรรมรณรงค์ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์ปลอดภัย เช็คอินกับครอบครัว” (โควิดยังไม่จบ : สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ งดตั้งวงเหล้า-พนัน)
นายอนุกูล ปีดแก้ว รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่าวันสงกรานต์ ถือเป็นวันครอบครัว คนไทยมักใช้เวลาแห่งความสุขนี้อยู่กับครอบครัว ทำกิจกรรมร่วมกันตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่น เช่น ตักบาตร สรงน้ำพระรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ กิจกรรมรื่นเริงต่าง ๆ คาดว่าหยุดยาวนี้จะมีการเดินทางกลับภูมิลำเนา ท่องเที่ยวพักผ่อนจำนวนมาก ดังนั้นสิ่งที่ต้องไม่ประมาทคือ เชื้อโควิด-19 ที่ยังคงอยู่ เราต้องระมัดระวัง การ์ดอย่าตก งดกิจกรรมตามที่รัฐบาลประกาศ งดการเข้าไปในพื้นที่แออัด คนจำนวนมาก
“หวังว่ากิจกรรมการรณรงค์ สงกรานต์ปลอดภัย เช็คอินกับครอบครัวจะเป็นส่วนสำคัญที่สร้างความตระหนักให้ประชาชนร่วมทำกิจกรรม และใช้เวลาใกล้ชิดอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข ปลอดภัยจากโควิด-19 และขอถือโอกาสนี้ เชิญชวนทุกคน ร่วมกิจกรรมส่งภาพความรักความอบอุ่นในครอบครัว หรือภาพการทำกิจกรรมครอบครัวเนื่องในวันสงกรานต์ ปลอดภัย ปลอดอบายมุข ผ่านทางเฟซบุ๊กกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวได้ตั้งแต่วันที่ 12–18 เม.ย.นี้ และจะประกาศผลเพื่อรับของรางวัล “เสื้อยืดสงกรานต์และปิ่นโตครอบครัว” จำนวน20 รางวัล ในวันที่ 26 เม.ย.” นายอนุกูล กล่าว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า สงกรานต์นี้ รัฐบาลประกาศ งดกิจกรรมสาดน้ำ-ประแป้ง งดจัดคอนเสิร์ต งดจัดปาร์ตี้โฟม งดกิจกรรมสัมผัสใกล้ชิด แต่เริ่มมีสัญญาณว่าประชาชนอาจมีการรวมกลุ่ม ตั้งวงดื่มสังสรรค์เฉลิมฉลองนอกจากเพิ่มความเสี่ยงทั้งอุบัติเหตุ ปัญหาความรุนแรง ทะเลาวิวาท การล่วงละเมิดต่างๆแล้ว ยังเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19ดังนั้นจึงเป็นที่มาของกิจกรรมรณรงค์ ภายใต้แคมเปญ “สงกรานต์ปลอดภัย เช็คอินกับครอบครัว”เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนไม่ประมาท ตระหนักถึงความปลอดภัยโควิด-19 สวมหน้ากากล้างมือเว้นระยะห่างงดกิจกรรมเสี่ยงที่สำคัญคือควรงดตั้งวงดื่มสุราหรือเล่นการพนันหันมาทำกิจกรรมสร้างสรรค์อยู่บ้านให้ความสำคัญกับครอบครัว ใช้เวลาร่วมกันได้อย่างปลอดภัย ถือเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสังคม โดยใช้แนวทาง SMS (Small Meaningful and Safe)
“สงกรานต์ปีที่แล้ว คนไทยกลัวติดโควิด ประกอบกับมาตรการเคอร์ฟิว ห้ามการเดินทางข้ามจังหวัด และมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้มีคนดื่มลดลง ขณะที่สงกรานต์ปีนี้ มีแนวโน้มที่จะกลับมาดื่มเพิ่มมากขึ้น เพราะมีวันหยุดยาวต่อเนื่องหลายวัน อีกทั้งยังมีการปลดล็อกให้สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ทั้งนี้ สสส.จึงขอความร่วมมือประชาชนงดกิจกรกรรมเสี่ยงทุกชนิด โดยเฉพาะการดื่มยิ่งทำให้เสี่ยงติดโควิดเพิ่ม คนที่ติดแอลกอฮอล์มีความเสี่ยงในการติดเชื้อในปอดได้มากกว่าคนทั่วไป 2.9 เท่า” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
ขณะที่ นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลกล่าวว่า มูลนิธิฯได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นต่อกิจกรรมที่คนส่วนใหญ่จะทำในช่วงสงกรานต์ปี2564 เมื่อโควิด-19 ยังไม่จบ โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2,011 ราย ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างวันที่22-29 มีนาคม ที่ผ่านมา พบว่ากว่าร้อยละ72.6 เป็นคนต่างจังหวัด และเกือบครึ่ง ร้อยละ48.1 เลือกที่จะเดินทางกลับบ้าน ที่น่าสนใจเมื่อดูในกลุ่มคนที่ไม่เดินทางกลับต่างจังหวัดพบว่า1ใน4 ไม่มีเงินกลับบ้าน อย่างไรก็ตามจากการสอบถามในภาพรวมพบว่า ร้อยละ 35.7ยังมีความกังวลมากต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 ร้อยละ 56.4 มีความกังวลอยู่บ้างเมื่อถามถึงกิจกรรมที่จะทำช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่าร้อยละ 76เลือกอยู่บ้านทำกิจกรรมกับครอบครัวตามด้วยรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ทำบุญ ไหว้พระตักบาตรเข้าวัด และสังสรรค์กันภายในครอบครัวที่น่าห่วงคือยังมีประชาชน ร้อยละ18.53 ยังเลือกที่จะตั้งวงดื่มเหล้า ตั้งวงเล่นไพ่ เที่ยวสถานบันเทิงผับบาร์ และเมื่อถามว่าทราบหรือไม่ว่าการปาร์ตี้ ตั้งวงเหล้า พนัน หรือมียาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้องมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิ-19 พบว่ากว่าร้อยละ 84.5 ทราบดี
“สงกรานต์นี้อยากให้ประชาชนคงเคร่งครัดกับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ เดินทางเท่าที่จำเป็น ไม่ไปในพื้นที่คนพลุกพล่าน ทำกิจกรรมกับครอบครัว และควรสร้างการมีส่วนร่วมในครอบครัวออกแบบกิจกรรมที่เน้นความปลอดภัยไม่เสี่ยง และห่างไกลอบายมุข เพราะทั้งเหล้าและบุหรี่ส่งผลให้คนดื่มคนสูบมีความเสี่ยงและเพิ่มความร้ายแรงจากการติดเชื้อมากขึ้น อีกทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาความรุนแรงทางเพศ” นางสาวจรีย์ กล่าว