สถ.ร่วมกับ กสศ.ระดมความร่วมมือค้นหา ช่วยเหลือ นักเรียนทุนเสมอภาค ป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาในปีการศึกษา 2/2563 สถ.ย้ำความร่วมมือด้านข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ นำไปสู่การประสานความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ ขณะที่ กสศ. ปรับกระบวนการทำงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์ COVID-19 รวมทั้งการพัฒนาระบบติดตามของกองการศึกษาท้องถิ่น และเพิ่มการเข้าถึงโอกาสมากยิ่งขึ้นโดยนักเรียนสามารถเปิดบัญชีพร้อมเพย์โดยไม่เสียค่าเปิดและรักษาบัญชี ร่วมกับ 3 ธนาคารของรัฐทุกสาขาทั่วประเทศ
นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมชี้แจงการดำเนินงานการขอรับเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (นักเรียนทุนเสมอภาค) ประจำภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 ให้แก่กองการศึกษาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้อำนวยการสถานศึกษา และบุคคลากรทางการศึกษา โรงเรียนในสังกัด อปท.กว่า1,700 แห่งทั่วประเทศ ผ่านระบบ Teleconference ว่า
ในการดำเนินการภาคเรียนที่1ปีการศึกษา 2563 สถ.ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)ได้พัฒนาหลักเกณฑ์กระบวนการคัดกรองนักเรียนยากจนด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อม และการจัดสรรเงินอุดหนุนเป็นรายบุคคลที่สอดคล้องกับสถานการณ์ COVID-19เพื่อบรรเทาการมาเรียนและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีนักเรียนในสังกัด อปท.ได้รับเงินช่วยจาก กสศ.จำนวน 9,214 คน ครอบคลุมโรงเรียน 475 โรงเรียน ทั้งนี้ในภาคเรียนที่ 2/2563สถ.ตั้งเป้าหมายร่วมกับสถานศึกษาสังกัด อปท.ค้นหานักเรียนยากจนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 และยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการคัดกรองที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น พร้อมเน้นย้ำให้สถานศึกษาให้ความสำคัญและทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อไม่ให้นักเรียนเสียสิทธิ์จากการช่วยเหลือของ กสศ.
นายทวี กล่าวว่า นอกจากนี้ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา สถ.และกสศ.ได้มีการติดตามการดำเนินงานของสถานศึกษา และมีการเร่งรัดให้กองการศึกษาท้องถิ่นติดตามการดำเนินงานของสถานศึกษาให้ถูกต้องครบถ้วนตามเงื่อนไขของ กสศ.2 เรื่องสำคัญ คือ 1) การติดตามการบันทึกใบสำคัญรับเงิน (กสศ.06) กรณีที่นักเรียนรับเงินสดผ่านสถานศึกษา 2) การบันทึกเงื่อนไขการรับเงินอุดหนุนฯ คือ การบันทึกการมาเรียน และน้ำหนักส่วนสูง ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ในการติดตามนักเรียนและช่วยเหลือต่อไป จึงขอความร่วมมือกองการศึกษาท้องถิ่นในการติดตามสถานศึกษาที่ด้วย
“วันนี้ความร่วมมือเรื่องฐานข้อมูลถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะข้อมูลสถานะนักเรียนรายบุคคล เพราะนักเรียนที่จะได้รับเงินอุดหนุนฯต้องอยู่ในเกณฑ์ยากจนครัวเรือนมีรายได้ไม่เกิน 3.6 หมื่นบาทต่อปี และจากการให้ครูได้ไปติดตามลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนทำให้เห็นสภาพปัญหาของเด็กว่าจะช่วยเหลือตรงไหนได้บ้าง กสศ.ก็จะสนับสนุนเรื่องเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข ส่วนอปท.จะดูเรื่องมิติทางสังคมการช่วยเหลือทางกายภาพที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการประสานงานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปช่วยเหลือด้านสวัสดิการต่างๆอย่างเหมาะสม” รองอธิบดี สถ. กล่าว
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หลายครอบครัวของเด็กนักเรียนยากจนพิเศษหรือนักเรียนทุนเสมอภาคต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจ ที่อาจกระทบไปถึงตัวเด็กนักเรียนจนเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่ง กสศ.ได้ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบจากสถานการณ์โควิท-19 ต่อครัวเรือนนักเรียนทุนเสมอภาคมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ผ่านมา โดยได้ปรับปรุงการทำงาน และกระบวนการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และจากการวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดจากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของครูทั่วประเทศในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา ที่พบว่ารายได้เฉลี่ยต่อคนต่อวันของครัวเรือนนักเรียนทุนเสมอภาคลดลงเหลือเพียงวันละ36บาท และมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยในครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ44 เป็นร้อยละ73
“จึงอยากขอความร่วมมือจากท้องถิ่นจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้องระดมความร่วมมือในการค้นหาและคัดกรองนักเรียนยากจน เพื่อไม่ให้มีนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะขาดแคลนทุนทรัพย์ ดังนั้นการคัดกรองข้อมูลนักเรียนถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นฐานการทำงานร่วมกันระหว่าง กสศ. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เด็กๆที่ยากจนที่สุดในประเทศได้มีโอกาสรับเงินอุดหนุน จาก กสศ.เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นได้ ทั้งนี้ปีการศึกษา2563 กสศ. ได้ขยายความช่วยเหลือนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ครอบคลุมทั้ง76จังหวัดทั่วประเทศแล้ว” ดร.ไกรยส กล่าว
รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ขณะเดียวกันกสศ. ยังได้ดำเนินการปรับปรุงระบบการทำงานเพื่อลดภาระงานของคุณครูทั่วประเทศใน 2 เรื่องคือการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการติดตามการดำเนินงานของสถานศึกษาในสังกัด ผ่านแอพพลิเคชั่น CCT MONITOR เพื่อเสริมการทำงานของกองการศึกษาท้องถิ่น ในการสร้างความเข้าใจ ติดตามการดำเนินงานของสถานศึกษา รวมทั้งการลดภาระการทำงานด้านข้อมูลของครู และทำความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทุกสาขาทั่วประเทศ ให้นักเรียนทุนเสมอภาคสามารถเข้าถึงการเปิดบัญชีพร้อมเพย์ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมการเปิดบัญชีและค่ารักษาบัญชี (บัญชี 0 บาท) กับทั้ง 3 ธนาคารได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เด็กและครอบครัว และช่วยให้ครูมีเวลาในการสอนในห้องเรียนได้อย่างเต็มที่
ดร.ไกรยส กล่าวว่า ส่วนสถานศึกษาที่รับรองข้อมูลนักเรียนไม่ทันตามกำหนดระยะเวลา สามารถดำเนินการได้ในช่วงเปิดเทอมภาคเรียนที่ 2/2563 เมื่อผ่านกระบวนการรับรองตามเวลาที่กำหนด จะได้รับเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขได้ทันในภาคเรียนที่ 2 อย่างแน่นอน ขอให้คุณครูทุกท่านรีบดำเนินการส่งข้อมูลเข้ามา และในปีการศึกษา 2/2563 นี้ ทาง กสศ. จะจัดสรรทุนเสมอภาคในส่วนที่เหลืออีก1,000 บาท ตรงให้แก่ครอบครัวนักเรียนทุนเสมอภาคเช่นเดิม