มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ร่วมกับ บริษัท ซีเอสอี จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่องการศึกษาออนไลน์ทั่วโลก โดยมี ผศ.ดร.สุดาวรรณ สมใจ ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา และ Mr.Lam Nguyen ตำแหน่ง CEO บริษัท ซีเอสอี จำกัด จากประเทศเวียดนาม เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ เพื่อตอกย้ำความเป็นเลิศด้านการศึกษาออนไลน์ ซึ่งสอดคล้องกับสภาวการณ์ของโลก Digital พร้อมส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งผู้บริหารองค์การต่างๆ ตลอดจนผู้ที่สนใจ ไม่ว่าจะอยู่ประเทศใดทั่วทุกมุมโลกได้มีโอกาสเรียนรู้และรับการอบรมเพื่อให้รู้ทันข่าวสารใหม่ๆ ได้พร้อมกัน
ผศ.ดร.สุดาวรรณ สมใจ ผอ.หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตการบริหารการพัฒนา และ ผอ.หลักสูตร Smart CEO เปิดเผยว่า “ การร่วมพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ครั้งนี้เป็นการลงนามความร่วมมือระหว่างหลักสูตร Smart CEO กับทางบริษัท ซีเอสอี จำกัด ดำเนินการในเรื่องของการศึกษา การอบรมออนไลน์ที่ครอบคลุมทั่วโลก จากนี้ไปการเรียนการสอนจะไม่ได้มีเฉพาะในห้องเรียนอีกต่อไป ผู้ที่สนใจการเรียนในมหาวิทยาลัยหรือการอบรมหลักสูตรใดๆ ก็ตามที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศก็สามารถสมัครเข้าเรียนหรือร่วมอบรมกับเราได้ เสมือนว่าเรากำลังเรียนอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน ซึ่งตอนนี้มีหลายประเทศที่เข้าร่วมเรียนในระดับบัณฑิตศึกษาและร่วมอบรมหลักสูตรSmart CEO กับเรา เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย เป็นต้น ”
“ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต การบริหารการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ซึ่งเป็นผู้ดำเนินเปิดการอบรมหลักสูตร การพัฒนาสุดยอดนักบริหารระดับสูง ภายใต้ชื่อ “Smart CEO # Digital รุ่น 5” ถือว่าเป็นการนำร่องสำหรับการศึกษาออนไลน์ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาจะเป็นแกนหลักในการนำองค์ความรู้ต่างๆ ในห้องเรียนถ่ายทอดไปยังผู้เรียนทั่วโลก ซึ่งเนื้อหาความรู้แต่ละครั้งเราได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงของประเทศไทย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชน รวมทั้งองค์กรชั้นนำที่มาเป็นวิทยากรและแบ่งปันประสบการณ์ ที่เราไม่สามารถหาฟังที่ใหนได้ง่ายๆ จึงมั่นใจได้ว่าผู้เข้าอบรมในหลักสูตรนี้จะได้รับความรู้ ทักษะการบริหาร ตลอดจนวิสัยทัศน์ ที่สามารถนำประโยชน์เหล่านี้ไปต่อยอดให้กับธุรกิจของผู้เข้าอบรมได้อย่างแน่นอน ประโยชน์จากการอบรมออนไลน์ทั่วโลกในครั้งนี้ ยังสามารถสร้าง Connection ระหว่างผู้อบรมด้วยกัน และถือเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจ พร้อมเพิ่มช่องทางการติดต่อทางการค้าได้ในช่วงที่นานาชาติไม่สามารถเดินทางมาติดต่อธุรกิจด้วยตัวเองได้ในภาวะวิกฤตโควิด-19 นี้ ” ผศ.ดร.สุดาวรรณ กล่าวเสริม