รัฐบาล หนุน “ข้อมูลเปิด เพื่อชีวิต” จัดงานวันข้อมูลเปิดนานาชาติ ประจำปี 2564

รัฐบาล หนุน “ข้อมูลเปิด เพื่อชีวิต” จัดงานวันข้อมูลเปิดนานาชาติ ประจำปี 2564 พร้อมเร่งหน่วยงานรัฐเปิดข้อมูลที่เว็บไซต์ data.go.th ให้ประชาชนโหลดไปใช้ประโยชน์ฟรี!!

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติปาฐกถาและมอบนโยบายผ่านวีดิทัศน์ ในงาน ‘วันข้อมูลเปิดนานาชาติ พ.ศ.2564 (International Open Data Day 2021)’ วันที่ 6 มีนาคม 2564 ณ อาคารเกษร ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ จัดโดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA โดยกล่าวเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนเล็งเห็นถึงความสำคัญการเปิดเผยข้อมูลผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ ‘เว็บไซต์ data.go.th’ เพื่อให้เกิดการความร่วมมือของภาครัฐ และสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน โดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Open Data of Life Saving) พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกให้คนไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในการมุ่งสู่เป้าหมายการขับเคลื่อนประเทศด้วยข้อมูลเปิดขนาดใหญ่ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดไอเดีย อาทิ การสร้างสรรค์ธุรกิจจากนวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบายมากขึ้น เป็นต้น เพราะ “ข้อมูลเปิด เพื่อชีวิต” นี้เป็นการเปิดให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้อย่างไม่มีค่าใช้จ่ายและข้อจำกัดใด ๆ

ดังเห็นได้จากตัวอย่างการใช้ประโยชน์ของข้อมูลเปิดในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีการนำข้อมูลเปิดไปใช้งานเพื่อประสานการทำงานระหว่างหน่วยงานในการเฝ้าระวัง กักกันโรค และการระบุจุดเสี่ยงของโรคจากทุกภาคส่วนทั้งระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการนำข้อมูลเปิดที่สำคัญชุดนี้ไปต่อยอดการใช้งานในรูปแบบแอปพลิเคชัน ช่วยให้ประเทศไทยถูกจัดเป็นอันดับ 4 ของโลกในการควบคุมการระบาดได้ดี จึงขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญในการนำข้อมูลเปิดภาครัฐมาเผยแพร่เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติในวงกว้างมากขึ้น

สำหรับในงานพิธี นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธาน กล่าวเปิดงานว่า การเปิดข้อมูลภาครัฐนี้เป็นแนวคิดสากลที่รัฐบาลทั่วโลกต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญในการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ในทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม ซึ่งรัฐบาลไทยได้สนับสนุนให้ทุกหน่วยงานจัดทำข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล พร้อมเร่งผลักดันแต่ละหน่วยงานพัฒนาข้อมูลให้สามารถบริการรูปแบบ API (Application Programming Interface) เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำข้อมูลไปใช้ และการเปิดเผยชุดข้อมูลเปิดภาครัฐที่มีคุณค่าสูง (High-Value Datasets) รวมถึงการสร้างชุมชนผู้ใช้ข้อมูล (Data Community Engagement) เพิ่มขึ้นเพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมการนำข้อมูลเปิดไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ด้าน ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า “สำหรับกิจกรรมวันข้อมูลเปิดนานาชาติ ประจำปี พ.ศ.2564 นี้เป็นวันที่ทั่วโลกต่างสนใจจัดกิจกรรมพร้อมกันทุกปี สำหรับ DGA ได้มีการจัดงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 แล้ว โดยปีนี้มาในธีม “ข้อมูลเปิด เพื่อชีวิต” มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิต (Open Data for Life Saving) ซึ่ง DGA ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในการเผยแพร่ข้อมูลที่เว็บไซต์ data.go.th ทำให้ปัจจุบันมีข้อมูลถึง 2,796 ชุดข้อมูล จากตัวอย่างความร่วมมือในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเปิด เช่น กรณีความสำเร็จการบูรณาการและเปิดข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นครั้งแรกของประเทศที่มีการเปิดข้อมูลพิกัดตำแหน่งอุบัติเหตุมีแนวทางปรับข้อมูลส่วนบุคคลให้สามารถเปิดเผยได้และได้ปรับปรุงข้อมูลให้สอดคล้องกับกฎหมายและไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

ดร.มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม

นอกจากนี้ยังดำเนินงานตาม พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 มีการบูรณาการข้อมูลจากหลายหน่วยงานภาครัฐ และสร้างข้อตกลงร่วมกัน อาทิ ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จาก 3 ฐานข้อมูล ได้แก่ 1) ข้อมูลผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุภายนอก หรือถูกระบุในใบมรณบัตรว่าอุบัติเหตุทางถนน 2) ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่ขอเบิกค่าสินไหมทดแทน จากระบบ E-claim 3) ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากคดีอุบัติเหตุจราจรที่ถูกบันทึกในระบบ Crime หรือ POLIS ทั้งนี้ การบูรณาการข้อมูล 3 ฐานดังกล่าวนับเป็นตัวอย่างที่ดีในการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้ และไม่ติดขัดละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล โดยขณะนี้มีการนำไปใช้ประโยชน์ 2 หน่วยงานแล้ว ได้แก่ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย เพื่อวิเคราะห์และลดอุบัติเหตุ และ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อแสดงจุดเสี่ยงโครงการ Yak Data

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ DGA จัด LIVE “บอกเล่าเรื่องราว การบูรณาการข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน การทำให้เป็นข้อมูลเปิด และการนำไปใช้ประโยชน์” โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมเสวนา ได้แก่ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย กรมควบคุมโรค สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย บริษัทกลางประกันภัย และตัวแทนคณะทำงานแก้ไขปัญหาจราจร จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถติดตามรับชมได้ที่ Facebook และ YouTube : DGA Thailand

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *